เปิดใจ ‘นิพัทธ์ ทองเล็ก’ ก่อนจะเป็นหนังสือ ‘อิน-จัน แฝดสยาม’

เรื่องของ แฝดสยามŽ ฝาแฝดธรรมดาคู่หนึ่งที่เกิดมาด้วยความไม่ธรรมดา นับตั้งแต่ลืมตาดูโลกบนแพริมน้ำ เมืองแม่กลอง

ฝาแฝดตัวติดกันคู่นี้มีชะตาชีวิตที่โลดโผน อายุ 18 ปี พวกเขารอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลไปสร้างชื่อในระดับโลก ก่อนลงหลักปักฐาน กลายเป็นพลเมืองอเมริกัน มีทายาทสืบทอดเชื้อสายถึงปัจจุบันในสกุล บังเกอร์Ž

ตลอดชีวิตของ ”อิน”Ž และ ”จัน”Ž ทั้งสองไม่เคยพลัดพรากจากกันเลยแม้แต่วินาทีเดียว

เรื่องราวทั้งหมดถูกรวบรวม-เรียบเรียง ขึ้นอีกครั้งหนึ่งในชื่อว่า อิน-จัน แฝดสยาม Siamese TwinsŽ โดย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม หรือ บิ๊กแป๊ะŽ นายทหารระดับสูงผู้คร่ำหวอดกับงานความมั่นคงที่ต้องใช้ความรู้ทุกมิติ ทั้งการเมือง สังคม ประวัติศาสตร์ การต่างประเทศ และอื่นๆ

Advertisement

โดยประมวลเรื่องราวทั้งหมดจากอดีตเมื่อ 200 กว่าปีก่อน เชื่อมเข้ากับเรื่องราวในปัจจุบัน ส่งผลให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีชีวิต มีความต่อเนื่องไม่ขาดสายจากอดีตจนปัจจุบัน

พล.อ.นิพัทธ์เล่าถึงที่มาของหนังสือเล่มนี้ว่า เกิดจากความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเดินทางอพยพโยกย้ายไปมาของมนุษยชาติบนโลกนี้

“มันน่าสนใจตรงที่ว่าคนชนชาติไหนอพยพไปอยู่ที่ไหน แล้วชนชาติไหนอยู่ตรงไหนมาก่อนแล้วบ้าง ผมค้นคว้าเยอะแล้วก็พบข้อมูลเยอะมาก ต่อมาเริ่มสงสัยเกี่ยวกับการเข้ามาของคนยุโรปและอเมริกันในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เพื่อเผยแผ่คริสต์ศาสนา รวมทั้งกิจการทางการแพทย์ ในเวลาเดียวกันผมก็สงสัยในทางกลับกันว่าใครเป็นคนที่ออกนอกประเทศไปเรียนหนังสือในต่างประเทศเป็นคนแรกๆ และพบเรื่องของคณะสอนศาสนาที่นำสุภาพสตรีไทยคนหนึ่งไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกาทางด้านการพยาบาล ขณะเดียวกันยังไปพบเรื่องราวของแฝดอิน-จัน ด้วยŽ”

Advertisement

พล.อ.นิพัทธ์บอกต่อว่า เรื่องราวของแฝดอิน-จันเป็นเรื่องที่แหวกแนวไม่ซ้ำกับใคร ยิ่งค้นยิ่งอ่านยิ่งพบว่าข้อมูลมันตีบตัน แรกสุดผมไปที่อนุสาวรีย์แฝดอิน-จัน ที่แม่กลอง จ.สมุทรสงคราม สิ่งที่พบคือรูปปั้นของแฝดอิน-จัน อยู่ในลักษณะที่เหมือนกับถูกทิ้งร้างอยู่ในพื้นที่แห่งหนึ่งที่ไม่มีใครดูแล สิ่งเหล่านี้กลับยิ่งทำให้มีพลังและมีความตั้งใจมากขึ้นที่จะทำให้ประวัติศาสตร์ที่มีค่าที่สุดของเมืองแม่กลอง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงประเทศต่างๆ ในยุโรปถูกพูดถึงบ้าง จึงใช้ความพยายามมากขึ้นในการค้นหาข้อมูล และในที่สุดก็ได้พบว่าข้อมูลที่ต้องการอยู่ในต่างประเทศเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นสถานที่ที่แฝดอิน-จัน ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น

ไม่เพียงเท่านั้น พล.อ.นิพัทธ์ยังมีความตั้งใจที่จะสอดแทรกเรื่องราวในอดีตที่ต่อเนื่องถึงปัจจุบันเข้าไปด้วย

“สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นข้อมูลเพิ่มเติมจากที่บางท่านได้เขียนมาบ้างแล้วก็คือ ความสำเร็จที่ผมตั้งใจมานานว่าอยากให้ทายาทของอิน-จัน ซึ่งอยู่ในอเมริกาประมาณ 1,500 คน ได้มาเยี่ยมบ้านเกิดของเขาที่สมุทรสงคราม ตั้งแต่ปี 2558 ในที่สุดก็เป็นผลสำเร็จ เมื่อทางกระทรวงการต่างประเทศบรรจุเรื่องการคืนถิ่นของทายาทแฝดอิน-จัน ในแผนงานเรื่องความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐ ครบ 200 ปี และจัดงานรำลึกขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ แม่กลองž โดยนายคันฉัตร ตันเสถียร ผวจ.สมุทรสงคราม ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นและเชิญผมเป็นที่ปรึกษา สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสาระหลักที่ผมได้เอามาใส่ในหนังสือเล่มนี้ มันคือสิ่งที่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อนที่ทายาทแฝดอิน-จัน ซึ่งทุกคนก็พยายามที่จะสอบถามว่าหน้าตาเขาเป็นอย่างไร ได้มาปรากฏตัวให้เห็น และทายาทเองก็ตื่นเต้นและมีความรู้สึกตื้นตัน เพราะตัวเขาเองไม่เคยได้รับการเชื้อเชิญเช่นนี้มาก่อนŽ”

พล.อ.นิพัทธ์กล่าวต่อว่า เพื่อให้การเยือนครั้งนี้มีความหมาย ได้มีการเสนอกับผู้ว่าฯและคณะในที่ประชุม 3 ประการ คือ 1.อยากให้มีการตั้งชื่อถนนสักสายหนึ่งในสมุทรสงครามเป็นชื่อถนนแฝดอิน-จัน 2.พยายามสืบค้นว่าบ้านเกิดของแฝดอิน-จัน ซึ่งตามประวัติที่บันทึกไว้คือเกิดบนแพริมน้ำ น่าจะอยู่แถวไหน เพื่อจะทำให้เรื่องราวของแฝดสยามดูตื่นเต้นและน่าสนใจมากขึ้น 3.เรื่องของทายาทแฝดอิน-จัน ที่อาจจะมีอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะที่แม่กลอง การสืบค้นน่าจะทำได้เพราะหลักทางการแพทย์ที่ได้ยินมาก็คือเป็นพันธุกรรมฝาแฝด หมายความว่ามีโอกาสที่จะมีลูกหรือหลานเป็นฝาแฝด เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถสืบค้นลักษณะย้อนกลับขึ้นไปดูว่าปู่ย่าตาทวดเป็นใคร ซึ่งหากเจอได้จะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก น่าจะสร้างสีสันให้เมืองแม่กลองและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงทายาทของเขาในอเมริกาด้วย

สำหรับการรวบรวมเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ พล.อ.นิพัทธ์กล่าวว่า การเขียนบทความเรื่องแฝดอิน-จัน ใช้เวลาทั้งหมด 25 ตอน 25 สัปดาห์ ต้องขอบคุณมติชนที่เปิดโอกาสให้ และประการสำคัญที่สุดคือผมแปลออกมาจากข้อความและเอกสารภาษาอังกฤษ ซึ่งสืบค้นได้จากห้องสมุดในสหรัฐอเมริกาหลายแห่ง เป็นข้อมูลที่เฉียบคมมาก และผมอยากให้ผู้อ่านและคนไทยรุ่นหลังได้เห็นก็คือภาพซึ่งมันปรากฏอยู่ในการรวบรวมจากหลายแห่งด้วยกันในสหรัฐอเมริกา

“ซึ่งหลังตีพิมพ์ได้ระยะหนึ่งก็มีผู้คน เพื่อนฝูง คนรู้จักในหลายวงการ พูดถึงและทักทายผมด้วยเรื่องแฝดอิน-จัน ขณะเดียวกันก็ได้รับแรงยุให้รวมเล่ม ผมบอกตามตรงว่าจากข้อมูลที่ได้รับทราบมาว่า ปัจจุบันเรื่องของหนังสือที่เปิดอ่านเป็นอะไรที่ไปได้ไม่สวยนัก เพราะผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมกันหมด อย่างไรก็ตาม ความคิดทั้งหมดเหล่านี้เทียบแล้วแรงยุมันมีแรงกว่า ก็เลยทำให้ผมคิดว่าต้องมุ่งมั่นและสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผมเน้นคือ เรื่องของทายาท อิน-จัน ที่มาปรากฏตัวบริเวณอนุสาวรีย์อิน-จัน ภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรปล่อยให้หายไปในประวัติศาสตร์ รวมถึงสิ่งที่ผมได้พูดคุยกับทายาทของฝาแฝดอิน-จันหลายเรื่อง สิ่งเหล่านี้มันน่าจะเป็นแก่นสาระทำให้หนังสือเล่มนี้มีคุณค่า ซึ่งเนื้อหาที่ผมเขียนและเรียบเรียงมาจะเน้นไปที่ข้อมูลใหม่ ภาพใหม่ ความรู้สึกใหม่ ที่ได้รับโดยตรงจากทายาทของแฝดอิน-จันŽ”

พล.อ.นิพัทธ์กล่าวต่อว่า หนังสือเล่มนี้มีความน่าสนใจทุกบท แต่คิดว่าบทที่ 26 บทสุดท้ายซึ่งเขียนขึ้นมาหลังได้พบทายาทของเขา จะเป็นเหมือนรอยต่อ เป็นสะพานที่เชื่อมจากปัจจุบันไปสู่อดีต และอดีตมาสู่ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และยังเชื่อว่าถ้าจะมีผลงานต่อจากเล่มนี้อีก น่าจะเป็นการถ่ายน้ำหนักมาที่ทายาทของเขาซึ่งรวมตัวกันได้ประมาณ 1,500 คน

“ผมยังติดต่อกับทายาทของฝาแฝดอิน-จันทางอีเมล์อยู่ ทางเขาก็มีใจ มีศรัทธาและความภูมิใจที่มีคนเขียนเรื่องราวของบรรพบุรษ ถ้าผมจะมีโอกาสก็ฝันว่าจะมีทีมงานได้พาคณะไปที่บ้านของแฝดอิน-จัน ที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา เพื่อจะได้พบปะพูดคุย ประกอบกับหลักฐานและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น โครงกระดูกของแฝดอิน-จัน ที่ยังเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ยังมีหนังสือเล่มหนึ่งคล้ายๆ กับหนังสือสวดมนต์ ซึ่งลูกหลานของเขาเล่าว่าเป็นหนังสือที่แม่ของปู่ทวดอิน-จัน ให้ติดตัวไว้ก่อนออกจากประเทศไทย หากได้เห็นกับตา น่าจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นหนังสือสวดมนต์จริงหรือไม่ ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าจะมีเล่มต่อไป อยากเห็นพัฒนาการเกี่ยวกับญาติของแฝดสยามที่อยู่ในอเมริกาŽ”

พล.อ.นิพัทธ์ระบุต่อว่า อยากจะให้ท่านผู้อ่านได้รับความสนุกและความรู้จากเกร็ดประวัติศาสตร์ตรงนี้จากบุคคลจริง ในห้วงระยะเวลาที่บอกอะไรกับเราหลายอย่างว่า สิ่งที่แฝดอิน-จันได้ประสบพบเห็นแม้กระทั่งทางด้านกิจการทางการแพทย์ในยุคสมัยนั้นมันถูกบันทึกเอาไว้หมด อยากให้มีหนังสือเล่มนี้เอาไว้ในห้องสมุดของสถานศึกษาหรือเก็บเอาไว้อีก 100 ปีต่อไปหนังสือเหล่านี้จะยังอยู่ มันเป็นการคงอยู่ของข้อมูล

“หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่การนำเสนอเรื่องของความประหลาดของลำตัว แต่เป็นการนำเสนอวิธีคิด เรื่องการใช้ชีวิต เรื่องของสังคมอเมริกันที่ปรากฏ รวมถึงเรื่องสงครามและความปรองดองที่อเมริกาพยายามจะสร้างขึ้นหลังสงคราม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผมเชื่อว่าเป็นความครบถ้วน เป็นความสมบูรณ์ที่อยากให้ซื้อเก็บไว้ แล้วลองอ่านหรือแค่ดูรูปก็คุ้มแล้ว”Ž พล.อ.นิพัทธ์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image