‘สมชัย’ หวั่นประกาศ ป.ป.ช. เกณฑ์ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ทำสถาบันการศึกษารัฐวุ่น

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีประกาศ ป.ป.ช. เรื่องการกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐมีการกำหนดให้ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายตำแหน่งจะต้องดำเนินการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สิน ว่า ประกาศ ป.ป.ช.เรื่องการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบางตำแหน่งต้องแจ้งทรัพย์สินแก่ ป.ป.ช.ที่ออกมานั้นได้ครอบคลุมตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วย นอกจากตำแหน่งอธิการบดีและตำแหน่งรองอธิการบดีที่เคยต้องแจ้งมาในอดีต จนเป็นเหตุให้รองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยรัฐบางแห่งประกาศลาออกยกทีม จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่ามีอะไรไม่โปร่งใสหรือไรจึงต้องลาออก ทั้งๆ ที่เหตุผลที่แท้คือรำคาญที่ทำงานเสียสละให้มหาวิทยาลัยแล้ว ยังต้องมาแจ้งทรัพย์สิน ประกาศต่อสาธารณะ แจ้งไม่ครบหรือเผอเรอยังอาจเจอคดีอาญา

นายสมชัย กล่าวต่อว่า ประกาศคราวนี้ครอบคลุมกว้างไปถึงนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภา ซึ่งเป็นตำแหน่งในเชิงนโยบายกำกับการทำงานของอธิการบดีอีกทีหนึ่ง ความเหมาะสมของเรื่องดังกล่าว คือ สามารถไปบอกชาวโลกได้ว่า ประเทศของเราโปร่งใส แม้ตำแหน่งที่ไม่ใช่บริหารเพียงแค่กำกับนโยบาย เรายังบังคับให้แจ้งทรัพย์สิน ดูดีที่จะไปสื่อสารกับชาวโลก แต่กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งคือผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นเลยจากการทำงานประจำ บางท่านสูงอายุแต่ยังมากด้วยประสบการณ์และปรารถนาจะช่วยเหลือสร้างความเจริญให้แก่มหาวิทยาลัย จึงปวารณาตัวเข้ามาเป็นกรรมการสภา ด้วยเบี้ยประชุมไม่กี่พันบาท ไม่มีสิทธิพิเศษอะไร ไม่มีทีมงาน ไม่มีเลขาส่วนตัวที่จะมานั่งกรอกรายการบัญชีทรัพย์สินไม่ว่าจะมากหรือจะน้อย แถมยังต้องประกาศต่อสาธารณะว่ามีทรัพย์สินเท่าไร ไม่ว่าจะน้อยหรือจะมากก็คงไม่อยากประกาศให้โลกรู้

“หากแจ้งไม่ครบ เช่น ยืมเพื่อนมาแต่มาโชว์ให้คนอื่นเห็น ก็เป็นเรื่องเป็นราวต้องแก้ตัวกันพัลวันเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยแก่สังคม หรือหากตกหล่นจริงอีกก็จะกลายเป็นความคดีอาญาถึงขั้นติดคุกติดตารางได้ ทั้งนี้ มีเวลา 30 วันหลังจากประกาศ ป.ป.ช. หากไม่ยื่นก็ต้องลาออก เชื่อว่าวันนี้ใบลาออกของกรรมการสภามหาวิทยาลัยเกินกว่าครึ่งของกรรมการสภาทุกมหาวิทยาลัยคงพิมพ์เสร็จแล้ว เพื่อรอยื่นก่อนสิ้นเดือนนี้ เป็นการลาออกที่มิใช่หนีการตรวจสอบแต่เพราะรำคาญกับระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่จำเป็น มหาวิทยาลัยรัฐทุกแห่งจะมีกรรมการสภาเหลือไม่ถึงครึ่ง จะประชุมได้หรือไม่ วาระต่างๆจะคั่งค้างไปอีกกี่เดือนกว่าจะสรรหาคนใหม่มา เรื่องสำคัญต่างๆของมหาวิทยาลัยที่ต้องตัดสินใจโดยสภาจะถูกชะลอออกไปอีกถึงเมื่อใด วันนี้ ขอเสนอสิ่งที่เป็น Worst case scenario ขออย่าได้เป็นจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image