กรธ.ไม่รับท้าดีเบตนักการเมือง บอกไม่ใช่หน้าที่ ยันไม่มีสนช.-สปท.ตีคู่รบ.เลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 24 มกราคม นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงแนวทางการทำงานสัปดาห์สุดท้ายก่อนเปิดเผยร่างแรกรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 29 มกราคม ว่า วันที่ 25 ที่ประชุมจะพิจารณาทบทวนรายมาตราส่วนที่เหลืออีก 80 มาตรา ให้เสร็จ จึงคาดว่าตั้งแต่วันที่ 26-28 มกราคม จะทำการพิจารณาในส่วนของบทเฉพาะกาล ส่วนตัวเชื่อว่าเนื้อหาในส่วนนี้ ไม่ควรมีมาก น่าจะมีเพียงรายละเอียดสำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น กรอบเวลาการร่างกฎหมายลูกที่สำคัญ ตลอดจนรายละเอียดเกี่ยวกับองค์กรอิสระบางองค์กร ที่มีการเพิ่มคณะกรรมการและอำนาจหน้าที่ ส่วนหน่วยงานที่ทำหน้าที่อยู่ระหว่างรัฐบาลนี้ อย่าง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่กำหนดไว้แล้ว่า ต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อได้ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง

ส่วนข้อเรียกร้องของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้มีการแสดงความคิดเห็นระหว่างนักการเมืองกับ กรธ. ต่อเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านรายการโทรทัศน์ นายชาติชายกล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการจะออกทีวีโต้เถียงกันคงไม่ใช่เรื่อง กรธ.มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ แล้วไปทำความเข้าใจในเนื้อหาแก่ประชาชน ไม่ได้มีหน้าที่มาดีเบตกับนักการเมือง เราไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญให้พรรคการเมืองชอบหรือไม่ชอบ แต่ร่างให้ประชาชน แม้พรรคการเมืองยังไม่สามารถประชุมพรรคได้ แต่ก็สามารถหารือ แล้วให้โฆษกพรรคออกมาแถลงได้ ส่วนไหนที่อยากเสนอแนะ ก็สามารถแถลงออกมา หรือยื่นหนังสือให้ กรธ.พิจารณาได้

“หาก กกต.เปิดให้มีการดีเบตกันได้ระหว่างนักการเมืองกับ กรธ. จะถือเป็นการเริ่มต้นที่ผิด นักการเมืองต่างหากที่ควรจะต้องถกเถียงกันเองภายในพรรค ว่าเมื่อจะเลิกทะเลาะกัน เลิกทุจริต เพื่อทำตัวให้เป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน” โฆษกฯ กรธ.กล่าว

เมื่อถามถึงผลสำรวจความเห็นกรุงเทพโพลระบุ ไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะช่วยสร้างความปรองดอง นายชาติชายกล่าว่า เคารพการตัดสินใจของประชาชน ที่บางครั้งอาจยังไม่ได้รับข้อมูลที่มากพอ ซึ่งเกิดจากการออกมาแสดงความเห็นแย้งรัฐบาลทุกเรื่องของนักการเมือง ตนยอมรับว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษ ที่เขียนแล้วความปรองดองจะเกิดขึ้นทันที แต่ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะช่วยทำให้กติกาของเราเป็นธรรมมากขึ้น ทำให้ไม่มีเสียงข้างมากชนะเลือกตั้งเด็ดขาด องค์กรอิสระที่มีอำนาจตรวจสอบเข้มข้นขึ้น ส่วนที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับผู้เล่นแล้วว่าจะเป็นอย่างไร จะยึดกติกา จะเปลี่ยนทัศนคติได้หรือไม่ หากยังจ้องจะทะเลาะกันอยู่ ก็จะไม่ต่างไปจากเดิม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image