ที่เห็นและเป็นไป : ‘ประเทศกูมี’ที่จะตามมา

ปรากฏการณ์ของเพลง “ประเทศกูมี” ซึ่งมีผู้เข้าไปติดตามคลิปวิดีโอแบบถล่มทลายด้วยเวลาอันรวดเร็ว เป็นเรื่องที่ควรให้ความสนใจยิ่ง

“ประเทศกูมี” เป็นเพลงที่นักดนตรีแร็พวัยรุ่นไทย ทำออกมาเผยแพร่ทางยูทูบ เนื้อหาเป็นการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่รับรู้กันอยู่แล้วในสื่อ ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ทั่วไป ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร

แต่ความน่าสนใจไม่ใช่เพียงแบบ “พล.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล” ผบ.ตร.ที่ได้ออกมาบอกว่าได้สั่งการให้ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีไปเชิญนักดนตรีนักร้องที่ปรากฏในคลิปมาสอบว่ามีเจตนาอย่างไร

Advertisement

หรือเพราะ “นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” เปิดแถลงเป็นผลงานชิ้นแรกในการทำหน้าที่โฆษกรัฐบาลแทน “พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด” หรือ “โฆษกไก่อู” ที่ถูกปลดไปทำหน้าที่อื่น ว่า “รัฐบาลรู้สึกเสียใจ” กับเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” เพราะคิดว่า “เยาวชนน่าจะใช้ความรู้ความสามารถด้านดนตรีไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง”

โฆษกพุทธพงษ์มองว่าเมื่อเผยแพร่เพลงนี้ออกไป “สุดท้ายไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนที่เสียหายมากที่สุดคือประเทศไทย”

เพราะนั่นเป็นเพียงมุมมองเท่านั้นที่เกิดจากการให้ความสนใจกับข้อมูลเก่าที่มานำเสนอในรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงวัยรุ่นได้มากขึ้นเท่านั้น

Advertisement

แต่ที่ความน่าสนใจที่มากไปกว่านั้น น่าจะเป็นอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนไทยที่เปลี่ยนไป

ความเป็นไปที่เกิดขึ้นกับประเทศขณะนี้คือ เรากำลังเข้าสู่บรรยากาศ “เลือกตั้ง”

ทุกฝ่ายรับรู้ และยืนยันกันแล้วว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรืออีก 4 เดือนข้างหน้า

ในช่วงนี้การหาเสียงแม้ไม่เต็มที่แต่เริ่มคักคักในทุกพรรค

“เลือกตั้ง” ที่ประสบความสำเร็จคือ การที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิกันมากๆ

คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์มากมาย พรรคการเมืองเองต้องคิดกลวิธีกระตุ้นให้เกิดความสนใจมาให้คนออกมาใช้สิทธิกันทุกวิธี

หรือแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองยังพูดบ่อยๆ ในแทบทุกทีที่มีโอกาสยืนอยู่หน้าไมโครโฟน ว่าอยากให้ประชาชนสนใจการเมือง

เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว ประชาชนสนใจการเมือง ก็คือสนใจความเป็นไป เอาใจใส่ประเทศ ซึ่งเป็นผลดีต่อการร่วมมือร่วมใจพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น

การทำให้เยาวชนสนใจการเมือง ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะทำให้เกิดขึ้น

“เลือกตั้ง” เป็นบรรยากาศที่กระตุ้นต่อความรู้สึกถึงเสรีภาพในการมีส่วนร่วม ในการแสดงออก

วัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง นำเนื้อหาเก่าๆ ที่มีอยู่เกร่อในสังคมออนไลน์ รับรู้กันอยู่โดยทั่ว และจะว่าไปแล้ว ที่นำเสนอในแร็พ “ประเทศกูมี” ก็งั้นๆ มีเรื่องอื่นอีกมากมายที่เกิดขึ้นในประเทศและถูกบันทึกไว้ในสังคมออนไลน์ที่ดูน่าจะก่อความรู้สึกสลดหดหู่กับชะตากรรมของประเทศหนักหนาสาหัสกว่านี้เสียอีก ที่เพลง “ประเทศกูมี” ไม่ได้หยิบมานำเสนอ

ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเด็กกลุ่มนี้เห็นว่า “แรงเกินไป” ก็ได้

นี่เป็นช่วงเริ่มต้นของบรรยากาศเลือกตั้ง ที่ทั้งโลกกำลังจับตาว่า “สิทธิ เสรีภาพ” ของประชาชนไทยจะมีได้แค่ไหน

ความพยายามที่จะเข้าไปจัดการกับคลิปเพลง “ประเทศกูมี” จึงน่าสนใจยิ่ง

“เสรีภาพ” เฉพาะที่ผู้มีอำนาจเห็นดีเห็นงาม หรือเสรีภาพที่ประชาชนคิดว่าแสดงออกได้ อย่างไหนเป็นความเหมาะสม

ที่สำคัญกว่านั้นคือ ทุกการกระทำย่อมตามด้วยปฏิกิริยา

เมื่อ “รัฐบาล” ซึ่งย่อมหมายถึง “ผู้กุมอำนาจ” ออกมาจัดการกับสิทธิเสรีภาพของคนรุ่นใหม่จนกลายเป็นการกระตุ้นความรู้สึกว่า “พวกเขาถูกตัดสิน” ด้วยมุมมองที่เข้าใจและยอมรับได้ยาก

แถมการตัดสินนั้นกลับกลายเป็นแรงกระตุ้นต้านกลับให้เนื้อหาที่ถูกตัดสินนั้นเป็นที่สนใจให้วงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว

กระทั่ง เนื้อเพลง “ประเทศกูมี” นี้ถูกใส่คำแปลเป็นตัวหนังสือไปหลายภาษา

ไม่ใช่ติดตามกันเฉพาะในประเทศไทยเราแล้ว

การเป็นผู้ผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่ไปทั่วโลกยุคนี้เป็นเรื่องที่ทำให้ง่ายดายมาก

กระแสที่เกิดขึ้นและได้รับการตอบรับอย่างแรง ย่อมเป็นเหตุผลที่จะทำให้เกิดการผลิตตามอย่างขึ้นมาอีก

การจัดการในรูปแบบเร่ง “ตัดสินเสรีภาพ”

บางที่อาจไม่ใช่ผลดี

และจะเป็นประสบการณ์ที่ “โฆษกรัฐบาลมือใหม่” จะต้องเรียนรู้

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image