นักวิชาการระบุ ‘ประเทศกูมี’ เป็นมุมมองคนรุ่นใหม่-ต้องยอมรับความจริง ชี้ถ้ารัฐไม่ยุ่งคงไม่ดังเเบบนี้

ถึงเวลาต้องยอมรับความจริง นักวิชาการชี้ ‘ประเทศกูมี’ เป็นมุมมองคนรุ่นใหม่-ส่อความเบื่อหน่ายรัฐ ยืนยันหากรัฐไม่ออกมาตอบโต้ เพลงนี้คงไม่เป็นกระแส

จากกรณีที่บทเพลง ประเทศกูมี ของ RAP AGAINST DICTATORSHIP ที่กลายเป็นเรื่องพูดถึงในโลกออนไลน์อย่างมากในขณะนี้ ผู้สื่อข่าว “มติชน” รวบรวมความเห็นจากนักวิชาการต่อกรณีดังกล่าว

ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ให้สัมภาษณ์ ”มติชนŽ” ว่า เพลงประเทศกูมีเป็นมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์และข้อมูลทางการเมือง แล้วออกมาบ่นดังๆ ต้องบอกว่าไม่ได้ทำเพราะความคึกคะนอง และไม่ได้พูดถึงเพียงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง พูดถึงทั้งระบบซึ่งค่อนข้างล้มเหลว มองว่าประเทศเราทำรัฐประหารบ่อยมาก มีการทำร้ายผู้ชุมชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน มีการทุจริตเกิดขึ้นในระบบมากมาย มีการเลือกปฏิบัติ มีการแตกแยกทางความคิดของผู้คนอย่างรุนแรง ซึ่งทั้งหมดที่อยู่ในเพลงและต้องยอมรับว่าเป็นความจริง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าคนที่ฟังจะยอมรับความจริงตรงนี้ได้หรือเปล่า 

“พอได้ฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกว่ามีความหวังกับคนรุ่นใหม่ ที่คนมักจะชอบพูดถึงคนรุ่นนี้ว่าไม่สนใจการเมือง สนุกสนานไปกับชีวิตไปวันๆ ไม่ตระหนักถึงความรับผิดชอบของบ้านเมือง แต่คนกลุ่มนี้ที่ทำขึ้นมาไม่ใช่เลย และการเสนอไม่ได้เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน แต่เพื่อให้เห็นปัญหา ฉะนั้นผู้ใหญ่ที่ได้ฟังเพลงนี้ต้องกลับมาคิดว่าสิ่งที่คนรุ่นใหม่ได้ถ่ายทอดมันคือมรดกที่คนรุ่นเก่าได้สร้างไว้และทำให้ระบบของเมืองไทยล้มเหลวอย่างทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่ต้องเปิดใจรับฟังŽ” ดร.นันทนากล่าว

Advertisement

นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า สาเหตุที่เพลงประเทศกูมีกลายเป็นกระแสโด่งดังในขณะนี้ เพราะมันเกิดขึ้นมาในเวลาที่ความเบื่อหน่ายของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลมีสูงมากจากหลายเรื่อง อย่างเรื่องเศรษฐกิจ รวมไปถึงความรู้สึกว่ารัฐบาลมีพฤติกรรมการแข่งขันเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม ยังมีเรื่องของการใช้อำนาจรัฐเพื่อฝ่ายที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลในแง่มุมต่างๆ ที่มีการพูดถึงและสร้างความเบื่อหน่ายต่อรัฐบาลอย่างมากในช่วงนี้ อีกทั้งการตอบโต้ของรัฐบาลยิ่งทำให้เป็นกระแสมากขึ้นด้วย เพราะวิธีที่รัฐบาลใช้จัดการกับเรื่องนี้มันก้ำกึ่งกับการที่ทำให้สังคมรู้สึกว่าเป็นเรื่องของการใช้อำนาจรัฐจัดการกับคนที่รัฐบาลไม่พอใจ ทั้งการออกมาระบุว่ารัฐบาลเสียใจที่คนรุ่นใหม่ทำเพลงที่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย และมีการออกมาบอกว่า จะดูว่ามีความผิดทางกฎหมายหรือไม่ หลังจากนั้นยังมีการระบุว่าใครแชร์เพลงนี้มีความผิด

“ดังนั้น ภาพที่สังคมรับรู้คือรัฐบาลใช้ความเป็นผู้มีอำนาจรัฐส่งสัญญาณไปยังเจ้าหน้าที่ที่ต้องรักษากฎหมายให้ดำเนินคดีกับเพลงนี้ตามที่รัฐบาลต้องการ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่แค่ความไม่พอใจรัฐบาล แต่มันมีความรู้สึกว่ามีการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลไม่ออกมาตอบโต้แต่แรกเพลงนี้ก็คงไม่เป็นกระแสมากขนาดนี้ เพราะโดยตัวเพลงเองหรือตัวรูปแบบของการทำเพลงมันไม่สามารถดึงความสนใจของคนได้มาก เป็นเพลงที่มีลักษณะเฉพาะกลุ่มค่อนข้างสูง ยังมีความก้ำกึ่งกับเพลงใต้ดิน เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีท่าทีของรัฐแบบนี้ก็อาจจะมีคนสนใจไม่มากขนาดนี้แน่นอน ซึ่งความสนใจที่เกิดขึ้น 1.มาจากการอยากรู้ว่าทำไมรัฐบาลต้องดำเนินคดี 2.มาจากความรู้สึกว่ารัฐบาลใช้อำนาจรัฐรังแกคนอื่นอย่างไม่เป็นธรรม”Ž นายศิโรตม์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image