บทความ กฎหมายกับการปฏิรูปพรรคการเมือง โดย : ดร.ธวัชชัย พิกุลแก้ว

กฎหมายในการปฏิรูปพรรคการเมือง จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใดๆ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้น อันใช้บังคับมิได้

การปฏิรูปพรรคการเมือง อยู่ในหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 258 ว่าด้วยด้านการเมือง พอสรุปว่าการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้

ดังนั้น กิจกรรมพรรคการเมือง เป็นไปโดยเปิดเผยนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ มีการประชุมพรรคการเมือง หลายพรรคก็มีการเปิดเผยอย่างชัดเจนว่า ใครจะหนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นรัฐบาล การปฏิรูปพรรคการเมืองในเรื่องนี้ จึงเป็นไปโดยเปิดเผยและชัดเจน

ส่วนกิจกรรมพรรคการเมือง สามารถตรวจสอบได้นั้นจะลำบากมากเพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็เพิ่งเริ่มทำงาน และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้น ปัจจุบันยังต้องปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2561 เกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งเป็นคำสั่งโดยชอบกฎหมายตามมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

Advertisement

ได้ติดตามข่าวหนังสือพิมพ์มติชนรายวันว่ามีพรรคการเมืองหนึ่งมีการประชุมเลือกหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และโฆษกพรรค โดยมีชื่อ 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันเป็นผู้บริหารพรรคการเมือง จากหนังสือพิมพ์มติชนวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม 2561 หน้า 10 ในหัวข้อ “สดศรี” แนะ 4 รมต. แสดงสปิริต, ชี้ไม่ควรสวมหมวก 2 ใบ เวลาเดียวกัน ดังนั้น กระผมเห็นว่าการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันกับการดำรงตำแหน่งผู้บริหารพรรคการเมืองกฎหมายมิได้ห้ามไว้ก็จริง แต่การปฏิรูปพรรคการเมืองให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ มีหลักธรรมาภิบาล น่าจะออกจากตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ให้เหลือเพียงตำแหน่งเดียว สาเหตุเพราะจะได้ไม่ใช้อำนาจทางการเมือง (Political power) เอาเปรียบพรรคอื่น อาจจะนำไปสู่อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม (Undue influence) เป็นการเมาอำนาจ (To be drunk with power) และถ้าถึงขั้นการใช้อำนาจบาตรใหญ่อำนาจทางการข่มขี่ (oppsessing power) บ้านเมืองจะวุ่นวายแน่นอน จริงอยู่การดำรงตำแหน่งในรัฐบาลจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมือง นั่นเป็นคำพูด แต่หลักปฏิบัติแล้วข้าราชการคนไหนจะกล้าคัดค้าน อีกอย่างหนึ่งถ้ารัฐบาลมีผลงาน คนที่ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลก็จะโยงไปที่พรรคการเมืองที่ตนดำรงตำแหน่งอยู่ ว่ามีผลงานเหมือนรัฐบาล จะมีลักษณะเป็นกฎแห่งกรรม (Reciprocal deeds) คือ กรรมดีได้ดี กรรมชั่วได้ชั่ว คือถ้ารัฐบาลทำดีมีผลงาน พรรคการเมืองนั้นก็ได้รับการสนับสนุนมาก แต่ถ้ารัฐบาลทำไม่ดี ไม่มีผลงาน พรรคนั้นก็จะเสื่อมศรัทธาไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร

ปฏิรูปพรรคการเมืองเกี่ยวกับการให้มีกลไกที่กำหนดความรับผิดชอบของพรรคการเมือง ในการประกาศโฆษณานโยบาย ที่มิได้วิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้านในการปฏิรูปพรรคการเมืองในเรื่องนี้ พรรคการเมืองต้องระมัดระวัง เพราะถ้าท่านดำรงตำแหน่งในรัฐบาลปัจจุบันกับดำรงตำแหน่งผู้บริหารพรรคการเมือง โดยสวมหมวก 2 ใบ พรรคการเมืองนั้นจะประกาศนโยบายพรรคการเมืองอย่างไร เพราะนโยบายจะเกี่ยวข้องกับที่ตนดำรงตำแหน่งในรัฐบาลจะขัดแย้งพรรคการเมืองไม่ได้ จะเป็นลักษณะข้างๆ คูๆ เอาข้างเข้าถู (adjacent, by the side of) พรรคการเมืองต้องวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน โดยใช้อำนาจอธิปไตย (sovereign power) อย่างแท้จริง โดยเข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง (To stand for election) อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมตามหลักธรรมาภิบาล

สรุปและข้อเสนอแนะ

Advertisement

พรรคการเมืองควรระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และควรแยกจากกันจากตำแหน่งในรัฐบาลกับตำแหน่งทางการเมือง อย่าสวมหมวก 2 ใบ ซึ่งจะนำไปสู่การทำผิดกฎหมายในอนาคตได้ มีโทษที่รุนแรงทั้งตนเองและพรรคการเมือง และลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาล ให้เหลือตำแหน่งในพรรคการเมืองตำแหน่งเดียว จะได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายอย่างดี เพราะจะได้ไม่เอารัดเอาเปรียบพรรคอื่น

รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีธรรมาภิบาลส่งเสริมซึ่งกันและกัน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน สร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีกลไกแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง อย่าเลือกปฏิบัติและละเว้นปฏิบัติอย่างเด็ดขาด

ดร.ธวัชชัย พิกุลแก้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image