‘ปิยบุตร’ เสวนามช. ชี้ไทยสวนทางโลก ตั้งพรรคยาก โดนยุบง่าย ซ้ำกกต.จ้องจับผิด

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ บอกเล่าถึงเนื้อหาที่ตนกล่าวในงานเสวนาที่คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ในวันเดียวกันนี้ โดยระบุว่าการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองไทยไม่เป็นไปตามหลักสากล เพราะมีระเบียบวุ่นวาย ก่อตั้งยาก โดนยุบง่าย นอกจากนี้ กกต. ยังจับผิดเหมือนตำรวจพรรคการเมือง นอกจากนี้ นายปิยบุตรยังกล่าวถึงประเด็นเรื่องภาษี และการกระจายอำนาจ

รายละเอียดดังนี้

“วันนี้ผมไปร่วมเสวนา ในหัวข้อ “พรรคการเมืองกับท้องถิ่นไทยในอนาคต” ที่ห้องประชุมใหญ่คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผมอภิปรายว่าการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองในประเทศไทยเป็นเรื่องกลับหัวกลับหางไม่เป็นตามหลักสากล เพราะเป็นระบบที่ต้องขอนุมัติ ขออนุญาต ซึ่งมีระเบียบที่วุ่นวายมาก คนที่มีแนวคิดอุดมการณ์ร่วมกันจะก่อตั้งพรรคทำได้ยาก

Advertisement

พรรคอนาคตใหม่ต้องใช้เวลาถึง 97 วัน กว่าจะได้รับการอนุมัติเป็นพรรค มีการตรวจสอบรายชื่อบุคคล ส่งไปหน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบอีก 10 กว่าหน่วยงาน สาเหตุหนึ่งที่ตั้งยาก คิดว่าเป็นเพราะกลัวคนที่มีอุดมการณ์ที่รัฐมองว่าร้ายแรง ไม่เป็นอย่างที่รัฐอยากเห็นทำการรวมตัวกัน

ขณะที่หลักสากลนั้นการก่อตั้งพรรคตั้งง่าย แต่ยุบยาก ของเราตั้งยากแต่ยุบง่าย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของประเทศไทย เปรียบเหมือนตำรวจพรรคการเมือง คอยสอดส่อง จับผิด อยู่ตลอดเวลา ยิ่งรัฐธรรมนูญปัจจุบัน พรป.พรรคการเมือง ขณะนี้มีข้อกำหนดให้พรรคการเมืองต่างๆ ทำเยอะมาก เช่น การต้องมีจำนวนสมาชิกจังหวัดละ 100 คน เป็นอย่างน้อยถึงจะส่งผู้สมัครครบทุกเขตได้ ต้องมีจำนวนสาขาพรรคอย่างน้อย 4 สาขา ซึ่งจังหวัดที่จะตั้งสาขาได้ต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 500 คน ต้องทำไพรมารีโหวต เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็ยังติดคำสั่งของ คสช. ที่ทำให้พรรคการเมืองแทบทำกิจกรรมอะไรไม่ได้เลย ถามว่ากฎหมายที่ออกมาแบบนี้ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง หรือทำให้พรรคการเมืองทำไม่ได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วต้องยุบสลายหายไปเอง เปิดโอกาสให้กับสิ่งอื่นที่ไม่ได้มาตามระบอบประชาธิปไตยเข้ามายึดอำนาจจัดการ

Advertisement

นอกจากนี้ผมยังได้พูดถึงการกระจายอำนาจว่า นโยบายการกระจายอำนาจถือเป็นนโยบายหลักของพรรคอนาคตใหม่ เราเชื่อว่าการปลดปล่อยศักยภาพท้องถิ่น เท่ากับประเทศปลดปล่อยศักยภาพของประเทศ แต่ปัจจุบันการกระจายอำนาจถดถอยลงไปเรื่อยๆ เรื่องนี้จำเป็นต้องแก้ที่โครงสร้างใหญ่ก่อน

วันนี้เรามาไกลและคิดว่าคงไม่กลับไปสู่การแต่งตั้ง อปท. แล้ว คงต้องเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวจะไม่ตอบอะไรเลยในเรื่องการกระจายอำนาจ จำเป็นต้องมีงาน มีการถ่ายโอนภารกิจต่างๆ ให้ท้องถิ่นด้วย อย่างทุกวันนี้ มี พ.ร.บ. ต่างๆ เต็มไปหมดที่ฝากไว้กับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งที่เรื่องนั้นเกิดในท้องถิ่น เช่น ป่าไม้จังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด กฎหมายเหล่านี้มีเป็นร้อยเรื่อง ซึ่งเรื่องที่อยู่ในท้องถิ่น แต่อำนาจให้ส่วนกลางอย่างนี้ จำเป็นต้องมีการปรับ

นอกจากนี้เรื่องเงิน เรื่องภาษีก็ต้องมีการปรับ ต้องแบ่งสัดส่วนใหม่ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม เขาบริโภคที่นี่ภาษีก็ควรที่จะต้องอยู่ที่นี่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลเช่นกัน ถ้าเกิดขึ้นที่ท้องถิ่นไหนก็ควรได้สิทธิ ขณะเดียวกับ อปท.ก็ควรมีโอกาสในการหารายได้ตัวใหม่ๆ ได้ด้วย เป็นรัฐวิสาหกิจของท้องถิ่น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคเรื่องการกระจายอำนาจตอนนี้ คือความเชื่อ ความรับรู้ของผู้คน ที่มองว่ากระจายเสร็จก็จะทำให้เกิดการโกงมากขึ้น ยืนยันว่านี่คือความรับรู้ เป็นความเชื่อ ต้องทำลายให้ได้ ทุกวันนี้ผมเดินทางไปพื้นที่ไหน เจอความสำเร็จของท้องถิ่นก็พยายามนำเสนอออกมาพื่อลบล้างความเชื่อนี้ เช่น โรงเรียน อบจ. กระบี่ ซึ่งคุณภาพแซงหน้าโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการไปแล้ว จำเป็นต้องนำเสนอให้เห็นว่า กระจายอำนาจไม่เท่ากับคอรัปชั่น กระจายอำนาจกลับจะทำให้คอรัปชั่นลดลง และทำให้ศักยภาพท้องถิ่นเปล่งออกมา

ผมมองว่ากระจายอำนาจ ถ้าจะเกิดขึ้นในอนาคคต อาจทำได้ใน 2 ลักษณะ คือค่อยๆ ขยับ ตรงไหนพร้อมไปก่อน และอีกอย่างคือแบบ ‘บิ๊กแบง’ ทำครั้งเดียวไปเลยครั้งเดียว เขียนไว้ให้ชัดในรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนตัวแล้วผมอยากเห็นแบบหลัง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image