ตั้งแถว แนวรบ : ยืม ‘หอก’ สนอง ‘คืน’ : กลับไปยัง คสช.

แรกที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประกาศจะแยกตัวจากพรรคเพื่อไทยเพื่อไปจัดตั้ง “พรรคประชาชาติ” อย่าง เป็นเอกเทศ

ก็เริ่มปรากฏ “ร่องรอย” แห่ง “กลยุทธ์”

แม้จะมีบางฝ่ายมองเห็นด้านที่ “แม่น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ” กระทั่ง

บางฝ่ายมองเห็นว่าเป็นสภาวะระส่ำระสาย

Advertisement

แต่หากจับท่าทีของแกนสำคัญในพรรคเพื่อไทย ก็จะจับความนัยได้

ไม่ว่าจะเป็น นายภูมิธรรม เวชยชัย ไม่ว่าจะเป็น นายวัฒนา เมืองสุข ไม่มีความโกรธแค้นและเคืองขุ่น ตรงกันข้าม ต่างอวยชัยให้พรเป็นอย่างดี

ยิ่งเมื่อมีนาม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ยิ่งเห็นได้ชัด

Advertisement

จากนั้น จึงค่อยมีการเปิดเผยกรณีพรรคเพื่อธรรม ตามมาด้วยพรรคเพื่อชาติ และยิ่งอึกทึกครึกโครมเมื่อพรรคไทยรักษาชาติปรากฏตัว

ภาพของพรรคอันเป็น “พันธมิตร” ในแนวร่วมจึงพาเหรดกันขึ้นมา

ถามว่าปรากฏการณ์พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชาติ และล่าสุดพรรคไทยรักษาชาติ มีเป้าหมายอะไรในทางการเมือง

เพราะพรรคเหล่านี้มิได้เป็น “ปรปักษ์” กัน

พรรคเหล่านี้ประกาศแนวทางอย่างเปิดเผย 1 ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารไม่ว่าเมื่อปี 2549 ไม่ว่าเมื่อปี 2557 ก็ตาม

และ 1 ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของ คสช.

ยิ่งกว่านั้น หากมองผ่านตัวบุคคลก็จะเห็นถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นและเด่นชัด เหมือนไม่ได้ต้องการปิดบังอำพรางอะไร

เริ่มตั้งแต่ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช เป็นบุตร นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช

ตามมาด้วยบุตรของ นายยงยุทธ ติยะไพรัช นั่งเป็นเลขาธิการพรรค ตามมาด้วยบุตร นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นกรรมการบริหารพรรค

นี่คือความต่อเนื่องจากไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย

ที่เคยมองและประเมินว่าพรรคเพื่อไทยแตกแยกจนถึงขั้นระส่ำระสาย ไม่เพียงเพราะมี “พลังดูด” จากกลุ่มสามมิตรไปให้กับพรรคพลังประชารัฐ

หากแต่ยังขัดแย้งกันเองภายใน

ข่าวลือที่ออกมาตลอดเวลาคือ การไม่ลงตัวในเรื่องหัวหน้าพรรค จะเอาคนในตระกูลชินวัตร หรือเอาคนนอก

มาถึง ณ วันนี้ก็เด่นชัดว่าเป็นเรื่องคิดเอง เออเองทั้งสิ้น

เพราะการเกิดของพรรคประชาชาติ การเกิดของพรรคเพื่อธรรม การเกิดของพรรคเพื่อชาติ และการเกิดของพรรคไทยรักษาชาติ อาจสรุปได้ว่า

มีการวางแผน ดำเนินการอย่างเป็นระบบ

นี่คือการจัดขบวนทัพพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชาติ และพรรคไทยรักษาชาติ เพื่อต่อกรกับพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคพลังธรรมใหม่

ระหว่างพรรคตระกูล “เพื่อ” กับพรรคตระกูล “พลัง”

ที่น่าสนใจก็คือ ยุทธวิธีการตั้งแถวของพรรคตระกูล “เพื่อ” มีรากฐานมาจากยุทธวิธีการตั้งแถวของพรรคตระกูล “พลัง”

และทั้งหมดเป็นผลจาก “รัฐธรรมนูญ”

เป็นการทำความเข้าใจต่อเส้นสนกลในและเจตนารมณ์โดยพื้นฐานที่ดำรงอยู่ภายในบทบัญญัติของ “รัฐธรรมนูญ” อันเป็นปัญญาประดิษฐ์จาก “คสช.”

เท่ากับเป็นการ “ยืมหอก” สนองคืนไปยัง “คสช.”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image