เมื่อ‘รพ.’ไม่ใช่เซเว่นฯ เปิดสิทธิผู้ป่วย10ข้อ

ในเรื่องของสิทธิผู้ป่วย ได้ร่วมกันร่างขึ้นมาจากองค์กรวิชาชีพด้านสุขภาพ แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภากายภาพบำบัด สภาเทคนิคการแพทย์ และคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ ออกเป็นคำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดจากกระบวนการ และตระหนักถึงความสำคัญของการให้ความร่วมมือกับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ

องค์กรวิชาชีพด้านสุขภาพ จึงได้ร่วมกันออกประกาศรับรองสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย แบ่งเป็นสิทธิของผู้ป่วย 10 ประการ ประกอบด้วย

1.ผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิพื้นฐาน ที่จะได้รับบริการด้านสุขภาพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2.ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยไม่เลือกปฏิบัติ เนื่องจากมีความแตกต่างด้านฐานะเชื้อชาติ ศาสนา สังคม ลัทธิ การเมือง เพศ อายุและลักษณะความเจ็บป่วย 3.ผู้ป่วยที่ขอรับบริการด้านสุขภาพมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอ และเข้าใจชัดเจนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจในการยินยอมหรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือรีบด่วนหรือจําเป็น

4.ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงอันตรายถึงชีวิตมีสิทธิจะได้รับการช่วยเหลือรีบด่วนจากผู้ประกอบวิชาชีพโดยทันที ตามความจําเป็นแก่กรณี โดยไม่คํานึงถึงว่าผู้ป่วยจะร้องขอความช่วยเหลือหรือไม่ 5.ผู้ป่วยมีสิทธิจะได้รับทราบชื่อ สกุล และประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพ ด้านสุขภาพที่เป็นผู้ให้บริการแก่ตน

Advertisement

6.ผู้ป่วยมีสิทธิจะขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่มิได้เป็นผู้ให้บริการแก่ตน และมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการและสถานบริการได้ 7.ผู้ป่วยมีสิทธิจะได้การปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยเคร่งครัด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
8.ผู้ป่วยมีสิทธิจะได้ทราบข้อมูลอย่างครบถ้วนในการตัดสินใจเข้าร่วมหรือถอนตัวจากการเป็น
ผู้ถูกทดลอง ในการทําวิจัยของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ 9.ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเฉพาะตนที่ปรากฏในเวชระเบียนเมื่อร้องขอ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวต้องไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอื่น และ 10.บิดา มารดา หรือ ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจใช้สิทธิแทนผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน
สิบแปดปีบริบูรณ์ ผู้บกพร่องทางกายหรือจิต

นอกจากนี้ ยังจัดทำข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย 7 ข้อ แบ่งเป็น

1.สอบถามเพื่อทำความเข้าใจข้อมูลและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก่อนลงนาม ให้ความยินยอม หรือไม่ยินยอมรับการตรวจวินิจฉัยหรือการรักษาพยาบาล 2.ให้ข้อมูลด้านสุขภาพและข้อเท็จจริงต่างๆ ทางการแพทย์ที่เป็นจริงและครบถ้วนแก่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพในกระบวนการรักษาพยาบาล 3.ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ ของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ให้แจ้งผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพทราบ

4.ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ ของสถานพยาบาล 5.ปฏิบัติต่อผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ป่วยรายอื่น รวมทั้งผู้ที่มาเยี่ยมเยียน ด้วยความสุภาพให้เกียรติและไม่กระทำสิ่งที่รบกวนผู้อื่น 6.แจ้งสิทธิการรักษาพยาบาลพร้อมหลักฐาน ที่ตนมีให้เจ้าหน้าที่ของสถาน พยาบาลที่เกี่ยวข้องทราบ

และ 7.ผู้ป่วยพึงรับทราบข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ดังต่อไปนี้ 7.1 ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานและจริยธรรม ย่อมได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนดและมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม

7.2 การแพทย์ในที่นี้หมายถึง การแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ โดยองค์ความรู้ในขณะนั้นว่ามีประโยชน์มากกว่าโทษสำหรับ
ผู้ป่วย 7.3 การแพทย์ไม่สามารถให้การวินิจฉัย ป้องกัน หรือรักษาให้หายได้ ทุกโรคหรือทุกสภาวะ 7.4 การรักษาพยาบาลทุกชนิดมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลอันไม่พึงประสงค์ได้ นอกจากนี้ เหตุสุดวิสัยอาจเกิดขึ้นได้แม้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพจะใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ ตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์ในการรักษาพยาบาลนั้นๆ แล้ว 7.5 การตรวจเพื่อการคัดกรอง วินิจฉัย และติดตามการรักษาโรค อาจให้ผลที่คลาดเคลื่อนได้ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีที่ใช้และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน

7.6 ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพมีสิทธิใช้ดุลพินิจในการเลือกกระบวนการรักษาพยาบาลตามหลักวิชาการทางการแพทย์ ตามความสามารถและข้อจำกัด ตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์ที่มีอยู่ รวมทั้งการปรึกษาหรือส่งต่อโดยคำนึงถึงสิทธิและประโยชน์โดยรวมของผู้ป่วย 7.7 เพื่อประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอาจให้คำแนะนำ หรือส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาตามความเหมาะสม ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องไม่อยู่ในสภาวะฉุกเฉินอันจำเป็นเร่งด่วนและเป็นอันตรายต่อชีวิต 7.8 การปกปิดข้อมูลด้านสุขภาพและข้อเท็จจริงต่างๆ ทางการแพทย์ของ ผู้ป่วยต่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ อาจส่งผลเสียต่อกระบวนการรักษา พยาบาล และ 7.9 ห้องฉุกเฉินของสถานพยาบาล ใช้สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินอันจำเป็นเร่งด่วน และเป็นอันตรายต่อชีวิต

อย่างไรก็ตาม ส่วนกรณีการพูดจาของแพทย์ที่มีต่อคนไข้นั้นก็เป็นเรื่องที่มีการพูดกันอยู่มาก อย่างการเรียนการสอนแพทย์ก็จะบอกเสมอว่าเวลามีการฟ้องร้องเรื่องทางการแพทย์ ระหว่างแพทย์กับคนไข้ ส่วนใหญ่อันดับ 1 มาจากเรื่องมาตรฐานการแพทย์ รองลงมาอันดับ 2 คือ ความไม่เข้าใจในการสื่อสาร ซึ่งตรงนี้หลายคนอาจทำงานเหนื่อยมาก ด้วยภาระงานหนัก ยิ่งในโรงพยาบาลภาครัฐแล้วจะมีภาระงานเยอะ ก็น่าเห็นใจ หากไม่สามารถอยู่ ณ จุดที่จะสื่อสารได้ ก็ขอให้หลบออกไป ที่ผ่านมาพยาบาลเคยเป็นผู้ประสานช่วยในการสื่อสารก็มี

แต่การพูดจาไม่ดี ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิด มีบ่อยมาก การพูดจาหลายครั้งก็กลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต อย่างในอดีตก็เคยมีผู้ป่วยที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แล้วแพทย์จะให้กลับบ้าน ทางผู้ป่วยรู้สึกว่ายังไม่ไหว แพทย์ก็ไปพูดทำนองว่าโรงพยาบาลนะ ไม่ใช่โรงแรม ทางคนไข้ก็ไปฟ้องร้องจริยธรรม ซึ่งผลออกมามีมูล เพราะเราดูหลายอย่าง ดูเจตนา พฤติกรรม แต่ก็จะเป็นการว่ากล่าวตักเตือน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบจริยธรรมทั้งหมด เราก็ต้องพิจารณาด้วย ไม่เช่นนั้นแพทย์ที่ปฏิบัติงานดีๆ ถูกต้อง ก็เสียกำลังใจหมด

ส่วนกรณีนี้ที่ไปพูดว่า โรงพยาบาลนะไม่ใช่เซเว่นฯ ก็ต้องอยู่ที่ผู้ป่วยจะร้องเรียนหรือไม่ แต่ในส่วนแพทยสภา หากพบว่า กรณีนี้ลุกลาม ทางแพทย์ยังไม่แสดงเจตนาดีว่า ไม่ได้ตั้งใจ ไม่มีการขอโทษก็จะสามารถตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นอำนาจของทางเลขาธิการแพทยสภา ที่พึงกระทำได้ในการพิจารณาเรื่องนี้ แต่หากแพทย์มีการแสดงเจตนาดีกับคนไข้ มีการประสานกัน ขอโทษ และคนไข้ยินยอมไม่มีการร้องเรียนก็ถือว่าจะจบลงได้ด้วยดี เพราะอย่างที่บอก หลายเรื่องสามารถตกลงกันได้ การจะมาถึงการฟ้องร้อง หรือตั้งสอบจริยธรรมไปทุกเรื่องคงไม่ได้ จะกระทบขวัญและกำลังใจแพทย์ที่ปฏิบัติถูกต้องอยู่แล้วไปหมด

นอกจากสิทธิของผู้ป่วย แพทยสภายังมีประกาศแพทยสภาที่ 45/2555 เรื่องเวชปฏิบัติที่ดีสำหรับแพทย์ (Good Medical Practice) ซึ่งจะอธิบายข้อพึงปฏิบัติของแพทย์ไทย แต่ไม่ใช่ข้อกำหนดทางกฎหมาย อาทิ ข้อพึงปฏิบัติของแพทย์โดยทั่วไป ประกอบด้วย

1.ยึดถือประโยชน์ของผู้อื่นสำคัญกว่าประโยชน์ตน 2.เคารพสิทธิผู้ป่วยสำหรับการยอมรับหรือปฏิเสธการรักษา 3.เคารพสิทธิและความคิดเห็นของผู้ป่วย ญาติ และผู้ร่วมวิชาชีพ 4.อุทิศตนต่อการให้บริการอย่างมีคุณธรรม ด้วยความเอื้ออาทรและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ 5.ซื่อสัตย์ต่อผู้ป่วยและผู้ร่วมวิชาชีพ และรายงานต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องถึงแพทย์ ซึ่งประพฤติตนไม่เหมาะสมหรือประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพ

6.ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของตนในการให้ความรู้แก่สาธารณะ แต่พึงระวังในการเปิดเผยข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยี หรือการรักษาแบบใหม่ที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์กรวิชาชีพ 7.ตัดสินใจบนพื้นฐานของความเป็นวิชาชีพอิสระ และธำรงรักษามาตรฐานแห่งวิชาชีพที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ ภายใต้ความสามารถและข้อจำกัดตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์ที่มีอยู่ 8.ละเว้นการตัดสินใจใดๆ ภายใต้ผลประโยชน์ส่วนตนหรือการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม 9.ละเว้นการรับผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทนใดๆ อันเนื่องมา
จากการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อการรักษาหรือส่งตรวจหรือการสั่งจ่ายเวชภัณฑ์ 10.ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์ด้วยตนเองให้ถูกต้องก่อนให้คำรับรอง 11.ใช้ทรัพยากรทางสุขภาพด้วยวิธีการที่เหมาะสมภายใต้ความสามารถและข้อจำกัดตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์ที่มีอยู่ เพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและชุมชน 12.รักษามาตรฐานทางวิชาการและวิชาชีพ ติดตาม หรือสร้างองค์ความรู้ใหม่ และใช้อย่างเหมาะสมบนหลักฐานและประสบการณ์ที่เชื่อถือได้ และ 13.รับการบริบาลที่เหมาะสมในกรณีที่ตนมีความเจ็บป่วยทางกายหรือทางจิต

ที่สำคัญยังมีข้อพึงปฏิบัติของแพทย์ต่อผู้ป่วย 7 ข้อ คือ

1.แพทย์พึงประกอบวิชาชีพโดยตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตมนุษย์ 2.แพทย์พึงให้การบริบาลทางการแพทย์โดยใส่ใจในความต้องการของผู้ป่วย 3.ประพฤติปฏิบัติต่อผู้ป่วยด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และคำนึงถึงทรัพยากรสุขภาพที่มีอยู่ ถ้าการดูแลรักษาเกินศักยภาพของตนเอง แพทย์พึงปรึกษาหรือส่งต่อไปยังผู้ที่มีศักยภาพมากกว่า

4.เคารพสิทธิของผู้ป่วยสำหรับข้อมูลที่เป็นความลับ แต่ในทางจริยธรรมแพทย์อาจเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับเมื่อผู้ป่วยยินยอมหรืออาจมีเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยหรือผู้อื่น และอันตรายดังกล่าว จะป้องกันได้เมื่อต้องมีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับนั้น 5.ให้การบริบาลผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินโดยหลักมนุษยธรรม เว้นแต่ในกรณีที่มีผู้อื่นสามารถให้การดูแลได้

6.แจ้งให้ผู้ป่วยทราบในกรณีที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนหน่วยงานอื่นหรือบุคคลภายนอก และ 7.ไม่ถือโอกาสตักตวงผลประโยชน์ใดๆ ที่ผิดศีลธรรม

ทั้งหมดเป็นหลักการที่กำหนดไว้ให้พึงปฏิบัติ อย่างสิทธิผู้ป่วย ทุกโรงพยาบาลจะต้องติดป้ายประกาศไว้ให้ผู้ป่วยเห็น ขณะที่ข้อพึงปฏิบัติของแพทย์ต่อผู้ป่วย เป็นหลักการที่แพทย์ต้องทราบอยู่แล้ว และในเว็บไซต์ของแพทยสภาก็มีการประกาศเอาไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image