สถานีคิดเลขที่12 : ประเทศ(กรู)ไม่มี : โดย จำลอง ดอกปิก

ออกโรงทวงกฎหมายภาษีที่ดิน

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล บุกถึงถิ่น เปิดฉากกลางวงประชุม ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วย และข้าราชการระดับบริหาร

ต่อหน้า วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผู้เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

กฎหมายภาษีที่ดินฯเป็นหน้าตาของรัฐบาล คสช.

Advertisement

ครม.โชว์เด็ดเดี่ยว อย่างที่ไม่มีรัฐบาลใดกล้าทำมาก่อน มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เมื่อ 7 มิถุนายน 2559

จากนั้น 31 มีนาคม 2560 สนช.มีมติรับหลักการวาระแรก พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการฯแปรญัตติ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน

แต่นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ไม่ปรากฏความก้าวหน้า

Advertisement

หมุดหมายออกบังคับใช้ เลื่อนลอย ขยับออกไปเรื่อยๆ จากเดิมปักธง มกราคม 2561 เปลี่ยนเป็นมกราคม 62

ล่าสุด ยืดออกไปเป็นปี 2563

ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากในชั้นการแปรญัตติของคณะกรรมาธิการฯ มีการขอขยายเวลาการพิจารณาออกไปถึง 9 ครั้งแล้ว ครั้งละ 60 วัน

การขอขยายครั้งสุดท้ายมีขึ้นเมื่อ 20 กันยายนที่ผ่านมา แต่เชื่อได้แน่ว่า 20 กันยาฯไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน

รัฐบาลผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ออกมาใช้แทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือน พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่

นอกจากต้องการให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ นำมาใช้บริหารจัดการในเขตพื้นที่ของตน กระตุ้นให้เกิดการใช้ กระจายถือครองที่ดิน

ยังโชว์เอาจริง แก้ลดเหลื่อมล้ำการถือครองทรัพย์สินได้

กฎหมายนี้ภาคธุรกิจเอกชน 3 สถาบันยื่นหนังสือคัดค้านต่อประธาน สนช.อย่างเป็นทางการ

เศรษฐี แลนด์ลอร์ดก็ต่อต้านมาตลอด

ทั้งนี้ เนื่องจากหากออกมาใช้ ที่เคยเสียน้อย ก็อาจเสียเพิ่มขึ้น ที่ไม่เคยเสียอย่างบ้านที่อยู่อาศัย คฤหาสน์ผู้มีอันจะกินก็ต้องจ่ายภาษีแก่รัฐ

ว่ากันว่านี่เป็นเหตุผล เบื้องลึก เบื้องหลังไม่ซับซ้อน ที่ต้องดองแล้วดองอีก ขยายแล้วขยายอีก

และมีแนวโน้มความเป็นไปได้ไม่น้อยเหมือนกันที่ในที่สุด อาจปล่อยให้สิ้นสภาพไป ตายตกตามกันกับการสิ้นอายุขัยของ สนช.ชุดนี้

กลายเป็นตรงข้ามเพลงแร็พดัง

ประเทศ(กรู)ไม่มี กฎหมายภาษีที่ดินฯ

การที่ สนช.แม่น้ำสายหลักรัฐบาลคสช.แช่เย็นกฎหมายภาษีที่ดิน ถือเป็นเรื่องผิดวิสัยการดำเนินการของสภาชุดนี้อย่างยิ่ง

เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับร่างฉบับอื่นๆ มีการพิจารณาอย่างรวดเร็ว บางเรื่องฉับไวเสียจนกระทั่งสังคมตั้งคำถาม มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้านเพียงใด เนื่องจากแทบไม่มีเสียงทักท้วง ข้อห่วงใย เสียงต่างออกไป ที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณา ตัดสินใจ เขียน แก้ไข ปรับปรุงเนื้อหา

แต่กับเรื่องนี้กลับพิจารณาเสียยืดยาว

ทั้งที่มีผลกระทบต่อเศรษฐี ผู้มีอันจะกิน แลนด์ลอร์ดรวยกระจุกอยู่แค่หยิบมือเดียว

นี่จึงเป็นความผิดปกติอย่างยิ่ง

ถึงแม้เป็นการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็คงมิได้ตัดสินใจโดยลำพัง

การยืดขยายการพิจารณาออกไปเรื่อยๆ ได้แบบนี้

ส่งสัญญาณดองเค็ม ให้แห้งตายไปกับ สนช.แบบนี้

ผู้ที่กำกับบท ต้องมีกำลังภายในสูงส่ง ไม่อย่างนั้นคงกดปุ่มไม่ได้

ลองถึงขนาดที่ว่า หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ทำอย่างอื่นไม่ได้

นอกจากฟ้องสังคม กดดันเร่งออกกฎหมายเท่านั้น

ขบวนการแช่แข็งกฎหมายภาษีที่ดินฯ ต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ

ถึงได้กำหนดวาระ ให้ประเทศมี หรือไม่มีสิ่งใดก็ได้

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image