‘บิ๊กแดง’เปิดอก โชว์จุดยืนทหาร ปรามการเมืองป่วน

เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ขึ้นมารับหน้าที่ผู้บัญชาการทหารบกแทน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.อภิรัชต์ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนของกองทัพบกกับการเมือง

“ตามปฏิทินการเลือกตั้ง กองทัพบกเตรียมการทำความเข้าใจของกำลังพล ต้องแยกแยะภารกิจให้ออก เราในฐานะกองทัพบกและเป็นทหารของชาติ ทหารของประชาชน มีหน้าที่ที่จะสนอง
ต่อนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม”

Advertisement

นี่คือหน้าที่ของกองทัพ

สำหรับ คสช.นั้น พล.อ.อภิรัชต์ระบุว่า เป็นเนื้อเดียวกัน แต่ก็เปิดทางให้สำหรับรัฐบาลชุดใหม่

“กองทัพ และ คสช.ก็คือเนื้อเดียวกัน ขณะนี้รัฐบาลคือรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ยืนยันว่าไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ไม่ต้องห่วง ผมทำงานร้อยเปอร์เซ็นต์และเกินร้อยอยู่แล้ว ไม่ว่าใครมาเป็นนายผม

Advertisement

“ส่วนความเป็นกลางนั้นขึ้นอยู่กับคนมอง บางครั้งเรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำเป็นกลาง แต่มุมมองของคนอื่นมองว่าเราไม่เป็นกลาง

แต่ขอให้มั่นใจว่ากองทัพเป็นกลางและอยู่เคียงข้างประชาชน”

อีกตอนหนึ่งของคำให้สัมภาษณ์ พล.อ.อภิรัชต์กล่าวถึงการปฏิวัติรัฐประหาร

“หวังใจเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์รุนแรงในบ้านเมืองคงไม่เกิดขึ้นอีก ที่ผ่านมามีเหตุการณ์อะไรขึ้นมาก็ไม่เคยขนาดนี้ เพราะมีการแก่งแย่ง ชิงการเมือง เอาชนะ ไม่รู้จักแพ้ ไม่รู้จักชนะ”

แล้วคนที่แพ้ก็คือประเทศ

พล.อ.อภิรัชต์ยืนยันว่ากองทัพไม่มีวันชนะประชาชน แต่ประชาชนที่ออกมาสร้างความเดือดร้อน ยั่วยุให้จุดไฟเผา มีการประกอบระเบิด นั่นคือท่านแพ้

ท่านเป็นประชาชนที่ทำให้ประเทศแพ้ แทนที่เราจะแข่งขันทางการค้า แล้วต้องใช้เวลากี่ปีฟื้นฟูประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย หลังจากเกิดเหตุการณ์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว มีการยกเลิกการนำเข้าส่งออกของต่างประเทศเป็นเงินมหาศาลกว่าจะฟื้นฟูกลับมาได้ใช้เวลาเท่าไร จุดไฟเผาในเมือง เกิดกลียุค ปีเดียวสิ่งปลูกสร้างทำได้ แต่ในทางการค้าไม่ใช่ ความมั่นใจของต่างชาติในการลงทุนต้องใช้เวลานานกว่านั่น

แต่วันนี้ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น

พล.อ.อภิรัชต์มั่นใจว่า ถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุแห่งการจลาจล ก็ไม่มีอะไร

แล้ววันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ก็พาดหัวข่าวประเด็นนี้

เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากปากของ พล.อ.อภิรัชต์ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ย่อมได้รับความสนใจ

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการ มองว่า เป็นการแสดงบทบาทสถานะที่ดีของกองทัพ สะท้อนให้เห็นว่า วางตัวเป็นกลาง ทำให้คนมองกองทัพในภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น

ส่วนแนวโน้มการปฏิวัตินั้น รศ.ดร.ยุทธพรมองว่า พล.อ.อภิรัชต์บอกว่าขึ้นกับเงื่อนไขของการเมืองและสังคมว่าจะเกิดความวุ่นวายหรือไม่

“ตรงนี้ทำให้ต้องย้อนกลับไปมองเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้น ทำให้ความขัดแย้งอาจจะเกิดขึ้นอีก”

ดังนั้น การรัฐประหารในอนาคตก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขนี้

ขณะที่ฝ่ายการเมืองที่ได้รับผลกระทบก็มีความเคลื่อนไหว

นายจาตุรนต์ ฉายแสง จากพรรคเพื่อไทย ระบุว่า หากเกิดจลาจล ความวุ่นวาย ก็จะทำรัฐประหาร นับเป็นการสร้างเงื่อนไขให้ประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำกองทัพตลอดไป เพราะการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความวุ่นวาย ไม่ใช่เรื่องยาก

ยิ่งหากกองทัพปล่อยให้เกิดความวุ่นวายขึ้น การจลาจลก็เกิดขึ้นโดยง่ายดาย

สุดท้ายก็จะนำมาซึ่งข้ออ้างเข้ายึดอำนาจ

นายจาตุรนต์มองว่า เงื่อนไขการรัฐประหารนั้น ที่จริงแล้วเกิดจากการสมคบกันของหลายฝ่าย ที่มีส่วนร่วมในการสร้างเหตุการณ์

ขณะที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ จากพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า เหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น อย่าโทษแต่ฝ่ายการเมือง เพราะบางครั้งนักการเมืองไม่ใช่ตัวแปรเดียว ยังมีอีกหลายฝ่ายที่ไม่ทำหน้าที่

“อยากให้ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา อย่าโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะบอกว่าทหารจะไม่ยึดอำนาจอีกก็คงไม่มีอะไรมารับประกัน เพราะทุกครั้งที่ทหารพูดแบบนี้ก็มีการยึดอำนาจเกิดขึ้นตลอด”

จากท่าทีของ พล.อ.อภิรัชต์และการตีความจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ว่าการปฏิวัติรัฐประหารยังมีโอกาสเกิดขึ้น

หากมีการจลาจลเกิดอีก

โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองได้ตกเป็น “จำเลย” ในฐานะผู้ก่อเหตุความวุ่นวาย กระทั่งทหารต้องออกมายึดอำนาจ

แต่หากพิจารณาเป็นประเด็นๆ ไปแล้ว ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนั้นมีมาจากหลายสาเหตุ

ฝ่ายการเมืองขัดแย้ง รัฐบาลดื้อรั้น ฝ่ายค้านเล่นนอกกติกา ม็อบไม่ยอมหยุด เจ้าหน้าที่ไม่ยอมทำหน้าที่ ฯลฯ

ดังนั้น หากไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวาย ผู้มีอำนาจต้องรู้จักถอย ทุกฝ่ายต้องเลิกเล่นนอกกติกา เจ้าหน้าที่ต้องทำหน้าที่ตามกรอบของกฎหมาย

ต้องช่วยกันตักเตือน ยับยั้ง ไม่ให้ความหลงผิดคิดแต่จะเอาชนะไปสร้างเงื่อนไขให้เกิดจลาจล

จนเกิดการปฏิวัติรัฐประหาร

จากท่าทีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์คงมั่นใจในความมั่นคง เพราะผู้นำกองทัพบกยืนยันเป็นเนื้อเดียวกับ คสช.

ขณะที่ฝ่ายการเมืองเองก็คงสัมผัสได้ถึงท่าทีของกองทัพบกยุคนี้

นั่นคือ อย่าป่วน อย่าทำให้เกิดจลาจล เพราะหากปล่อยให้เกิดขึ้น อะไรๆ ก็อาจเกิดซ้ำขึ้นมาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image