บทนำ : รถฉุกเฉินท้องถิ่น

กรณีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนำรถฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำผู้ป่วยจากโรงพยาบาลส่งกลับบ้านจนเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าล่อแหลมต่อการทำผิดระเบียบนั้น เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ความรู้สึกของการบริหารงานส่วนกลางที่ไม่ไว้วางใจการบริหารงานส่วนท้องถิ่น จึงยึดตัวอักษรในระเบียบปฏิบัติที่ว่า การดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ที่กำหนดว่าผู้ป่วยฉุกเฉินคือบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหัน และรถฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น

ขณะที่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องการเดินทางไปโรงพยาบาล ขณะเดียวกันก็มีปัญหาจำนวนแพทย์ที่ให้บริการชาวบ้านถึงครัวเรือนมีไม่เพียงพอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงนำรถฉุกเฉินไปให้บริการ แต่ดูเหมือนว่า “ส่วนกลาง” จะไม่ยินยอม อาจจะเกรงว่าเข้าข่ายการหาเสียงของนักการเมืองท้องถิ่น หรือเห็นว่าเป็นช่องทางการทุจริต หรือเห็นว่าการทำผิดกฎเกณฑ์เป็นการท้าทายอำนาจส่วนกลาง

ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุใดๆ แต่ผลที่ออกมาทำให้การใช้รถฉุกเฉินไปบริการผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องฐานขัดระเบียบราชการ แนวคิดที่ต้องการนำทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐศาสตร์จึงทำไม่ได้ ผู้ด้อยโอกาสที่พอจะมีหนทางได้รับบริการต้องแสวงหาวิธีอื่นในการดิ้นรน ประเด็นเช่นนี้เป็นอีกตัวอย่างที่มีการใช้กฎระเบียบแล้วกระทบประชาชน เช่นเดียวกับกรณีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในหมาและแมว และเชื่อว่าน่าจะมีปัญหาอื่นๆ อีกที่เกิดขึ้นเพราะมูลเหตุเดียวกัน ซึ่งท้ายสุดความเดือดร้อนกลับไปตกที่ประชาชน และกลายเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้

ปัญหาระหว่างการกำกับของส่วนกลางกับการปฏิบัติงานของท้องถิ่นนี้ควรมีการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แล้วปรับแก้ให้สนองตอบเป้าหมายคือบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน เช่นเดียวกับกรณีการใช้รถฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็น่าจะมี
ข้อยุติโดยเร็ว เพื่อมิให้ชาวบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือได้รับความเดือดร้อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image