จังหวะ บาทก้าว พลเมือง ผู้ “ห่วงใย” กับ “ประชามติ”

แฟ้มภาพ

การเผยแสดงของ “กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย” พร้อมกับ 104 รายชื่อรองรับแถลงการณ์ ว่าด้วยการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 7 สิงหาคม 2559

สำคัญ และ ทรงความหมาย

สำคัญเพราะไม่เพียงแต่ได้รวบรวมเอา “บุคคล” จากศูนย์และสถาบัน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

หากแต่ยังเป็นบุคคลจาก “มูลนิธิผสานวัฒนธรรม”

Advertisement

หากแต่ยังสะท้อนถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับ “สมาคมเพื่อสิทธิและเสรีภาพประชาชน” อันมีรากฐานเนื่องมาแต่สถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516

ทรงความหมายเพราะคนที่ร่วม “ลงนาม”

มิได้มีแต่เพียง ดร.โคทม อารียา หรือ ดร.สุริชัย หวันแก้ว หรือ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ หรือ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด หรือ ดร.จอน อึ๊งภากรณ์

Advertisement

หากแต่ยังมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ และ นายประสาร มฤคพิทักษ์

ยังนักการเมืองอย่าง นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ จากพรรคประชาธิปัตย์ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล จากพรรคชาติไทยพัฒนา และ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคไทยรักไทย

เห็นหรือยังใน “ความห่วงใย” ของ “พลเมือง”

เสียดายที่ยังไม่มีรายชื่อ 104 รายชื่อซึ่งลงนามต่อท้าย “แถลงการณ์” อย่างสมบูรณ์และครบถ้วน กระนั้นเนื้อหาสั้นๆ อันปรากฏผ่านแถลงการณ์

ก็สำคัญ และทรงความหมาย

“การจัดทำประชามติต้องชอบธรรม กระบวนการทำต้องโปร่งใส สุจริตและเที่ยงธรรมทุกขั้นตอนและต้องเปิดให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย มีส่วนร่วม อีกทั้งประชาชนมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะแสดงความคิดเห็นได้โดยสุจริตและสร้างสรรค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ

“ดังนั้น การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการแสดงออก รวมถึงการนำผู้ที่เห็นต่างไปปรับทัศนคติ นอกจากจะละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

“ยังลดความชอบธรรมของการทำประชามติอีกด้วย

“ขณะเดียวกัน ต้องกำหนดให้ชัดเจนก่อนทำประชามติว่าจะมีทางเลือกและกระบวนการอย่างไรต่อไปในกรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ”

ชัดเจน และครอบคลุม

ชัดเจนในแนวทางตามหลักการ “ประชามติ” ในทางสากล ไม่ว่าจะเป็นที่ฝรั่งเศสในยุคของเดอโกล ไม่ว่าจะเป็นที่สหราชอาณาจักรในยุคของ เดวิด คาเมรอน

ครอบคลุมหลักการอันสะท้อนจิตวิญญาณ “ประชาธิปไตย” ครบถ้วน

เป็นประชามติในทาง “สากล” เป็นประชาธิปไตยในทางสากลซึ่งเป็น “อารยะ”

จากจำนวน 104 รายชื่ออาจมีส่วนหนึ่งมาจาก “นักการเมือง” แต่ที่สำคัญก็คือ มิได้เป็นพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

หากมาจากทั้ง “เพื่อไทย” รวมถึง “ประชาธิปัตย์” และ “ชาติไทย”

ขณะเดียวกัน ที่ยอดเยี่ยมเป็นอย่างมากก็คือ การสำแดงตัวตนของปัญญาชน นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน และนักธุรกิจ อันหลากหลาย

บางส่วนเคยร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บางส่วนเคยร่วมกับ กปปส.

กระนั้น เมื่อผ่านรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 มาแล้ว สภาพการณ์ทางการเมืองเรียกร้องให้มีความจำเป็นต้องเลือก

โดยเฉพาะเมื่อมี “ร่าง” รัฐธรรมนูญวางแบบอยู่เบื้องหน้า

ในจำนวน 104 คนนี้ บางส่วนอาจตัดสินใจแล้วทั้งในด้านที่จะ “รับ” และทั้งในด้านที่จะ “ไม่รับ” แต่จุดร่วมอย่างสำคัญก็คือ

แต่ที่สำคัญก็คือ ต้องการ “ประชามติ” ที่โปร่งใส สุจริตและเที่ยงธรรม

แต่ที่สำคัญก็คือ ต้องดำเนินไปในบรรยากาศแห่ง “ประชาธิปไตย” นั่นก็คือ ประชาชนสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่

ไม่ว่าจะเป็นด้านที่ “เห็นชอบ” ไม่ว่าจะเป็นด้านที่ “ไม่เห็นชอบ”

และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ต้องการเห็นทางออกและ “ทางเลือก” ที่ชัดเจนหากว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน “ประชามติ”

ต้องยอมรับว่า “ร่าง” รัฐธรรมนูญคือกระดานหกอันนำไปสู่การทำ “ประชามติ” ในวันที่ 7 สิงหาคม

กระนั้น “ประชามติ” มิได้หมายความว่าจะเป็นการมัดมือชก เหลือทางเลือกคับแคบ ตีบตันและน้อยนิดเป็นอย่างยิ่งให้กับ “ประชาชน”

เพราะความหมายของ “ประชามติ” คือ มติอันมาจาก “ประชาชน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image