รายงาน : ละอ่อน การเมือง ก้าวย่าง อนาคตใหม่ กับ ผลสะเทือน

ทั้งๆ ที่ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เคยเป็นถึงรองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งๆ ที่ นาย
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
เคยเป็นถึงประธานบริษัทที่มีธุรกิจหมื่นล้านบาท

แต่เมื่อร่วมกันจัดตั้ง “พรรคอนาคตใหม่”

ก็ถูกมองว่าเป็นพรรคเด็กๆ อาจเพราะไม่มีนักการเมืองร่วมจัดตั้งแม้แต่คนเดียว อาจเป็นเพราะไม่มีฐานทางการเมืองทั้งในเมืองและในชนบท

แยกขาดอย่างสิ้นเชิงกับระบบ “หัวคะแนน”

Advertisement

ยิ่งกว่านั้น เมื่อพรรคพลังประชารัฐเปิดยุทธการ “พลังดูด” อย่างอึกทึก ครึกโครม ทั้งจากทำเนียบรัฐบาลและกลางรีสอร์ตดังของจังหวัด

“อนาคตใหม่” จึงถูกมองว่า “ละอ่อน” ไร้เดียงสา

แต่หากมองผลและพัฒนาการนับแต่ขับเคลื่อนพรรคอย่างเป็นรูปการณ์ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม เป็นต้นมา ทำท่าว่าพรรคอนาคตใหม่อาจไม่ไร้เดียงสา อาจไม่ละอ่อนอย่างที่มองๆ กันซะแล้ว

เพราะ “ผลสะเทือน” นั้นกว้างไกล ลึกซึ้งเป็นลำดับ

เพียงตัวอย่างง่ายๆ ตัวอย่างเดียว คือ ลักษณะการกระจายอำนาจอย่างที่พูดๆ กันเกือบทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคเก่าอย่างประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคใหม่อย่างพลังประชารัฐ

แต่เมื่อดู “รูปธรรม” กลับมีความแตกต่าง

พรรคอนาคตใหม่ไม่เพียงแต่ชูนโยบาย “กระจายอำนาจ” ไปในทุกพื้นที่ที่ตัวเองเดินทางไปพบประชาชนและผู้นำชุมชน

หากแต่ยังจัดสรรระบบบริหารภายในอย่างเป็น “รูปธรรม”

ตำแหน่งทุกตำแหน่งภายในพรรคอยู่บนฐานแห่ง “การเลือกตั้ง” ตั้งแต่ระดับจังหวัด กระทั่งระดับกรรมการบริหารพรรค

เพราะว่าการขับเคลื่อนพรรคมาจาก “สมาชิก” และ “ค่าบำรุง”

ยิ่งกว่านั้น การบริหารภายในพรรคยังจัดสรรเงินงบประมาณอย่างแจ่มชัด จากเงินค่าบำรุง 100 บาท 80 บาทเป็นของจังหวัด 20 บาทเป็นของส่วนกลาง

ยิ่งกว่านั้น รายรับ รายจ่าย ก็จะเปิดเผยทุกไตรมาส

ถามว่าผลสะเทือนจากการลงมือปฏิบัติโดยพรรคอนาคตใหม่เช่นนี้อาจเป็นเรื่องภายในพรรคจะสามารถส่งพลังไปกว้างไกลหรือไม่

มีอย่างแน่นอน

โดยพื้นฐานที่สุด ระบบและกระบวนการเช่นนี้จะนำไปสู่การเปรียบเทียบระหว่างพรรคอนาคตใหม่กับพรรคการเมืองอื่น

และจะมิได้อยู่เฉพาะเรื่อง “กระจายอำนาจ”

หากแต่อยู่ที่ระบบการดำเนินการของพรรค โดยเฉพาะที่มิได้จำกัดแต่เพียงในเทศกาลของการเลือกตั้ง หากแต่ยังมีความต่อเนื่อง

ส.ส.ที่ได้รับเลือกก็เล่นบทหนึ่งของนักการเมืองในสภา

แต่สมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรคส่วนอื่นจะยังเดินหน้าขับเคลื่อนการสร้างพรรคและแนวความคิดของพรรคต่อไป

เรียกได้ว่ามิได้ขึ้นกับเทศกาล หากแต่ดำรงอยู่ยาวนาน

โดยพื้นฐานพรรคอนาคตใหม่จึงมิได้เป็นพรรคเฉพาะกิจอย่างที่เรียกกันว่า “พรรคสภา” ตรงกันข้าม ยิ่งนานวันยิ่งพิสูจน์ตนเองในความเป็น “พรรคมวลชน”

พัฒนาการแต่ละก้าวย่างจึงน่าสนใจ

ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการในเรื่องนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการในเรื่องสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการในกระบวนการบริหารจัดการ

ที่สำคัญคือ สร้างความแตกต่างกับพรรคการเมืองอื่นอย่างเด่นชัดด้วยการลงมือทำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image