รายงาน : วิพากษ์…สังคมไทย ยุคเปลี่ยนผ่าน‘ปชต.’

หมายเหตุ – ส่วนหนึ่งของเนื้อหาการเสวนาวิชาการ จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง ประชาธิปไตยไทย : ก้าวย่างเพื่อการพัฒนา เป็นการนำเสนอมุมมองของผู้ทรงคุณวุฒิและอภิปรายร่วม เรื่อง เราเรียนรู้อะไรจากการขับเคลื่อนประชาธิปไตยที่ผ่านมา และเราจะร่วมเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยไทยไปด้วยกันได้อย่างไร ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Advertisement

เหตุการณ์ 14 ต.ค.16 หรือ 6 ต.ค.19 คือตำนาน คือภาพในวิดีโอการชุมนุมของคนเป็นแสนคือเรื่องเล่าของคนรุ่นเก่า ผมไม่นึกว่าจะเกิดการยึดอำนาจและเหตุการณ์การนองเลือดอีก ความจริงตอนที่รัฐธรรมนูญ 2540 ประกาศใช้ไทยถูกจับตามองว่าเป็นดาวรุ่งที่ประชาธิปไตยประสบความสำเร็จกระทั่งเกิดรัฐประหารปี 2549 เราตกอยู่ในวงจรที่ไปไหนไม่ได้เลย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเฉพาะการยึดอำนาจครั้งล่าสุดถือว่านานที่สุดหลัง 4 ปีกว่าแล้วยังไม่ทราบวันเลือกตั้ง หลายคนสงสัยว่ายังมีการเลือกตั้งหรือไม่ ยังไม่รวมกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลงเลือกตั้งด้วยหรือไม่

คำถามคือ ประชาธิปไตยเป็นของดี แต่ไม่เหมาะกับคนไทยหรือไม่ คนจำนวนมากเชื่อเช่นนั้น ประชาธิปไตยมีแล้วก็วุ่นวาย ทำให้คิดว่าไม่ต้องมีประชาธิปไตยหรอก นี่เป็นผลว่าทำไมรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ถึงมีได้ทั้งๆ ที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยลง แต่ผ่านประชามติได้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะคนอยากให้มีเลือกตั้ง คนจำนวนมากเข้าใจว่าประชาธิปไตยหมายถึงเสรีภาพในการเลือกรัฐบาล ขอเพียงรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ผมเชื่อว่าคนไทยไม่ได้รักระบอบเผด็จการ แต่เขาเบื่อนักการเมืองมากจนพาลเบื่อประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงการปกครองของนักการเมือง แม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง แต่คือประชา+อธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ระบอบที่ประชาชนปกครองตัวเอง เป็นเจ้าของประเทศ นักการเมืองเสมือนกับว่า หากประเทศไทยคือบริษัท เราถือหุ้นคนละ 1 หุ้น ต้องมีผู้จัดการมาบริหารบริษัทให้ แต่คนควบคุมผู้จัดการคือเจ้าของหุ้น หากผู้จัดการบริหารไม่ดีก็เปลี่ยน

ดังนั้น การเลือกผู้จัดการมาปกครองประเทศ ไม่ได้หมายความว่ามาปกครองเรา ส่วนพรรคการเมืองเสมือนเอาต์ซอร์ส ชอบของบริษัทไหนก็เลือกบริษัทนั้น และเจ้าของประเทศก็ไม่ใช่เอาแต่เสียงข้างมากเข้าว่า
มิเช่นนั้นประชาธิปไตยก็ไม่ต่างจากกฎหมู่ ถ้ามีหลักการปกครองในเสียงข้างมาก แต่ต้องเคารพเสียงข้างน้อย ฟังเหตุผล ส่วนเสียงข้างน้อยมิได้มีไว้ยกมือแพ้ แต่มีไว้ต่อรอง เจรจา ทำให้ประชาธิปไตยประสบความสำเร็จ แต่เราไม่ประสบความสำเร็จทั้งเสียงข้างมากและข้างน้อย สุดท้ายออกมาที่ถนน ม็อบแข่งกันว่าใครมีคนมากกว่ากัน แต่สุดท้ายผู้ที่มีกำลังมากที่สุดในบ้านเมืองก็คือทหาร เมื่อปกครองกันไม่เป็นก็ถูกปกครอง

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการรัฐประหาร 2557 มีรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งปัญหาเดิมยังไม่ได้แก้ ส.ส.ยังต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่การบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคทำให้ผู้แทนปวงชนต้องตกอยู่ในอำนาจของพรรคการ
เมือง ในโลกนี้มีไทยประเทศเดียวที่ทำเช่นนี้ ส.ส.ควรสังกัดพรรค ส่วนประชาชนอยากเลือก ส.ส.ที่สังกัดพรรคหรือไม่เป็นเรื่องของเจ้าของประเทศ เรื่องนี้เราผิดพลาดมาตลอด และบัดนี้ก็ยังไม่แก้ ที่สำคัญคือการเปลี่ยนผ่าน 5 ปีให้การเมืองไทยเป็นแบบไฮบริด เรามี 2 สภา ประเทศไทยขับเคลื่อน 2 เครื่องยนต์ เครื่องยนต์แรกคือสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วยระบบการเลือกตั้งที่ประหลาด กับอีก 1 เครื่องยนต์คือ วุฒิสภาซึ่งมาจาก คสช.เป็นผู้เลือก และ 2 สภานี้ร่วมกันเลือกนายกรัฐมนตรี

ฟุตบอลอยู่ในอันดับ 100 กว่าๆ คนก็เชียร์ แต่ประชาธิปไตยอยู่ 60 กว่า ดังนั้นประชาธิปไตยไทยดีกว่าเยอะ หากเป็นนักศึกษาก็ได้เกรดซี แม้ยังไม่ดีแต่ถ้าเราช่วยกันดูอาจขึ้นเป็นซีบวกหรือบีได้ แต่เกรดซีถูกพักการเรียนมา 4 ปีกว่า ไม่ได้เข้าห้องเรียน เราไม่ดีมากอย่างที่ต้องการ แต่ไม่ได้แย่มาก และที่ประชาธิปไตยล้มเหลว เพราะคนไทยจำนวนมากไม่เชียร์ประชาธิปไตย เมื่อไม่เชียร์ ไม่สนับสนุน เมื่อมีปัญหาก็หันไปวิธีอื่น เราทำแบบนี้มา 13 ครั้งแล้ว หากอยากกลับสู่ระบอบการปกครองที่ประชาชนคือเจ้าของประเทศ เราต้องเรียนรู้ว่าที่ผ่านมาเราผิดพลาด เราไม่ยอมว่ากันตามกติกา ไม่เคารพกันอย่างเพียงพอ ผมยังมีความหวังว่าเราทำได้ เพียงแต่อย่าทำอย่างที่ผ่านมา

ประจักษ์ ก้องกีรติ

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ถามว่าทำไมวิกฤตประชาธิปไตยไทยถึงผันผวน ผมขอโยงกับปรากฏการณ์ “การแบ่งแยกแตกขั้วร้าวลึก” เนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมในโปรเจ็กต์วิจัยที่รวบรวมนักวิชาการหลายสิบประเทศจากทั่วโลก สังเกตปรากฏการณ์โลกทางการเมืองที่เป็นจริงในช่วงหลัง และเห็นว่าประชาธิปไตยถดถอยทั่วโลก แม้แต่อเมริกาหรือประเทศในยุโรปก็เผชิญวิกฤตของตัวเอง ประชาธิปไตยบางประเทศล่มสลาย ถูกแทนที่ด้วยระบอบอำนาจนิยม ข้อสังเกตที่นักวิชาการพบร่วมกันคือประเทศที่ประชาธิปไตยประสบปัญหารุนแรงมากกว่าอื่นๆ คือกลุ่มประเทศที่มีความขัดแย้ง แบ่งแยก คนในชาติแตกขั้วเป็น 2 ขั้ว โดยภาวะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับหลายที่ทั่วโลก

อาการของการแบ่งแยกแตกขั้วร้าวลึกเป็นอาการทางการเมืองแบบหนึ่งที่ไม่ปกติธรรมดา การเมืองถูกยกระดับให้กลายเป็นแบบมิตรและศัตรู เป็นขาวดำ แบ่งเป็นพวกเราและพวกเขา ส่งผลให้การเมืองประเทศนั้นกลายเป็นสงคราม เป็นเรื่องการเอาชนะทุกวิถีทางโดยไม่คำนึงถึงกติกา หากสภาวะนี้ดำเนินอยู่ยาวนาน ทุกคนที่อยู่ตรงกลางถูกบีบให้เลือกข้าง ถูกปักป้ายโดยธรรมชาติ ยากจะมีใครอยู่ตรงกลางและบอกว่าไม่อยู่ข้างใด สิ่งที่น่ากลัวคือ ภาวะแตกขั้วตอนแรกอาจเริ่มจากชนชั้นนำทางการเมืองหรือพรรคการเมือง แต่หากไม่ได้รับการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองจะลามไปสู่ความแตกแยกทางสังคมลงไปสู่ระดับครอบครัว เพื่อนฝูง ยากที่จะมีความสงบสุข ความแตกต่างหลากหลายในหลายมิติจะถูกลดทอนให้เหลือมิติเดียว อยู่ข้างเดียวกันถูกหมด อยู่ฝ่ายตรงข้ามผิดหมด ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตยและการอยู่ร่วมกัน

สังคมที่อยู่ในสภาวะนี้เกิดสิ่งที่เรียกว่าโลกคู่ขนานและจินตนาการทางการเมือง อยู่ในสังคมเดียวกันแต่คนละโลก สิ่งที่น่ากลัวคือจินตนาการต่ออนาคตว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีก็มองไม่ตรงกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เพลงประเทศกูมี กลุ่มเยาวชนดูแล้วบอกว่าสิ่งนี้สะท้อนความจริงของสังคมไทย ขณะเดียวกันเพลงไทยแลนด์ 4.0 นำเสนอสภาพสังคมอีกแบบหนึ่ง มีคนที่ไม่ชอบเพลงประเทศกูมีบอกว่านี่เป็นประเทศไทยที่เขาต้องการ การที่เพลงสามารถจุดประเด็นถกเถียงในสังคมคงทำไม่ได้หากประเทศไม่มีพื้นฐานที่ขัดแย้งร้าวลึกดำเนินอยู่ก่อนในเชิงโครงสร้าง

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ตกอยู่ในสภาวะนี้ กลุ่มงานวิจัยที่ทำร่วมกันพบว่า ประเทศที่เผชิญสภาวะเดียวกัน อาทิ อเมริกา ฟิลิปปินส์ กรีซ ฮังการี ตุรกี บราซิล เวเนซุเอลา แอฟริกาใต้ มาจากปัจจัยมากมาย ทั้งความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น บทบาทของโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้นักสังเกตการณ์บอกว่าเข้าสู่สังคมหลังความจริง ทำให้เกิดสภาวะแตกขั้วร้าวลึกเกิดได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ผลกระทบต่อประชาธิปไตยคือ ประเทศที่เผชิญสภาวะนี้ย่อมยากที่ประชาธิปไตยจะทำงานได้ดี สถาบันทางการเมืองพิกลพิการ วัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันถูกกัดกร่อน เนื่องจากการเมืองกลายเป็นเรื่องการเอาชนะโดยไม่คำนึงถึงกติกาและวิธีการ หลักธรรมาภิบาลหายไป ทุกอย่างถูกตัดสินจากเกณฑ์พวกเรา-พวกเขา เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ทุกอย่างแก้ไม่ได้ เกิดการคอร์รัปชั่น รวมทั้งทำให้การเลือกตั้งมีเดิมพันสูงระบอบตุลาการถูกทำให้เป็นการเมือง และการตรวจสอบถ่วงดุลถูกใช้ตรวจสอบฝั่งตรงข้ามเท่านั้น ทำให้ประเทศไร้เสถียรภาพ ไร้ความชัดเจน

สังคมการเมืองมีแนวโน้ม 4 แบบคือ 1.อัมพาต ชะงักงัน 2.ประชาธิปไตยถดถอย 3.เผด็จการอำนาจนิยม และ 4.ประชาธิปไตยเข้มแข็ง โดยบทเรียนที่เราศึกษาส่วนใหญ่ชะงักอยู่จุดที่ 1-3 ไม่ไปถึงจุดสุดท้าย โดยกระบวนการที่นำมาสู่ภาวะแบบนี้เริ่มจากสังคมนั้นมีปัญหาพื้นฐาน เหลื่อมล้ำสูง สภาวะเช่นนี้อาจดำรงอยู่ก่อนหน้า แต่ไม่มีปัญหาอะไร แต่กลายเป็นปัญหาเมื่อสังคมนั้นเกิดวิกฤต เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ หรือเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองขนาดใหญ่ มีการเปลี่ยนกติกา เช่น เปลี่ยนรัฐธรรมนูญ 2540 เกิดการกระจาย
อำนาจ ซึ่งการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่การเมืองใหม่เข้ามามีอำนาจ ผ่านนโยบายที่ตอบสนองคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้น การเปลี่ยนอย่างรวดเร็วฉับพลัน นำไปสู่การตอบโต้อย่างรุนแรงจากชนชั้นนำเก่าที่เคยครอบครองสถานะเดิม

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทุกประเทศที่ร้าวลึกไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างชนชั้นนำ แต่ที่ซึมลึกยาวนานเพราะขยายจากภาคการเมืองสู่ประชาชนทั่วไปในสังคม ความขัดแย้งดังกล่าวไม่ได้คลี่คลายง่ายๆ หากไม่แตะปัญหาเชิงโครงสร้างก็ยากที่ประชาธิปไตยจะถูกฟื้นฟูกลับมาอย่างมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากปล่อยให้สภาวะเรื้อรังจะยิ่งแก้ยาก เมื่อเข้าสู่วงจรนี้จะออกจากกับดักความขัดแย้งยาก และหากใช้วิถีทางเผด็จการอำนาจนิยมยิ่งซ้ำเติมปัญหา ไม่ได้แก้ปัญหาที่รากฐาน แต่ถูกหยุดไว้ชั่วคราวเท่านั้น

บทเรียนจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งร้าวลึก หรือเข้าสู่สภาวะนี้แล้วแต่ยังรักษาประชาธิปไตยได้ นั่นคือ กระบวนการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ปฏิรูปพรรคการเมืองและรัฐสภาให้เข้มแข็ง ปฏิรูปกองทัพและตำรวจ หน่วยงานความมั่นคง กระบวนการยุติธรรม สุดท้ายคือบทบาทของภาคประชาสังคมและสื่อต้องเข้มแข็งทางออกเดียวของประเทศที่อยู่ในกับดักความแบ่งแยกแตกขั้วร้าวลึก คือ ต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้คนทุกกลุ่มที่ต่างกันเข้ามามีส่วนร่วมจัดสรรอำนาจ สามารถต่อรองกันได้อย่างสันติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image