วิเคราะห์เหตุ-ปัจจัย ถ้าเลื่อนเลือกตั้ง24ก.พ.62

หมายเหตุ… ความคิดเห็นของนักวิชาการและนักการเมือง มองถึงปัจจัยและเหตุผลในด้านใด หากจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ตามโรดแมปที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันมาโดยตลอด

สามารถ แก้วมีชัย
อดีต ส.ส.เชียงราย คณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย

ส่วนตัวยังไม่เห็นว่าจะมีปัจจัยใดที่จะส่งผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป จากที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 โดยวันนี้เรากำลังรอพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ประมาณ

วันที่ 11 ธันวาคมนี้ จากนั้นเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วันตามที่กฎหมายกำหนด และทุกอย่างก็จะต้องเป็นไปตามกระบวนการ แม้รัฐบาลจะประกาศล่าสุดว่าจะปลดล็อกการเมืองภายหลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้ว คือในปลายเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม 2562 แต่ก็ยัง

Advertisement

ไม่พบว่าจะมีปัญหาอะไรที่ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีกคิดว่าเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้ว ทุกอย่างจะชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดวันเดียวตั้ง การรับสมัคร ส.ส. การหาเสียง โดยจะมีการปลดล็อกทางการเมืองในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งที่จริงแล้วพรรคการเมืองควรจะสามารถดำเนินการเรื่องต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม ที่กฎหมายลูกมีผลบังคับใช้แล้ว แต่เมื่อรัฐบาลเลื่อน จึงส่งผลให้หลายคนมองว่า นี่เป็นการยื้อการปลดล็อก รวมถึงการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ส่วนตัวก็ยังมั่นใจว่าไม่มีใครจะสามารถยื้อหรือเลื่อนการเลือกตั้งได้อีกแล้ว เพราะวันนี้สถานการณ์บ้านเมืองมีความสงบดีไม่มีปัญหาการทะเลาะเบาะแว้ง หากรัฐบาลคิดจะเลื่อนเลือกตั้งจริง ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดหนัก

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าในการประชุมร่วมกับพรรคการเมือง โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช.เป็นเจ้าภาพนั้น พรรคการเมืองเล็กๆ จะมีส่วนสำคัญที่จะเสนอรัฐบาลให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพราะว่าไม่มีความพร้อม ส่วนตัวคิดว่าพรรคการเมืองเล็กๆ ไม่มีพลังในการเสนอความคิดเช่นนั้น เพราะหากพรรคตัวเองไม่พร้อม ก็ไม่จำเป็นต้องส่ง ส.ส.ลงรับเลือกตั้ง กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าทุกพรรคจะต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ใครไม่พร้อมก็ไม่ต้องส่ง ใครที่พร้อมก็ดำเนินการอย่างเต็มที่ จึงไม่คิดว่าปัจจัยนี้จะส่งผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอย่างที่หลายคนมอง แม้มีบ้างพรรคการเมืองไม่พร้อมเลือกตั้งก็ตาม

ทั้งนี้ พรรคการเมืองเล็กๆ อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง เช่น การดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดสาขาพรรค การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะปัญหาเหล่านี้ คสช.สามารถออกคำสั่งแก้ไขให้ดำเนินการได้อยู่แล้ว

Advertisement

สมชัย ศรีสุทธิยากร
อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ข้อเท็จจริงการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต.ไม่ใช่รัฐบาล หลังจากที่รัฐบาลออกกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งแล้ว กกต.ไม่ว่า 5 หรือ 7 คน ก็ต้องประชุมกันภายใน 5 วันหลังจากนั้น เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสม แต่ กกต.ต้องประเมินว่าเวลาที่เหลืออยู่เพียงพอหรือไม่ หากรัฐบาลประกาศกฤษฎีกาเลือกตั้งกระชั้นกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 มากเกินไป กกต.จะไม่สามารถทำธุรการตามกฎหมายได้ทัน เพราะจะต้องตรวจสอบผู้สมัคร กระบวนการจัดพิมพ์บัตร การจัดเตรียมคูหา กรรมการประจำหน่วย การเลือกตั้งของคนไทยในต่างประเทศ การเลือกตั้งล่วงหน้า มีกรอบของเวลาที่ต้องดำเนินการชัดเจน ดังนั้น หากรัฐบาลประกาศกฤษฎีกาใกล้เกินไป ท้ายที่สุด กกต.จะเป็นฝ่ายบอกเองว่าไม่สามารถจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ได้ กกต.คงต้องคิดเองว่า จะเป็นวันใดที่เหมาะสมแล้วตอบสังคมไป แต่จะไปว่า กกต.ไม่ได้ เพราะมีกรอบที่ต้องทำตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ไม่น่าจะมีประเด็นอื่นที่ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป ยกเว้นรัฐบาลหรือ คสช.ประเมินสถานการณ์ว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม รัฐบาลและ คสช.สามารถกำหนดให้ล่าช้าได้ถ้าประกาศกฤษฎีกาช้าออกไป และไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ เพราะเรื่องนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของใครหลายคน ซึ่งเราไม่รู้ แต่ ณ วันนี้ไม่ควรจะมีใครไม่พร้อมอีกแล้ว เพราะเรื่องของการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่เรารู้กันมานาน คนที่จะมาเป็นพรรคการเมืองหรือนักการเมืองต้องรู้สิ่งที่เป็นเส้นตายเบื้องต้นของการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค ทุกคนก็ต้องรู้หากจะมีการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์จริง ต้องจัดการกับทุกปัญหาได้ ถ้ามาบอกว่าไม่พร้อมแล้วไม่จัด คงไม่มีวันที่จะพร้อมที่สุดถึงจะจัดการเลือกตั้งได้

การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปนั้นจะมีผลดีผลเสียอย่างไรขึ้นอยู่กับเหตุผล หากเป็นเหตุผลที่ชี้แจงได้ เป็นเหตุผลที่ดี สังคมก็จะยอมรับ แต่ถ้าการเลื่อนการเลือกตั้งดังกล่าวขาดเหตุและผลที่จะชี้แจงต่อประชาชน เป็นการยื้อเวลาของผู้มีอำนาจก็จะเกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนขึ้นได้
ส่วนความไม่พอใจจะขยายความรุนแรงหรือไม่ คงไม่สามารถคาดการณ์ได้

นิกร จำนง
ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)

คิดว่าเงื่อนไขที่จะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป เบื้องต้น คิดว่าไม่น่าจะมีแล้ว ยกเว้นแต่เหตุผลที่แกนนำ คสช. รวมไปถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย ก็ไม่เคยรู้มาก่อน โดยสาเหตุที่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เพราะสังเกตจากท่าทีของบรรดาแกนนำหลักของ คสช.ที่ออกมาพูดในน้ำเสียงเดียวกันอย่างต่อเนื่อง กระทั่งคนสุดท้ายที่ออกมาสำทับ คือ นายวิษณุ ถือเป็นการตั้งใจพูดถึงไทม์ไลน์ไปสู่การเลือกตั้ง โดยตั้งโต๊ะแถลงข่าวเอง ไม่ใช่การถูกถามจากผู้สื่อข่าว จึงสะท้อนว่า โอกาสที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 มีสูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ก็เท่ากับว่าเหลือเวลาอีกแค่ 16 วันเท่านั้น สำหรับเส้นตายของการเข้าสังกัดเป็นสมาชิกพรรคภายใน 90 วันก่อนถึงวันเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นเวลาที่น้อยมากในการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ซึ่งพรรคเก่าอาจจะไม่มีปัญหา แต่พรรคใหม่อาจจะประสบปัญหาได้ ดังนั้น อีก 16 วันที่เหลือจะวุ่นวายกับทุกพรรคการเมืองเป็นอย่างมาก

ไม่แน่ใจว่ารัฐบาล คสช.จะปลดล็อกให้เมื่อไหร่ การระบุว่าจะปลดล็อกให้ในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง อาจจะเป็นการโยนหินถามทางก็เป็นได้ หากโยนถามทางมา ผมก็บอกทางให้ได้เลยว่า เส้นทางนี้ถือเป็นดาบสองคมที่ไม่เป็นผลดี รัฐบาลควรเปิดให้กว้างไว้ ปลดล็อกให้เต็มที่ ยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ถือว่ายิ่งดี เพราะขณะนี้ประชาชนรอการเลือกตั้งมาหลายปีแล้ว

สิ่งเหล่านี้ไม่ถือเป็นการตามใจพรรคการเมือง แต่ต้องตามใจประชาชนที่ต้องการฟังนโยบาย และอยากเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มที่แล้ว

ยุทธพร อิสรชัย
อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิาช

คิดว่าโอกาสเป็นไปได้น้อยมากที่จะเลื่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากปัจจัย 2 ประการ ปัจจัยที่ 1 คือเงื่อนไขทางกฎหมายที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเลื่อนการเลือกตั้งนั้นแทบจะไม่เหลือแล้ว เพราะโดยบทของรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้กำหนดเอาไว้ว่าเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ มีการประกาศใช้และมีผลบังคับใช้ ก็ให้นับเวลาไป 150 วัน ให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในกรอบดังกล่าว ซึ่งตรงนี้ทั้งกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมาย กกต. กฎหมาย ส.ส. และกฎหมาย ส.ว.ได้ประกาศใช้ทั้งหมดแล้ว คงเหลือเพียงแค่การรอให้กฎหมาย ส.ส.มีผลบังคับใช้ ซึ่งก็น่าจะประมาณต้นเดือนธันวาคม ดังนั้น ในระยะเวลา 150 วันนับจากต้นเดือนธันวาคม สามารถเกิดการเลือกตั้งได้ทั้งหมด แต่โอกาสการเกิดการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคมเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

ปัจจัยที่ 2 ก็คือการยืนยันอย่างชัดเจนด้วยการออกมาแถลงในเรื่องไทม์ไลน์ของรองนายกฯฝ่ายกฎหมาย ที่ได้ประกาศวันต่างๆ อย่างชัดเจน แม้ว่าจะไม่ได้มีอะไรใหม่จากโรดแมปที่กำหนดไว้แต่เดิมก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุด ในแง่ของความชัดเจนก็มีมากขึ้น และมีการพูดถึงเรื่องการประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นการรับรองวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังพูดถึงเรื่องการปลดล็อกพรรคการเมืองที่จะเกิดขึ้นในช่วงที่มี พ.ร.ฎ.ในการกำหนดวันเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น ใน 2 ปัจจัยดังกล่าวคิดว่าโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่จะไม่เป็นผลไปตามนี้เป็นไปได้ยากมาก

อย่างน้อยที่สุด ถ้าจะมีปัญหาในเชิงเทคนิคหรือปัญหาในข้อกฎหมายก็คงจะไม่เลื่อนจากกุมภาพันธ์ไปอีก 1-2 เดือน หรืออย่างมากก็คงไม่เกินพฤษภาคม แต่ก็เชื่อว่าไม่น่าเลื่อน ถ้าไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา อุปสรรค หรือเหตุสุดวิสัยจริงๆ เพราะว่าก่อนหน้านี้เราจะเห็นได้ว่านายกฯแถลงว่าจะเลือกตั้งและมีการเลื่อนมาแล้วถึง 4 ครั้ง เพราะฉะนั้นความเชื่อมั่นจึงถูกกระทบเยอะ และครั้งหลังสุดที่นายกฯยืนยันว่าจะเลือกตั้ง วันที่ 24 กุมภาพันธ์ หรือการที่ กกต.ได้ประกาศเรื่องปฏิทินการทำงานออกมาก็ยังไม่ค่อยมีใครเชื่อมั่น จนสุดท้ายนายวิษณุออกมาแถลงเรื่องไทม์ไลน์จึงทำให้มีความเชื่อมั่นมากขึ้น

กรณีที่ถ้าหากมีการเลื่อนการเลือกตั้งจริง จะสามารถเกิดได้จาก 2 ปัจจัย คือ 1.อาจจะเกิดจากการที่มีเหตุรุนแรงทางการเมือง ซึ่งในทุกวันนี้มีน้อย เพราะ คสช.เองก็สามารถควบคุมกำกับสถานการณ์ได้ และ 2.เกิดปัญหาเชิงเทคนิคและข้อกฎหมาย ซึ่งดูแล้วโอกาสก็น้อยมากเช่นกัน
ดังนั้น จึงคิดว่าด้วยทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าวนี้ก็คงไม่น่ามีอะไรที่เป็นความเสี่ยงถึงขนาดที่จะต้องมีการเลื่อนการเลือกตั้งอีกรอบหนึ่ง

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

ในประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามโรดแมป หรือจะมีการเลื่อนเลือกตั้งนั้น เท่าที่ติดตามข่าวสารถึงตอนนี้ มองว่าน่าจะมีความเป็นไปได้น้อย เพราะถ้าดูจากการแถลงของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แนวโน้มจากการหารือกับหลายฝ่ายน่าจะเป็นไปตามโรดแมปอยู่พอสมควร ยกเว้นอุบัติเหตุอันใดเกิดขึ้นมาว่าจะมีการเลื่อนเลือกตั้ง และถึงแม้จะเลื่อนการเลือกตั้งก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม เว้นแต่จะมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น ซึ่งเข้าข่ายกรณียกเว้น แต่กรณีดังกล่าวเกิดได้ยาก เพราะฉะนั้นจึงวิเคราะห์ว่าแนวโน้มน่าจะมีการเลือกตั้งตามที่ประกาศไว้

ยังมองไม่เห็นปัจจัยใดที่จะเลื่อนการเลือกตั้ง เพราะจากการหารือหลายฝ่ายก็ยังไม่เห็นเหตุผลหลักใดๆ ว่าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้ง แต่หากมีการเลื่อนการเลือกตั้งโดยอ้างเรื่องความไม่พร้อมของพรรคการเมืองอันนั้นน่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เยอะ เพราะไม่ใช่เหตุผลที่จะมาใช้เลื่อน ควรจะใช้กฎหมายมากกว่า และคิดว่าคงจะทำให้คะแนนนิยมลดลง ถ้าเสี่ยงที่จะทำเช่นนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image