ที่เห็นและเป็นไป : ‘เกมต่อ’จากเลือกตั้ง

การเลือกตั้งซึ่งทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องยืนยันว่าจะมีขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า คือเข้าคูหากาบัตรกันในช่วงปลายกุมภาพันธ์ 2562

ชัดเจนว่าเป็นศึก 3 ก๊ก ที่มีการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเส้นแบ่งเขตแดน หรือเป็นตัวบ่งชี้สังกัดก๊ก

ก๊กแรก คือ กลุ่มพรรคการเมืองที่ประกาศตัวแข็งขันว่าตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน คสช.ให้เป็นรัฐบาลต่อไป    หรือเพื่อปูทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก

ที่เป็นพรรคใหญ่ๆ เคลื่อนไหวแรงๆ ก็มีพรรคพลังประชารัฐ ที่ก่อตั้งโดยทีมงานของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์   กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ และบริวาร และพรรคอื่นที่ความเคลื่อนไหวจาง ลงไปจนนึกชื่อไม่ออกกันแล้วอย่างของ ไพบูลย์ นิติตะวัน

Advertisement

ก๊กที่สอง คือ กลุ่มพรรคที่ประกาศแข็งกร้าวว่า ไม่ร่วมสังฆกรรมกับอำนาจเผด็จการหรือการสืบทอดอำนาจของเผด็จการเด็ดขาด มีพรรคเพื่อไทย และเครือข่ายที่งอกมาอีกหลายพรรค กับพรรคอนาคตใหม่เป็นหัวขบวน มีพรรคใหม่อีกหลายพรรคที่ชัดเจนว่ายืนหยัดในกลุ่มนี้

ส่วน ก๊กที่สาม นั้นเป็นกลุ่มพรรคที่วางตัวเองไว้เป็นตัวเลือกของผู้ชนะ ประกาศความพร้อมที่จะร่วมกับ      ใครก็ได้ หากได้รับเงื่อนไขที่พอใจ มีพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคอื่นๆ ที่เป็นพรรคเก่า  ทำพรรคให้เป็นแค่ตัวประกอบของอำนาจ ใครก็ได้ที่อวยอำนาจให้ในเงื่อนไขที่รับได้ พร้อมร่วมทั้งนั้น

ประชาชนจะถูกโน้มน้าวให้เลือกตามกรอบ 3 ก๊กที่ว่านี้ โดยแต่ละก๊กย่อมพยายามหาเหตุผลมาจัดใส่ความคิดของประชาชนว่า แนวทางของตัวเองดีกว่าอย่างไร

Advertisement

เพราะสมรภูมิอยู่ที่ “การสืบทอดอำนาจของ คสช.”

และผลการเลือกตั้ง ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

แม้ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินให้ตัวเองเป็นฐานที่มั่นคงของก๊กใดไปแล้ว แต่สำหรับประชาชนส่วนใหญ่  ต้องตัดสินใจเลือกด้วยเงื่อนไข “หนุนหรือต้าน” การสืบทอดอำนาจของ คสช.

เมื่อความจริงมีอยู่ว่า “คสช.บริหารประเทศมาแล้ว 5 ปี”

ดังนั้น การตัดสินใจที่จะ “หนุนหรือต้านการสืบทอดอำนาจ” ปัจจัยหลักที่จะใช้ตัดสินใจของคนส่วนใหญ่จึงแค่มองไปที่ผลงาน 5 ปีที่ผ่านมา ว่าตรงไหนพอกระตุ้นให้รู้สึกว่าน่าพอใจบ้างหรือไม่ หรือมองไปที่ชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองและครอบครัว ว่ารู้สึกดีขึ้นหรือเลวร้ายลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าจะตัดสินใจยาก

และอาจบางทีความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาได้สะท้อนแนวโน้มบางประการให้เห็นบ้างแล้ว

หากโฟกัสไปที่ก๊กแรกกลุ่มพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ มองเจาะไปที่ท่าทีของประชาชนต่อการปรากฏตัวของผู้นำ 2 พรรคหลักของกลุ่ม

สำหรับ “พรรคพลังประชารัฐ” ภาพอาจจะไม่ชัด เพราะเป็นการเคลื่อนไหวลงพื้นที่แฝงไปกับบทบาทของรัฐบาล อันมีเครือข่ายข้าราชการ โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นตัวจัดการ ควบคุมภาพที่ออกมาให้อยู่ในจุดที่ปลอดภัยตามวัฒนธรรม “เปิดปุ๊บติดปั๊บ” ของ “นักปกครองแบบไทยไทย”

แต่หากมองไปที่ “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” ที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจ่าฝูง ออกทำพิธีคารวะแผ่นดิน อันเป็นงานมวลชนแบบดิบๆ มากกว่า ท่าทีตอบรับของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้สะท้อนแนวโน้มให้เห็นไม่น้อยว่า ความเป็นจริงในความคิดของประชาชนต่อศึกเลือกตั้งแบบ 3 ก๊กครั้งนี้ผลจะออกมาเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ได้พูดตอกย้ำอยู่หลายครั้งทำนองว่า “ประเทศจะคืนกลับสู่ประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย”

ซึ่งย่อมตีความได้ว่า “การจัดตั้งรัฐบาลในข้ออ้างประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามผลการเลือกตั้ง”

โดยในความเป็นจริง กติกาโครงสร้างอำนาจของประเทศทั้ง “รัฐธรรมนูญ” ที่เป็นกฎหมายสูงสุดและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ย่อมเป็นปัจจัยที่ใช้เป็นข้ออ้างประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี

ในหลักคิด “ประชาธิปไตยต้องเคารพกฎหมาย ย่อมหนักแน่นกว่าผลการเลือกตั้ง”

แม้ว่า “กฎหมาย” ที่เอามาอ้างนั้น มีเจตนาชัดเจนว่า “ไม่เคารพอำนาจประชาชน”

“อำนาจประชาชน” อันเป็นหัวใจของประชาธิปไตย

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image