ที่เห็นและเป็นไป : เมื่อกลับมาที่ ‘การปฏิวัติ’ : สุชาติ ศรีสุวรรณ

ฟังจาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่แถลงเป็นครั้งแรกถึงท่าทีในฐานะ ผบ.ทบ. ในประเด็นที่ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือ “ไม่รับประกันว่าประเทศจะไม่มีปฏิวัติอีก”

“ปฏิวัติ” ของประเทศไทยเราใช้ในความหมาย “กองทัพยึดอำนาจการบริหารประเทศจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” หรือที่เรียกกันว่า “ทำรัฐประหาร”

ว่าไปหากฟัง หรืออ่านคำให้สัมภาษณ์ของ “ผบ.ทบ.คนใหม่” อย่างพิเคราะห์ ไม่ด่วนตัดสินไปตามอารมณ์ที่นำสู่การคิดเอาเอง น่าจะเข้าใจได้ว่าที่ “พล.อ.อภิรัชต์” ต้องการสื่อนั้น หมายถึง “รัฐประหารจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ประเทศมีจลาจล” ซึ่งคงเป็นในความหมายที่ว่า “หมดทางที่จะแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น”

หากย้อนไปในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหาร สถานการณ์ก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น

Advertisement

ความวุ่นวายทางการเมืองถึงขั้น หรือใกล้จะถึง “ความเป็นรัฐล้มเหลว” อันหมายถึงรัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการได้อีกต่อไป

กระทั่งประชาชนส่วนใหญ่มองเห็นว่า ทางรอดของประเทศไม่มีหนทางอื่น นอกจาก “กองทัพต้องรัฐประหาร” และ “ใช้อำนาจเข้ามาจัดการให้เกิดความสงบเรียบร้อย”

ประชาชนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามด้วยเพราะเป็น “วิธีการที่เหมาะสมกับสถานการณ์”

Advertisement

แต่แม้จะสัมผัสได้ว่าเป็นการเห็นดีเห็นงามของประชาชนส่วนใหญ่ จะต้องไม่ลืมว่า “ที่เห็นด้วยนั้นเป็นแค่การใช้อำนาจเข้ามาแก้สถานการณ์เฉพาะหน้า สร้างความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้น”

หาใช่เห็นด้วยเพราะ “เชื่อมั่นในฝีมือความสามารถในการบริหารประเทศให้เหมาะสมกับความเป็นไปของโลกด้วยรัฐบาลจากกองทัพ”

และตรงนี้เองที่เมื่อเรื่องราวต่างๆ ส่อเค้าว่าผู้ทำรัฐประหารมีความพยายามจะสืบทอดอำนาจ ความรู้สึกบางอย่างจึงเกิดขึ้น

ในช่วงที่การเมืองมีความวุ่นวาย ขัดแย้งรุนแรง “รัฐประหาร” อาจจะเป็นวิธีการที่เหมาะสม

แต่สถานการณ์ ณ วันนี้ เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว “วิธีการบริหารประเทศที่เหมาะสมเป็นอย่างไร”

เพราะคำตอบนั้นเหมือนว่าทุกคนรู้อยู่แก่ใจ แม้ที่กล้าพูดจะมีน้อยคน

ดังนั้น เมื่อ “พล.อ.อภิรัชต์” ย้อนอดีตให้เห็นความ​จำเป็นของการทำปฏิวัติ

เสียงวิพากษ์วิจารณ์จึงดังให้ขรม ซึ่งเป็นเสียงที่สะท้อนถึง “ทางเลือกที่คิดว่าไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ไม่กล้าพูดนั้น”

จึงนับเป็นเรื่องที่น่าทบทวนยิ่งสำหรับผู้มีอำนาจ ว่าความเชื่อว่าสถานการณ์ของประเทศมีความจำเป็นต้องสืบทอดอำนาจต่อไปนั้น เป็นการดันทุรังที่ฝืนความคิดของประชาชนหรือไม่

ที่น่าห่วงไปกว่านั้นคือ การวิพากษ์วิจารณ์เริ่มวกมาสู่มุมมองที่ว่า “ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจนเป็นเหตุของรัฐประหารในอดีตนั้น” เป็นการร่วมกันสร้างสถานการณ์ของหลายฝ่าย เพื่อประโยชน์ของคนเหล่านั้นเอง

ไม่ใช่เกิดจากโดยธรรมดาของการเมือง

และฝ่ายหนึ่งที่ร่วมสมคบก่อความวุ่นวายเปิดทางให้รัฐประหารก็คือ “นักการเมืองจนตรอกบางคน บางพวก”

อย่างไรก็ตาม การจะหวังให้ใครสักคนเห็น “วิธีการที่เหมาะสมโดยสละความกระหายในอำนาจของตัวเอง” นั้นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ง่าย

ดังนั้น ที่สุดแล้วย่อมเป็นภาระของประชาชนที่จะต้องแสดงให้เห็นว่า ฉลาดพอที่จะรู้ว่าวิธีการอย่างไร เหมาะสมกับสถานการณ์แบบไหน

อีกไม่กี่เดือนจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นโอกาสในการแสดงอำนาจของประชาชน

อำนาจที่จะแสดงจึงต้องเพื่อให้เห็นความฉลาดของประชาชนไม่เพียงเลือก “วิธีบริหารจัดการประเทศที่เหมาะสมกับสถานการณ์”

แต่ควรถือโอกาสให้บทเรียนกับนักการเมืองบางคน บางพวกด้วย

นักการเมืองที่ก้าวเข้าสู่เวทีแห่งอำนาจด้วยระบอบประชาธิปไตยเอื้อโอกาสให้ แต่กลับร่วมสร้างสถานการณ์ให้ประเทศสู่สภาพต้องหาทางออกด้วยรัฐประหารนั้น

น่าอาย!!!

แม้วันนี้นักการเมืองอีหรอบจะพยายามสร้างภาพตัวเองและพวกพ้องให้เป็นไปอีกแบบ

แต่ฐานะประชาชนที่รับรู้ด้วยสภาพชีวิต ด้วยความเป็นอยู่ของตัวเองและญาติมิตร

ต้องไม่ลืมนักการเมืองจำพวกนั้น

 

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image