กรธ.แปลกใจ ‘สมชัย’ แจ้งความเอาผิดกองทุนขอนแก่น ชี้ ต้องมีมติกกต.ตามกม.ประชามติก่อน

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่รัฐสภา นายประพันธ์ นัยโกวิท คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ช่วงการลงประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ตนได้ทำหน้าที่ฐานะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงดังกล่าว พบว่า กกต.ไม่มีข้อห้ามที่จะให้องค์กรใดเข้ามาสังเกตการณ์เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่การออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ กกต.จะเปิดพื้นที่มากน้อยแค่ไหนนั้น ต้องไปสอบถาม กกต.ชุดปัจจุบัน ส่วนการดำเนินงานของ กรธ.ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในระเบียบกกต. ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญนั้น กรธ. ยังไม่ได้กำหนดว่าจะให้กรรมการคนใดเข้าประสานต่อการจัดสรรเวลาออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์

ด้านนายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.กล่าวว่า การประสานงานร่วมกับกกต. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเวลาออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์ต่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่ระเบียบ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ในข้อ 17 ว่า ก่อนหน้านั้น นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เคยให้ข้อมูลกับกรธ. ถึงการออกอากาศดังกล่าว ว่าจะมีทั้งหมด 10 ครั้ง และแบ่งให้ กรธ.จำนวน 2 ครั้ง และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 1 ครั้ง ส่วนที่เหลือกกต. จะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งครั้งที่คุยกันดังกล่าวยังไม่ได้กำหนดเนื้อหาว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร แต่ทราบว่าจะไม่มีลักษณะของการดีเบตแน่นอน ส่วนการเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญนั้น เบื้องต้นคาดว่า กรธ. ไม่ต้องหารือร่วมกับกกต. อีก เพราะตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 กำหนดหน้าที่ไว้ชัดเจน ไม่มีข้อบังคับให้ 2 องค์กรทำงานร่วมกัน สำหรับประเด็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติที่ กกต. จะเป็นผู้ออกหลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความเห็นว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้นั้น กรธ. คงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเพราะเป็นอำนาจของกกต.

“ผมแปลกใจกับสิ่งที่คุณสมชัยไปแจ้งความดำเนินคดีกับองค์กรกองทุนในจังหวัดขอนแก่น เพราะโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กว่า มีความผิดตามกฎหมายประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ทำได้โดยตัวบุคคลหรือไม่ เพราะตามกฎหมายประชามตินั้น กรณีจะวินิจฉัยว่าผู้ใดทำผิดกฎหมายนั้นต้องทำในรูปแบบของคณะกรรมการและต้องมีมติของกรรมการกกต. ซึ่งขณะนี้ ทางกรธ. ได้หารือต่อการดำเนินการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญในองค์กรสื่อมวลชน โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เตรียมทำหนังสือไปยังองค์กรสื่อ เพื่อขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สื่อมวลชนได้รับความคุ้มครองในการนำเสนอรายละเอียดที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าหากไม่ทำ อาจทำให้สื่อมวลชนไม่ได้รับคุ้มครองและเข้าข่ายทำผิดตามกฎหมายประชามติได้ แต่การดำเนินการดังกล่าวยังต้องอยู่บนพื้นฐานของการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนด้วยว่า ต้องไม่บิดเบือน และเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมทะเลาะกัน” นายอุดม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image