โหมโรงประชามติ ส่งสัญญาณเข้ม ปรามขั้วการเมือง

โหมโรงการลงประชามติด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด

พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา กำหนดในมาตรา 7 ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริต และไม่ขัดต่อกฎหมาย

แต่ก็ในมาตรา 61 ว่า ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียง ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

และกำหนดโทษไว้รุนแรง กล่าวคือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีด้วยก็ได้

Advertisement

และจะยิ่งหนัก หากกระทำผิดโดยคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โทษจำคุก 1 ถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี

จนถูกวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า เป็นบทบัญญัติจำกัดการแสดงออกของประชาชนมากเกินไป

และมีผลข่มขวัญฝ่ายที่เห็นต่าง

 

และต่อมา 27 เม.ย. มีการเคลื่อนไหวสำคัญของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ

เริ่มจากช่วงเช้า มีการเข้าค้นบ้าน 2 อดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคเพื่อไทย คือ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ และ นายวีระกร คำประกอบ

ได้ของกลาง เป็น “ขันแดง” กองโต

พร้อมกันยังเข้าตรวจค้นบ้านคนดังๆ ในจังหวัดต่างๆ อีกหลายจุด

เช้าวันเดียวกัน ทหารเข้าคุมตัว นายหฤษฎ์ มหาทน นักเขียน อดีตนักข่าว อายุ 27 ปี และ นายนิธิ กุลธนศิลป์ ผู้จัดการร้านราเมง ขอนแก่น นำตัวเข้ากรุงเทพฯ ก่อนจะปล่อยนายนิธิในตอนค่ำ

ส่วนใน กทม. มีการเข้าคุมตัวบุคคลต่างๆ 7 รายด้วยกัน

รวมแล้วชุดนี้ 10 คน โดนหมายจับ 9 และควบคุมตัวอยู่ 8 คน ประกอบด้วย 1. นางสาวณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ หรือ นัท 2. นายชัยธัช รัตนจันทร์ 3. นายนพเก้า คงสุวรรณ 4. นายวรวิทย์ ศักดิ์สมุทรนันท์ หรือ อ้วน 5. นายโยธิน มั่งคั่งสง่า หรือ โย 6. นายธนวรรธน์ บูรณศิริ อายุ 22 ปี 7. นายศุภชัย สายบุตร หรือ ตั๋ม อายุ 30 ปี 8. นายหฤษฎ์ มหาทน อายุ 27 ปี และ 9. นายกัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา หรือ ที อายุ 34 ปี โดยนายชัยธัชอยู่ต่างประเทศ

ตำรวจเปิดแผนผังต่อต้าน คสช.โดยระบุว่า ผู้สั่งการคือนายชัยธัช ส่วน นายหฤษฎ์ มหาทน ที่ทำเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” และเพจ “ยูดีดีไทยแลนด์” รับคำสั่งจากนายชัยธัช ได้เงินเดือน 28,000 บาท

และยังระบุว่า นายหฤษฎ์คัดเลือกข้อมูลกำหนดแนวทางให้ น.ส.ณัฏฐิกา ที่มีทีมงาน 6 คน ประกอบด้วยนายนพเก้า ดูแลเว็บเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” ประกอบข้อความส่งให้ น.ส.ณัฏฐิกา มีการสื่อสารกันทางช่องทางพิเศษ โดยได้รับเงินเดือน 16,000 บาท

ส่วนนายวรวิทย์ทำหน้าที่อัพโหลดข้อความเข้าไปในเพจกลุ่มดังกล่าว ได้รับเงินเดือนจาก น.ส.ณัฏฐิกา 16,000 บาท ส่วนนายโยธินตรวจสอบการโพสต์ข้อความ ได้เงินเดือน 18,000 บาท

นายธนวรรธน์ดูแลเพจพีซทีวี เป็นโปรดิวเซอร์ แต่ไม่ได้รับเงินเดือน แต่ทำงานใช้หนี้ น.ส.ณัฏฐิกา แทน ขณะที่นายศุภชัยดูแลเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” คอยตัดต่อรูปและส่งต่อข้อมูลให้ น.ส.ณัฏฐิกาเพื่อโจมตีการทำงานของ คสช.ได้รับเงินเดือน 17,000 บาท

น.ส.ณัฏฐิกาเป็นผู้ดูแลเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” และเป็นแอดมินเพจทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ เว็บเพจ จตุพร พรหมพันธุ์ (Jatuporn Prompan) พีซทีวี (Peace TV.) เรารัก พล.อ.ประยุทธ์ ยูดีดี ไทยแลนด์ (UDD Thailand) เรด อินเทลลิเจนซ์ (Red intelligence) และเรด เดมอคเครซี่ (Red democracy)

นอกจากนี้ยังรับจ้างทำเว็บเพจให้ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ได้รับค่าจ้างจากนายหฤษฎ์เดือนละ 110,000 บาท แล้วนำมาแจกจ่ายให้สมาชิก โดยจะเหลือเงินไว้ใช้จ่าย 25,000 บาท

ในส่วนนายหฤษฎ์และ น.ส.ณัฏฐิกา จากการตรวจสอบเว็บเพจส่วนบุคคล ยังพบว่ามีการก้าวล่วงไปยังสถาบันเบื้องสูง พล.ต.วิจารณ์ได้พิจารณาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในความผิดตาม ป.อาญามาตรา 112 อีกด้วย

ตำรวจตั้งข้อหาตาม ป.อาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยมี 2 คนได้แก่ นายหฤษฎ์ และ น.ส.ณัฏฐิกาอาจโดนข้อหาตาม ป.อาญา มาตรา 112 ด้วย

และโยงเรื่องเข้าสู่แกนนำ นปช.คนดัง อย่าง นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนักกิจกรรมชื่อดัง บก.ลายจุด หรือนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ทันที

ต่อมาวันที่ 29 เมษายนนำตัวฝากขัง ศาลทหารไม่อนุมัติประกันตัว

ขณะที่ทาง กกต.ก็มีแอ๊กชั่นข่มขวัญออกมาเช่นกัน

โดยในวันที่ 27 เมษายน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ยังได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง ให้ดำเนินคดีกับ นางจีรพันธุ์ ตันมณี อายุ 59 ปี ประธานกองทุนรัฐวัฒน์ตันมณี เพื่อสิทธิคนออทิสติก ชาว อ.เมือง จ.ขอนแก่น

โดยระบุว่า นางจีรพันธุ์กระทำผิดมาตรา 61 พ.ร.บ.ประชามติ เป็นคนแรก

เจ้าหน้าที่ได้เชิญตัวขณะประชุมอยู่ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนจับกุมเมื่อเวลา 17.00 น.

และถูกวิจารณ์จาก กกต.ด้วยกันว่า ออฟไซด์ เพราะอำนาจตาม พ.ร.บ.ประชามติ ต้องกระทำในนาม กกต. จึงต้องมีการพิจารณาการกระทำและลงมติกันก่อน

วันเดียวกัน สนช.ได้รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 เพิ่มโทษ การส่งข้อมูลทางอีเมล์ การตัดต่อภาพ ด้วยมติเอกฉันท์ 160-0

ถือว่าเป็นการเปิดรุกของทางผู้กุมอำนาจ ส่งสัญญาณเข้มข้นว่า รัฐบาลยังถือเอาความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก ในห้วงของการทำประชามติ แม้มีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้ผ่อนคลาย

ขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ รวมถึง กปปส.ได้ออกมาประกาศจุดยืนของตนเองต่อร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งหนุนทั้งค้าน ก่อให้เกิดการวิเคราะห์วิจารณ์ถึงโอกาสผ่านหรือไม่ผ่านของร่างรัฐธรรมนูญ

และเริ่มมีเสียงดักคอว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านอีก จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร

ท่าทีประกาศลุยจริงของรัฐบาล นอกจากใช้กฎหมายเฉียบขาดแล้ว ยังรวมถึงการสกัดช่องทางการใช้อินเตอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย ซึ่งบทเรียนจากหลายประเทศ ส่งผลสะเทือนทางการเมืองรุนแรงมาแล้ว ก็จะถูกตรวจสอบ และมีบทลงโทษมากขึ้น

น่าจะลดอุปสรรคของร่างรัฐธรรมนูญไปได้พอสมควร

แต่ผลการลงประชามติจะเป็นอย่างไร ยังคาดเดาได้ยากในเวลานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image