‘ประชาชาติ’ ชูนโยบาย ‘คืนสิทธิให้ประชาชน’ แจงแนวทางคลายปมยึดครอง ‘ที่ดิน’ ให้ท้องถิ่นจัดการ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ว่าที่เลขาธิการพรรคประชาชาติ ขึ้นเวทีเสวนาในหัวข้อ “ออแฆกำปงเสวนา” ครั้งที่ 2 “ทรัพยากรที่ดินชายแดนภาคใต้ : พรรคการเมืองกับบทบาทในการแก้ปัญหา” เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ บริเวณมัสยิดกรือเซะตำบลตันหยงลุโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยสรุปประเด็นการนำเสนอได้ดังนี้

“ประชาชาติ” มองว่ามนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน แม้จะมีความแตกต่างกันในถิ่นกำเนิด ชาติพันธุ์ ภาษา วัฒนธรรม เพศ หรือศาสนา แต่ทุกคนต้องมีสิทธิ มีเสรีภาพ มีศักดิ์ศรี ต้องได้รับความยุติธรรม และต้องมีโอกาสเท่าเทียมกัน “ประชาชาติ” ชูธงคำว่า “พหุวัฒนธรรม” ซึ่งก็คือความเท่าเทียมกันในทุกวัฒนธรรม

ในเรื่องทรัพยากรที่ดิน “ประชาชาติ” เห็นว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกษตรกรรายย่อยและคนจนไร้ที่ดินทำกิน ต้องกลายเป็นแรงงานรับจ้าง โดยที่ผ่านมา การจัดการหรือการปฏิรูปที่ดินของเรามุ่งแต่สร้างให้มีเอกสารสิทธิในที่ดิน ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาคนไร้ที่ดินทำกิน ดังนั้น “ประชาชาติ” จึงเน้นเรื่องความเท่าเทียม มุ่งมั่นที่จะทำให้คนไร้ที่ดินได้มีที่ดินทำกิน ทั้งนี้ ที่ดินเป็นเหมือนคลังหรือยุ้งฉางของสังคม เป็นแหล่งการเกษตรเพื่อผลิตอาหารและเป็นแหล่งสร้างอาชีพหรือฐานะทางเศรษฐกิจของผู้คน

สำหรับคนจนแล้วนั้น ที่ดินคือที่อาศัยและที่ทำกิน แต่สำหรับคนรวย ที่ดินคือสินทรัพย์หรือกรรมสิทธิ์ส่วนตนที่จะนำไปกู้ธนาคารหรือไปสร้างมูลค่าอย่างอื่น ประกอบกับประเทศไทยไม่มีกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดิน คนรวยจึงสามารถซื้อที่ดินมาถือครองเพื่อกักตุนเก็งกำไรได้ไม่จำกัด บางคนครอบครองที่ดินเป็นหมื่นไร่โดยไม่ทำประโยชน์และนำไปกู้ธนาคารได้เงินมาเป็นหมื่นล้าน ดังนั้น แทนที่การจัดการหรือการปฏิรูปที่ดินจะนำมาสู่กระจายความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน กลับเป็นการกระจายความสามารถในการแจกเอกสารสิทธิ ยิ่งปฏิรูป ป่ายิ่งหมด คนรวยก็ยิ่งรวยขึ้นและมีที่ดินมากขึ้น ส่วนคนยากจนก็ยังคงไม่มีที่ดินทำกิน

Advertisement

ที่ดินในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 320 ล้านไร่ ครึ่งหนึ่งเป็นโฉนดที่อยู่กับกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ส่วนที่เหลืออยู่กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย พื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่สำนักปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และพื้นที่ในลักษณะอื่นๆ ของรัฐ สำหรับที่ดินที่อยู่กับกรมที่ดิน พบว่า มีคนแค่ 15 ล้านคน จาก 65 ล้านคนที่มีโฉนด และในจำนวน 15 ล้านคน มีคนเพียง 10% ที่มีที่ดินถึง 90% หรือ 120 กว่าล้านไร่ ขณะที่คนอีก 90% หรือราว 13.5 ล้านคนมีโฉนดไม่ถึง 10 ล้านไร่ ทั้งนี้ ที่ดินจำนวนมากที่กระจุกอยู่กับคนรวยส่วนน้อยเป็นที่รกร้างว่างเปล่าหรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ (มูลนิธิสถาบันที่ดินแห่งประเทศไทยระบุไว้มามีมากถึง 70%) แทนที่จะถูกใช้ในการสร้างมูลค่าให้เป็นอาหารหรือสร้างมูลค่าให้เกิดความเจริญ

ในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินนั้น ควรเก็บภาษีที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าในอัตราก้าวหน้า คนที่ถือครองที่ดินจำนวนมากและไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินต้องเสียภาษีในอัตราสูง และจะไม่สามารถกักเก็บที่ดินกักตุนไว้เพื่อเก็งกำไรอีกต่อไป เมื่อผู้ถือครองที่ดินองการระบายที่ดินออก รัฐก็ควรจัดซื้อที่ดินนั้นด้วยราคาที่เป็นธรรม และนำมาปฏิรูปให้ชาวบ้านผู้ไร้ที่ดินได้มีที่ทำกินและนำไปสร้างสาธารณะประโยชน์ อย่างไรก็ดี ในการกระจายที่ดิน ไม่ควรไปมุ่งเน้นที่การออกเอกสารสิทธิเพราะอาจนำมาสู่การถือครองโดยนอมินี ดังกรณีที่ดิน สปก.จำนวนมาก สำหรับที่ดินและป่าไม้ในการครอบครองของหน่วยงานรัฐ กระทรวง และกรมต่างๆ นักวิชาการบางท่านเสนอว่าสมควรพิจารณาเก็บภาษีจากหน่วยงานรัฐที่ถือครองที่ดินด้วยในระหว่างที่รอการกระจายอำนาจ

Advertisement

สำหรับที่ดินที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีทั้งที่อุทยาน ที่ป่าสงวน และ ที่ ส.ป.ก.นั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องโอนให้มาอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของชุมชนท้องถิ่นด้วยเช่นกัน ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 164 ล้านไร่ เป็นป่าจริงๆ 97 ล้านไร่ ส่วนที่ไม่เป็นป่าอีกราว 67 ล้านไร่ เป็นที่ ส.ป.ก. 35 ล้านไร่ โดยที่ดิน ส.ป.ก. ได้ถูกนำไปให้คนรวยเช่า 4 ล้านกว่าไร่ เพื่อทำสวนปาล์มหรือสวนยางพารา ขณะที่คนจนที่ไม่มีที่ทำกินต้องไปเป็นลูกจ้างในที่ดินของคนอื่น

การจะแก้ปัญหาที่ดินได้ ต้องกระจายและโอนสิทธิและอำนาจในการจัดการที่ดินจากส่วนกลางให้แก่ชุมชนท้องถิ่น อำนาจที่อยู่กับกรมที่ดินต้องส่งมายังชุมชนท้องถิ่น ในหลายประเทศก็เป็นแบบนี้ ในมาเลเซียที่ดินก็อยู่กับรัฐบาลท้องถิ่น การถ่ายโอนอำนาจสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องไปแก้กฎหมาย เพราะสามารถดำเนินการตามเจตนารมย์ของกฎหมายที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติ สปก. พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ

สิ่งนี้เป็นหลักการ “สิทธิชุมชน” ที่จะเข้ามามีบทบาทในการจัดการทรัพยากรที่ดิน โดยอาจให้ท้องถิ่น อาทิ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือกลไกชุมชนท้องถิ่นในลักษณะอื่น เช่น คณะกรรมการ มาดูแลและมีอำนาจในการอนุมัติสิทธิในการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ทั้งนี้ กลไกในระดับชุมชนท้องถิ่นจะมีข้อมูลและทราบว่าใครเป็นใคร ใครยากจนจริงไม่จริง ใครทำประโยชน์ในที่ดินหรือไม่ อันจะสามารถแก้ปัญหานอมินีในการถือครองที่ดินได้ และสำหรับถ้าเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าก็ต้องเก็บภาษีเข้าท้องถิ่นเพื่อนำเงินมาใช้ในการศึกษาและการพัฒนา

“ประชาชาติ” คิดเรื่องการคืนสิทธิ คืนอำนาจ และคืนความสุขไปให้ประชาชน เราเน้นว่าต้องคืนทุกอย่าง แม้แต่ทรัพย์สิน รัฐบาลกลางควรจะต้องมีขนาดที่เล็กมาก ในทางตรงกันข้าม ท้องถิ่นต้องเข้มแข็ง ซึ่งเราก็ต้องหาทางทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นและการทำงานของท้องถิ่นมีธรรมาภิบาล

“ประชาชาติ” เน้นนโยบายที่รองรับชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการและพัฒนาด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และการเกษตร เป็นดังที่ท่านอาจารย์นุกูล รัตนดากูล ได้กล่าวถึงสิทธิชุมชน ว่ากรรมสิทธิในการจัดการที่ดินเป็นของชุมชน เมื่อมอบที่ดินไป ชุมชนท้องถิ่นจะจัดที่ดินอย่างไร จะสร้างความสุขให้ประชาชนในท้องถิ่นอย่างไร ก็ขอให้เชื่อมั่นในประชาชน วันนี้เราหนีไม่พ้นว่า เมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เราก็ต้องคืนอำนาจ คืนสิทธิ และคืนงบประมาณไปให้ประชาชน บนฐานคิดที่ว่า “ประชาชนคิด รัฐหนุน ประชาชนทำ”

“ผมฝันว่า ถ้าที่ดิน ส.ป.ก. ที่ราชพัสดุ และที่รกร้างว่างเปล่าต่างๆ มาอยู่ใต้การดูแลของชุมชนท้องถิ่น เราก็สามารถเก็บภาษี โดยเฉพาะจากที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งต้องเสียภาษีในอัตราสูง เราจะได้เงินจำนวนมากมาช่วยในเรื่องการศึกษา การพัฒนาคน การพัฒนาโรงพยาบาลของท้องถิ่นที่สามารถดูแลสุขภาพประชาชนได้ครบถ้วน รวมทั้งการนำที่ดินเหล่านี้มาใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น ทำสนามกีฬา ทำโรงเรียน ทำวัด” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ดินโยงกับปัญหาเรื่องกฎหมายอยู่มาก และนี่ไม่ใช่แค่ปัญหาข้อบกพร้องของการปฏิบัติตามกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่เท่านั้น กรณีการประกาศเขตอนุรักษ์หรือการขีดเส้นป่าแล้วส่งผลกระทบต่อชาวบ้านนั้น การที่ชาวบ้านจะสู้คดีไม่ใช่เรื่องง่าย ชาวบ้านกว่าจะมีค่ารถเดินทางมาถึงโรงพักต้องเรี่ยไรกันทั้งหมู่บ้านเพื่อมาต่อสู้คดี และส่วนใหญ่ก็จะติดคุก เพราะว่าเจ้าหน้าที่มักง่ายไปขีดเส้นผิด “ประชาชาติ” เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขกฎหมาย แก้กฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เราเสนอให้มีกฤษฎีกาประจำจังหวัดหรือประจำท้องถิ่น ซึ่งกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องมาจากนักกฎหมายทั้งหมด แต่มาจากทุกภาคส่วนที่มีความรู้และประสบการณ์ ยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อพี่น้องประชาชนในทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องป่าไม้ พี่น้องเทือกเขาบูโดคือผู้เสียหายจากการการประกาศเขตป่า ต้องทนทุกข์ทรมานมากว่า 20 ปี เราต้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐได้เพราะเป็นนโยบายที่ผิด

กฎหมายควรออกด้วยการมีส่วนร่วม แต่ที่เป็นอยู่นั้นบางทีกฎหมายออกโดยคนกลุ่มเดียว เพื่อความสุขของคนกลุ่มเดียว แล้วก็เอาความทุกข์ไปให้ประชาชนส่วนใหญ่ ประเทศไทยมีกฎหมายเยอะเกินไป เรามีกฎหมายเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตต่างๆ มากถึง 1,500 ใบอนุญาต นำมาสู่ต้นทุนทางกฎหมายหรือการจ่ายใต้โต๊ะ ถึงเวลาแล้วที่ต้องส่งคืนอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น เราต้องเชื่อมั่นว่าประชาชนมีความคิด มีปัญญา มีศักยภาพ ที่สำคัญเมื่อเขาได้เป็นเจ้าของที่ดินแล้วก็จะมีความรักในที่ดินของตนอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image