ส่องแผนสู้ ‘เพื่อไทย’ แตกหน่อ-แก้เกม

หมายเหตุ – ความเห็นจากนักวิชาการถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ตั้งพรรคเครือข่าย 3-4 พรรคในการเลือกตั้งครั้งใหม่ เป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่หวังจะได้คะแนนเสียงมากที่สุดในระบบจัดสรรปันส่วนผสมและเป็นแผนสำรองหากพรรคเพื่อไทยถูกยุบอีก


 

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา

ประการแรก เข้าใจว่ามาจากเงื่อนไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม พรรคเพื่อไทยจะลงแบบพรรคเดียวก็ได้ แต่โอกาสที่จะได้เสียงข้างมากแล้วจะถูกตัดจำนวน ส.ส. โดยพรรคที่มีคะแนนเกิน 7 หมื่นมีโอกาสที่จะได้ ส.ส.แต่ถ้าได้ไปทั้งหมดแล้ว บางส่วนคุณจะไม่ได้ คิดว่าเป็นเงื่อนไขที่ทำให้มีการกระจายเพื่อให้ได้ ส.ส.มากสุดในกลุ่มของคุณทักษิณ ชินวัตร

Advertisement

ประการที่สอง ผมคิดว่าคุณทักษิณกลัว หวั่นเกรงว่าจะเกิดการยุบพรรคเพื่อไทย การตั้งพรรคต่างๆ ขึ้นมา เพื่อย้อนศร กกต.ว่าถ้ายุบพรรคเพื่อไทยและยุบพรรคอื่นๆ ด้วย การเลือกตั้งครั้งหน้าเกิดวิกฤตแน่ ถ้ายุบ 3-4 พรรคนี้จะทำให้สังคมคลางแคลงใจ เกิดการตั้งคำถามว่าการยุบฝ่ายตรงข้ามหมด จะเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมได้อย่างไร โยนความเสี่ยงไปที่ กกต.และ คสช.

ถ้ากล้ายุบหมดทั้ง 3 พรรค ทำให้การเลือกตั้งหน้าเกิดปัญหาแน่นอน ทำให้ทุกคนคิดว่าทำอย่างนี้เพื่อต้องการจัดการตระกูลชินวัตร และพรรคของคุณทักษิณออกจากการเมือง เป็นการย้อนศรที่คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยวางยุทธศาสตร์ไว้

ประการที่สาม พรรคเพื่อไทยที่มีกระแสค่อนข้างกว้างในภาคอีสาน ทำให้ผู้สมัครจำนวนหนึ่งมีพื้นที่ทับซ้อน เลยต้องใช้วิธีการแบ่งแยกปกครองคือ ให้แข่งกันเอง

Advertisement

ประการสุดท้าย คิดว่าอำนาจการต่อรองของกลุ่มก้อนทางการเมืองการพรรคเพื่อไทยเดิมนั้นมีปัญหาเรื่องดุลอำนาจ การอยู่ในพรรคเดียวกันทำให้บางกลุ่มไม่มีอำนาจการต่อรอง แต่เมื่อมาตั้งพรรคต่างหากจะเพิ่มอำนาจการต่อรองของกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มคุณจตุพร พรหมพันธุ์ ถ้ายังอยู่พรรคเพื่อไทยจะไม่มีอำนาจต่อรองกับกลุ่ม ส.ส.หรือผู้บริหารพรรค แต่ถ้าอยู่ข้างนอกอำนาจต่อรองจะสูงขึ้น นี่เป็นเรื่องการบริหารการเมือง

ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยคงทำโพล มีฐานข้อมูลพอควรว่าการทำแบบนี้ดีกว่าโดนยุบพรรคไปทีเดียว ซึ่งทุกอย่างจะจบลงตรงนั้นแล้วนำมาสู่วิกฤตการเมืองอีก แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยเกิดวิกฤต ยังมีพรรคอื่นๆ ที่จะเป็นตัวแทน เขาจึงวางยุทธศาสตร์แบบนี้ พูดกันอย่างตรงไปตรงมาปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้ง 3 พรรคยังอยู่ใต้อิทธิพลของตระกูลชินวัตรและคุณทักษิณ

อีกส่วนที่น่าสนใจ กรณีพรรคเพื่อชาติของคุณจตุพร มีแนวโน้มท่าทีแตกต่างจากพรรคอื่น มีสัญญาณว่าอาจพร้อมต่อรองกับ คสช. ในทางการเมืองนั้นทำได้ แต่ถ้าทำแล้วฝืนกระแสฐานมวลชนจะกระทบตัวคุณทักษิณพอควร

การใช้วิธีการนี้ของพรรคเพื่อไทย เป็นการแก้เกม ถ้ากติกาแบบปี 2540 หรือ 2550 ใช้วิธีลงแบบพรรคเดียวได้ แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นระบบจัดสรรปันส่วน ถ้าได้เสียงข้างมากจริงๆ อาจไม่ได้ ส.ส.ตามที่ต้องการก็ได้ เพราะต้องปันให้อีกพรรคที่ได้คะแนนน้อยกว่า เป็นเทคนิค เรียกว่าเป็นคณิตศาสตร์การเมือง

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
สาขาวิชารัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดพรรคสาขาอยู่ 2-3 เรื่อง 1.การเลือกตั้งใหม่ที่เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม พรรคขนาดใหญ่ค่อนข้างเสียเปรียบจากกระบวนการคำนวณคะแนน เนื่องจากฐานที่มั่นในพื้นที่และโครงสร้างเครือข่ายคะแนนเสียงค่อนข้างเยอะ ทำให้ได้ ส.ส.เขตเยอะด้วย แต่เมื่อได้ ส.ส.เขตเยอะ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะน้อยลง

2.พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 กำหนดบทลงโทษเข้มงวด มีโทษถึงขั้นยุบพรรค ถูกกล่าวขานว่ากฎหมายฉบับนี้ตั้งพรรคยาก แต่ถูกยุบง่าย ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่พรรคขนาดใหญ่ต้องมีพรรคสาขาหรือพรรคสำรองต่างๆ

สุดท้ายคือ คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างพรรคเดิม กับพรรคใหม่ หลังประกาศใช้กฎหมายพรรคการเมือง ทำให้พรรคเดิมไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ครบถ้วนเท่ากับพรรคที่จัดตั้งใหม่

คิดว่าทุกสูตร ทุกการคำนวณ ทุกสำนักต่างๆ ที่ออกมาวันนี้มีความแม่นยำไม่เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะการพิจารณาจากตัวเลขต่างๆ มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น 1.ตัวเลขที่นำมาคำนวณคือตัวเลขจากฐานการเลือกตั้งเมื่อ 3 กรกฎาคม 2554 2.ตัวเลขที่นำมาคำนวณไม่รวมถึงบัตรเสียและบัตรที่กาไม่ลงคะแนนซึ่งมีมากพอสมควร แล้วการเลือกตั้งครั้งนี้ บัตรเหล่านี้จะกลายเป็นบัตรดีหรือไม่ ก็ไม่ทราบ เพราะคะแนนเสียงส่วนนี้ค่อนข้างเยอะและไม่ถูกนำมาคิดด้วย

3.ภูมิทัศน์ทางการเมืองของผู้คนเปลี่ยนไป เพราะช่วง 8 ปี ถ้าไม่นับ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ก็ไม่มีการเลือกเลยเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างยาว 4.เขตเลือกตั้งลดลงจากเดิม 375 เขต เหลือเพียงแค่ 350 เขต

นี่คือข้อจำกัด 3-4 เรื่องใหญ่ ที่ผลการคำนวณออกมาแล้วบอกว่าต้องมีพรรคสาขาเพื่อรองรับ

ก่อนหน้านี้ กกต.ให้ความคิดเห็นกับบรรดาพรรคซึ่งเป็นพรรคนอมินี พรรคสาขา ว่าต้องระมัดระวังผิดกฎหมายพรรคการเมือง เพราะหากมีคนภายนอกพรรคที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารพรรคก็มีโอกาสสูงที่จะถูกยุบพรรค

ต้องย้อนกลับไปดูกระบวนการกำหนดกติกาว่าเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับไหม เป็น กติกาที่นักการเมืองซึ่งเป็นผู้เล่นมีส่วนร่วมกำหนดหรือไม่ หากกติกามีปัญหาก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะมีการหลบเลี่ยง หรือพยายามแก้กติกาเหล่านี้ไม่ให้ตนเองเสียเปรียบ

ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การที่พรรคเพื่อไทยแบ่งออกเป็น 3 พรรคนั้น อยากให้กลับไปมองรัฐธรรมนูญปี 2560 และสัดส่วนของรัฐสภา จะพบว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดช่องว่างให้พรรคขนาดกลาง เข้ามามีบทบาทในการกำหนดตัวตัดสินของพรรคที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ท้ายที่สุดแล้วสัดส่วนตรงนี้ไปเพิ่มอำนาจให้ ส.ว.

พรรคเพื่อไทยมีประเด็นทางการเมืองของตัวเองอยู่ด้วย โดยสุ่มเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรคได้ ยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยตอบโจทย์เหล่านี้ หลายคนมองว่าหลายพรรคแม้กระทั่งพรรคที่หนุนฝั่ง คสช. ก็แตกไปหลายพรรค ถามว่าทำไม

ตอนนี้ สัดส่วนของคนที่จะเลือกตั้งเปลี่ยนไป สามารถแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ 1.ชนชั้นกลาง 2.แรงงาน-เกษตรกร

สำหรับกลุ่มแรงงาน-เกษตรกร จะมีบางพรรคที่สามารถเล่นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร หรือผู้ที่มีรายได้น้อยเป็นหลัก

บางพรรคที่เป็นพรรคพันธมิตรสามารถมองชนชั้นกลางในระดับบนได้

ฉะนั้นยุทธศาสตร์ 3 พรรค คือ 1.ตอบสนองคนที่จะมาเป็นฐานเสียง 2.เป็นหลักประกันอุบัติเหตุทางการเมืองหากถูกยุบพรรค การมีพรรคอะไหล่ จะทดแทนกันได้

การแบ่งพรรคย่อย เป็นหนึ่งในหลายมาตรการที่วางไว้ เพื่อรองรับอุบัติเหตุทางการเมือง หรือถ้า 3 พรรคต้านไม่ได้ คนสำคัญก็จะหันไปเทคะแนนเสียงให้พรรคที่หนุนฝั่งประชาธิปไตย ถ้า 3 พรรคไม่ได้ผล คิดว่าอาจมีแผนสำรองอื่นเพิ่มเติม เราอาจเห็นปรากฏการณ์ทางการเมืองแบบใหม่

ความเสี่ยงว่าพรรคถูกครอบงำนั้น มีหลายสัญญาณทั้งจากพรรคเพื่อไทยเองและจากเครือข่ายพันธมิตรพรรคเพื่อไทย ที่แสดงถึงความกังวล และฝ่ายตรงข้ามที่ดึงบางประเด็นขึ้นมาพูด เช่น การให้สัมภาษณ์สื่อของนายทักษิณ หรือการไปบรรยายในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ จุดนี้คือสัญญาณที่หลายฝ่ายเริ่มมอง ทั้งเริ่มกังวล และเริ่มจุดประเด็นให้นำไปสู่การยุบพรรค

ประเทศไทยหลังวิกฤตการเมือง ไม่สามารถมีพรรคเดียวในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ต้องเป็นรัฐบาลผสม การตั้งขั้วอะไหล่ทางการเมืองมา ถ้ามองในแง่บวกคือเป็นเครือข่ายพันธมิตรทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล คิดว่าเป็นเกมการเมืองของแต่ละฝ่าย

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยรังสิต

พรรคเพื่อไทยแตกออกเป็น 3 พรรค มองเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ทางการเมือง หลายคนปฏิเสธไม่ได้ว่าเพื่อต้องการจัดการคะแนนเก็บตกสำหรับเพิ่มเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ปัญหาคือ การแบ่งบัญชีผู้สมัครที่ประสงค์จะอยู่พรรคเพื่อไทย แต่ไม่สามารถจัดการให้ลงตัวได้ จึงต้องแบ่งไปพรรคสาขาหรือพรรคพันธมิตร แง่หนึ่ง ประโยชน์ของเขาคือ การคล่องตัวด้านบริหารจัดการ มีทีมเข้าไปรับผิดชอบอย่างชัดเจน

สิ่งสำคัญที่สุดคือ อาจเกิดกับดักในการแข่งขันกันหาเสียง เกิดการฮั้วการหาเสียง คือไม่เลือกพรรคเพื่อไทย แต่เลือกพรรคเพื่อธรรมแทน ซึ่ง กกต.จะเข้ามามอนิเตอร์ตรวจสอบทันทีว่าจะมีปรากฏการณ์เช่นนี้หรือไม่ เพราะอาจไปถึงการแพ้ฟาวล์ การตัดสิทธิผู้สมัคร หรือบทลงโทษที่แรงกว่านั้น

การมีพรรคเช่นนี้จำนวนมาก แง่หนึ่งเพื่อต้องการกวาดคะแนนบัญชีรายชื่อให้ตัวเองเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ใช้สิทธิเกิดความสับสนหรือเข้าใจว่าเป็นพรรคพวกเดียวกันหรือไม่ จะมาตัดคะแนนกันหรือไม่ หรือมั่นใจแค่ไหนว่าคนที่ชูว่าเป็นผู้สมัครหรือตัวแทนพรรคต่างๆ ในกลุ่มพรรคเพื่อไทย เพื่อธรรม เพื่อชาติ และพรรคไทยรักษาชาตินั้นจะชนะการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ตัวบุคคลที่ลงในนามพรรคใดก็ตาม ทั้งตัวแข็ง ทั้งอดีตนักการเมืองในพื้นที่จะมีโอกาสสูงมากกว่า หรือเป็นบุคคลที่มีภาพลักษณ์ต้นทุนดีก็จะได้เปรียบเช่นกัน

ฟังดูเหมือนง่ายว่าจะกินรวบ แต่คงไม่ง่าย เพราะจะถูกจับตามากกว่าเดิมในประเด็นการสมยอม หรือการผ่องถ่ายคะแนนกัน เพราะต่อให้แกนนำพรรคเหล่านี้ออกมาบอกว่าเป็นอิสระต่อกัน แต่ไม่สามารถปฏิเสธความเชื่อของคนในสังคมว่า คุณคือกลุ่มก้อนเนื้อเดียวกัน เพราะผิดธรรมชาติทางการเมืองอย่างหนึ่งว่า กลุ่มที่แตกสาขาพรรคการเมืองออกไป มักมีความขัดแย้งเป็นทุนเดิม แต่กรณีนี้เป็นลักษณะการยินดี

การสนับสนุนให้เกิดการแยกร่างออกไป เป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมือง ปกติแล้วเราจะเห็นความขัดแย้ง หรือจากกันไม่สวย แต่ปรากฏการณ์นี้เป็นการแยกแม่น้ำหลายสาย แต่สุดท้ายแม่น้ำทุกสายจะมาบรรจบรวมศูนย์เดียวกันที่จำนวนตัวเลขทั้งหมดที่ตัวเองได้

มีความเป็นไปได้ว่าการเกิดขึ้นของ 3 พรรคดังกล่าว เพราะกังวลว่าพรรคเพื่อไทยจะถูกยุบพรรค และมีความกังวลว่าจะถูกร้องเรียน จึงเตรียมพรรคสำรองไว้หลายรูปแบบ ขณะเดียวกันยังเป็นการกระจายอำนาจให้แกนนำต่างๆ มาบริหารพรรคด้วย

อย่าลืมว่าพรรคเพื่อไทยกำลังประสบปัญหาว่าใครจะถูกชูให้เป็นหัวหน้าพรรค แม้ว่าเรื่องหัวหน้าพรรคจะไม่ใช่ปัญหา แต่จะถูกชูบัญชีรายชื่อ 1 ใน 3 บุคคลที่จะเสนอชื่อเป็นนายกฯต่างหาก ซึ่งมีผลต่อคะแนนเสียงของพรรคด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image