กกต.มติเอกฉันท์ห้าม ‘อนาคตใหม่’ ขายของออนไลน์ อ้างไม่ใช่สถานที่ตามกฎหมายระบุ

กกต.มติเอกฉันท์ ห้าม “อนาคตใหม่” ขายของออนไลน์ อ้างไม่ใช่สถานที่ตามกฎหมายระบุ เบรกตั้ง “กองทุน-สหกรณ์” หาเงิน ไม่ตอบทำดาต้าสมาชิกไร้กระดาษได้หรือไม่

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้ส่งหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงกรณีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของพรรคการเมือง ระดมทุนรับบริจาคและขายของที่ระลึกออนไลน์ และอื่นๆ รวม 32 ข้อ เพื่อให้ กกต.มีมติแจ้งออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักงาน กกต.ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่ ลต.0015/7403 ถึงหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เพื่อตอบข้อซักถาม ที่ผ่านการประชุมจาก กกต.ครั้งที่ 55/2561 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม และการประชุมครั้งที่ 61/2561 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ด้วยมติเอกฉันท์ มีประเด็นสำคัญดังนี้

ส่วนแรก พรรคอนาคตใหม่ ข้อ 1-6 ถามถึงการตีความ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ข้อ 33 คำว่า “สถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ” ได้แก่ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคการเมือง ที่ตั้งสำนักงานสาขาพรรคการเมือง บริเวณสถานที่จัดกิจกรรมระดมทุน บริเวณสถานที่จัดประชุมใหญ่ของพรรคประจำปีของพรรคการเมือง สาขาพรรค หรือที่ทำการพรรคการเมืองประจำจังหวัด ซึ่งคำว่า “ได้แก่” เป็นการยกตัวอย่างใช่หรือไม่ กกต. ตอบว่า คำว่า “ได้แก่” ไม่ใช่การยกตัวอย่าง

ส่วนการขายสินค้าบนเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่น หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ว่า เป็นการจำหน่ายจาก “สถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ” ใช่หรือไม่ แล้วหากสมาชิกพรรค หรือบุคคลอื่น ขายสินค้าที่มีโลโก้พรรคการเมือง โดยพรรคไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ย่อมมิใช่การจัดจำหน่ายสินค้า ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หมวด 5 ใช่หรือไม่ แล้ว หากสมาชิกหรือบุคคล นำรายได้จากการจำหน่ายสินค้ามาบริจาค ก็ต้องลงบัญชีรับบริจาคใช่หรือไม่

Advertisement

กกต.ตอบว่า การขายของออนไลน์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่การจำหน่ายจาก “สถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ” เพราะไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 62 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ข้อ 33
ส่วนการถามถึงสมาชิกหรือบุคคลอื่นเป็นผู้จำหน่ายนั้น กกต.ไม่ตอบ เพราะไม่มีการระบุชัดในข้อเท็จจริง แต่หากจะมีการนำรายได้จากสมาชิกหรือบุคคลอื่นที่ขายสินค้า ให้ถือว่าเป็นรายได้พรรคการเมือง

ส่วนถัดมา ข้อ 13-17 พรรคอนาคตใหม่ ถามถึง การหารายได้ ดอกผล จากหลักทรัพย์หรือการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกองทุนในตลาดหลักทรัพย์ นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นตัวแทนประกันชีวิต หรือการตั้งสหกรณ์นั้น

กกต.ตอบว่า ไม่ใช่ เพราะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพรรคการเมือง ตามมาตรา 20 และมาตรา 23 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

Advertisement

ส่วนสุดท้าย ข้อ 18-20 และข้อที่ 22-26 นั้น อนาคตใหม่ ถามถึง การจัดเก็บฐานข้อมูลสมาชิกในรูป อิเล็กทรอนิกส์ แล้วยังต้องจัดเก็บเป็นรูปของกระดาษอีกหรือไม่ สามารถให้สมาชิกลงลายมือชื่อดิจิทัล หรือลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการถ่ายภาพใบสมัครสมาชิก บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง แล้วส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ อีเมล์หรือสื่อออนไลน์ อย่างแอพพ์ไลน์ ถือเป็นหลักฐานการสมัครสมาชิกใช่หรือไม่

กกต.ตอบว่า ถือเป็นการสอบถามตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การรายงานทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง พ.ศ.2560 จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่ง กกต.ได้มอบหมายให้ นายทะเบียนพรรคการเมืองตอบข้อสอบถามในประเด็นนี้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image