อจ.มธ. ชง 2 ปัจจัยชี้ขาดผลเลือกตั้งแบบจัดสรรปั่นส่วนผสม ชี้พรรคขนาดกลางได้เปรียบสุด

อจ.มธ. ชง 2 ปัจจัยชี้ขาดผลเลือกตั้งแบบจัดสรรปั่นส่วนผสม ชี้พรรคขนาดกลางได้เปรียบสุด ยังเชื่อบัตรใบเดียวคนมองหน้าผู้สมัครก่อนกาให้พรรค

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม นายอรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ว่า ต้องแยก 2 ประเด็น 1.ถือเป็นระบบที่ดี เพราะทำให้ทุกคะแนนเสียงเปลี่ยนไปสู่จำนวนที่นั่งได้อย่างเต็มสัดส่วน 2.มีข้อด้อย เพราะบัตรใบเดียวทำให้การตัดสินใจยากขึ้นหากคิดจากตัวเลขอันเป็นคะแนนของการเลือกตั้งที่ผ่านมา เสมือนว่า จะเอื้อพรรคขนาดกลาง กับพรรคเล็กด้วย แต่ในความเป็นจริงทรัพยากรของพรรคเล็กจะมีพอหรือไม่ ที่ผ่านมาอาจจะคุ้นเคยกับ 70,000 เสียงต่อ 1 ที่นั่ง แต่นั่นเป็นตัวเลขที่มีฐานจากปี 2554 ที่มีคนออกมาใช้สิทธิ 70% หากคนออกไปใช้สิทธิมากกว่านี้ คะแนนเสียงต่อ 1 ที่นั่งก็จะมากขึ้นไปอีก ดังนั้น การจะแก้เกมนี้ของพรรคเล็กจะต้องส่งผู้สมัครลงครบ 350 เขตเลือกตั้งเพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง แต่ทรัพยากรจะมีพอหรือไม่ เอาเฉพาะแค่ค่าใช้จ่ายเรื่องรูปถ่ายเพื่อส่งให้กกต.ไปติดตามหน่วยเลือกตั้งก็น่าจะแพงมากแล้ว โอกาสของพรรคเล็กจึงน้อยมาก

“พรรคที่ได้เปรียบที่สุด คือ พรรคขนาดกลางที่เป็นพรรคเก่า มีฐานเสียงจากเครือข่ายเดิมในพื้นที่ หรือพรรคใหม่ที่มีนักการเมืองหน้าเก่า เพราะมีสิทธิได้คะแนนบัญชีรายชื่อเพิ่ม ส่วนพรรคใหม่ถอดด้ามก็อาจจะเสียเปรียบนิดหน่อย ขณะที่พรรคขนาดใหญ่ ก็จะได้เปรียบจากส.ส.แบบเขตอยู่แล้ว กลยุทธ์ของเขาจึงทุ่มไปที่ส.ส.เขตเป็นหลัก แม้จะโอกาสในระบบบัญชีรายชื่อจะน้อยลง แต่ก็แก้เกมนี้ด้วยการแตกพรรคออกไป เพื่อไปเก็บคะแนนในแต่ละเขตเลือกตั้งเพื่อนำไปคิดรวมเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกทาง” นายอรรถสิทธิ์ กล่าว

นายอรรถสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าการเลือกตั้งตามระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่จะเกิดขึ้นครั้งแรก จะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย 1.คนจะออกมาใช้สิทธิมากน้อยแค่ไหน กับ 2. เสียงโหวตจะเทไปทางไหน เพราะบัตรใบเดียว ทำให้คนต้องเลือก แต่ก่อนคนยังแทงกั๊ก โดยการเลือกพรรคที่รัก เลือกคนที่ชอบได้ แต่คราวนี้ไม่ใช้ เป็นการตัดสินใจ 3 เรื่องในบัตรใบเดียว นอกจากเลือกคนเลือกพรรคแล้ว ยังจะเลือกนายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองด้วย ที่ผ่านมาพฤติกรรมการเมืองของคนไทยเดิมๆ หากต้องเลือกเด็ดขาด คนไทยจะตัดสินใจจากฐานคิดที่ว่า ถ้ามีเรื่องเดือนร้อนแล้วจะนึกถึงใคร จึงคิดว่า นี่จะเป็นเหตุผลทำให้คนจะเลือกผู้สมัครที่มีความสัมพันธ์ในพื้นที่มาก่อนพรรค ซึ่งพรรคพลังประชารัฐก็ใช้ฐานคิดนี้ในการกำหนดตัวผู้สมัครเช่นกัน

Advertisement

“ที่ผ่านมา คนพูดถึงเสียงจากคนหนุ่มสาว แม้จะหวังได้ แต่ก็พบว่า คนรุ่นใหม่ออกไปใช้สิทธิน้อยกว่าคนที่มีอายุ จริงๆกลยุทธ์ที่พรรคใหม่ควรดูฐานจากคะแนนเสียงโหวตโน กับ บัตรเสีย เพราะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 มีคะแนนรวมกัน มีถึง 10% หรือราว 3 ล้านกว่าคะแนน ถือว่า เป็นจำนวนมาก ซึ่งคนโหวตโน กับ บัตรเสีย ออกไปใช้สิทธิแน่ๆ การทำพรรคให้เป็นตัวเลือกให้กับกลุ่มคนเหล่านี้มาเลือกก็จะเปลี่ยนเป็นที่นั่งได้มากเหมือนกัน” นายอรรถสิทธิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image