ยื่นบช.ทรัพย์สิน โดน “ยาแรง” แล้ว “อย่าร้อง”

น่าเห็นใจบรรดากรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ออกมาเรียกร้อง และเตรียมลาออกจากตำแหน่ง
เพราะไม่ต้องการเข้ามารับความเสี่ยงจากการทำผิดกฎหมาย
รวมถึงอาจจะต้องยุ่งยากในการปฏิบัติ
กรณีต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐ
ไม่เฉพาะของตัวเอง แต่ทั้งภรรยาทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียน
จึงอาจจะมองว่าไม่อยากยุ่งยากปวดหัว ต้องเอาเรื่องในครอบครัวไปประจานให้คนอื่นรู้คนอื่นเห็น
เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)
เป็นบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ร่างโดย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน
และก็มีกระแสข่าวว่านายมีชัย ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์(มรร.) พร้อมกรรมการจากคนนอก
ก็เตรียมยื่นหนังสือลาออกจากมรร.ด้วยเช่นกัน
ประกาศป.ป.ช. ฉบับดังกล่าวนี้ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธันวาคม 2561
แต่ก่อนจะมาถึง ณ วันนี้ มีกระบวนการพิจารณามาเป็นขั้นตอน
ทุกคนรับรู้รับทราบมาโดยตลอดว่า กฎเหล็กเรื่องนี้จะมีผลบังคับกับใคร อย่างไรบ้าง
ในเมื่อเราอยากได้กฎเกณฑ์แบบเข้มข้น เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิวัติ
ในเมื่อกฎหมายเขียนไว้อย่างไร ก็ควรปฏิบัติตามนั้น
แล้วอย่างนี้จะเขียนกฎหมายไปเพื่ออะไร ถ้าเขียนแล้วยังไม่ทันได้ใช้ ก็อยากจะแก้ อยากจะเลิกกันแล้ว
หรือมองอีกมุม การเขียนกฎหมายออกมาแล้ว ไม่สามารถปฏิบัติได้ แล้วจะเขียนออกมาเพื่ออะไร
คงไม่ใช่เขียนเพื่อเอามาเป็นข้ออ้าง หรือมาใช้เป็นเหตุผล ให้น้ำหนักของการปฏิวัติยึดอำนาจ ดู”ขลัง”ขึ้น
แต่เมื่อถึงเวลาจริงแล้ว ทุกอย่างล้วนเป็นข้ออ้างทั้งนั้น
ในเมื่อบรรดากรรมการสภามหาวิทยาลัย ถือว่าเป็นตำแหน่งทางปกครอง
ก็ต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ
ทำไมข้าราชการคนอื่นๆ กรรมการสถาบันอื่นๆ อีกมากมายถึงทำได้
ใครปฏิบัติไม่ได้ หรือไม่เต็มใจปฏิบัติ ก็ควรออกไป ให้คนอื่นที่มีความพร้อมเข้ามาทำหน้าที่แทน
เชื่อว่ามหาวิยาลัยต่างๆ คงไม่ถึงขั้นจะหาคนดีมีความสามารถ และพร้อมทำเพื่อสังคม เข้ามาทำงานแทนไม่ได้
แต่ไม่ใช่มาหาเรื่องขอใช้ม.44 ขอยกเลิก ขอเลื่อน ขอผ่อนผัน ออกไป
ก็ไหนอยากได้กฎข้อบังคับการป้องกันการทุจริตแบบเข้มข้นกันนัก
โดน”ยาแรง”แล้ว”อย่าร้อง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image