จุฬาฯ เตรียมจัดใหญ่ เวทีนานาชาติ “เอเชียที่ยั่งยืนในอนาคต” ถกปัญหาความเหลื่อมล้ำ

จุฬาฯ เตรียมจัดใหญ่ เวทีนานาชาติ “เอเชียที่ยั่งยืนในอนาคต” ถกปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อสังคมที่ยั่งยืน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิเกาหลีเพื่อการศึกษาขั้นสูง เตรียมจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างสยั่งยืนในระดับภูมิภาคและนานาชาติ ตามแนวคิด “เอเชียที่ยั่งยืนในอนาคต” (Future Sustainable Asia) ระหว่างวันที่ 24-25 ตุลาคม ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ ทรงเปิดการประชุมวิชาการ และทรงแสดงปาฐกถาพิเศษ ในวันที่ 24 ตุลาคม เวลา 09.00 น. ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล เปิดเผยว่า โครงการสัมมนานี้ เป็นการร่วมมือกับมูลนิธิเกาหลีเพื่อการศึกษาขั้นสูง หรือ KFAS ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มแชโบล หรือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของเกาหลี ที่ต้องการสร้างความก้าวหน้าในองค์ความรู้ต่างๆให้กับภูมิภาคเอเชีย โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยใหญ่ๆในเอเชียกว่า 19 แห่ง สำหรับที่จุฬาฯ ก่อตั้งมาแล้วมากกว่า 15 ปี ที่ผ่านมาได้มีเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเอเชีย ในประเทศต่างๆ อาทิ เมืองปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ในประเทศจีน ในเรื่องความยั่งยืนทั้ง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม สำหรับไทยถือเป็นครั้งแรกที่ได้จัดฟอรั่มนี้ขึ้น จึงมองว่า สิ่งที่จุฬาฯถนัดคือความยั่งยืนทางด้านสังคม ที่จะเกิดขึ้นได้ต้องหลอมรวมทั้งด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมไว้ด้วยกัน มุ่งหวังให้สามารถบูรณาการความรู้ในภูมิภาคต่างๆ นอกเหนือไปจากการผลิตบัณฑิตสู่ตลาด แต่อยากได้ความคิดใหม่ๆ แลกเปลี่ยนความรู้ และมีทิศทางในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน

ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร หนึ่งในองค์ปาฐกที่จะมาปาฐกถาเรื่อง ความไม่เสมอภาค และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เผยว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้เกิดเฉพาะในเมืองไทย ประเทศกลุ่ม OECD หรือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่เคยได้ชื่อว่ามีความเหลื่อมล้ำต่ำ ก็กำลังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น เพราะมีการดำเนินนโยบายผิด ไปกับความเชื่อเรื่องเสรีนิยมใหม่ ความต่างของรายได้ระหว่างคนที่มีทักษะสูงและต่ำ ต่างกันเยอะ พ่อแม่ไม่มีรายได้เพียงพอจะส่งลูกเรียนสูง ผลของความเหลื่อมล้ำนี้จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นไปได้ช้าไปอีก 25 ปี ไทยเองผ่านช่วงเวลาความเหลื่อมล้ำสูงในช่วงที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตเร็ว จาก 2523-2535 จึงถือเป็นบทเรียนสำคัญที่นำมาใช้

Advertisement

ทั้งนี้ การประชุมวิชาการ ยังจัดให้มีปาฐกถาพิเศษในหัวข้อต่างๆ อาทิ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก ในหัวข้อ Future Governance for Sustainable Asia , Dr. Honhjoo Hahm รักษาการผู้อำนวยการคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ในหัวข้อ The Challenge of SDGs in the Asia Pacific Region

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image