“สมชัย” ชี้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งช้า ทำเกิดประเด็นการเมือง หวั่นไม่ยึดตามกม. ที่ต้องการผ่านการรับฟังความเห็นจากพรรค-ปชช.

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร รักษาการแทนคณบดี สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเตือนกกต. โปรดระวังการทำผิดกฎหมายในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ กกต.ยังไม่ยอมประกาศเขตเลือกตั้ง อาจกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง เนื่องจากตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ที่ลงนามโดยประธาน กกต.คนปัจจุบันเอง กำหนดกรอบเวลาในดำเนินการ โดยให้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและพรรคการเมืองเป็นเวลา 10 วัน ดำเนินการจริงวันที่ 4-13 ตุลาคม 2561 หลังจากนั้น ผอ.กกต.จังหวัดต้องสรุปส่ง กกต.กลางภายใน 3 วัน และ ระบุให้ กกต.กลางต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 20 วัน ซึ่งหากนับเวลาดังกล่าว ทุกอย่างต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 แต่จนถึงวันนี้ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ซึ่งยังไม่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งๆที่การลงประกาศโดยปกติจะไม่เกิน 3 วันทำการ

นายสมชัย ระบุต่อว่า หากมีประกาศเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้งที่เป็นทางการออกมา สิ่งที่ต้องระมัดระวังการทำผิดกฎหมาย คือ รูปแบบที่ประกาศต้องเป็น 1 ใน 3 รูปแบบที่ไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในช่วง 4-13 ตุลาคม หากมีการเปลี่ยนแปลงก็ควรเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยที่ยึดรูปแบบใดรูปแบบ 1 ใน 3 รูปแบบเป็นหลัก

“สิ่งที่น่ากังวลคือ คือ การประกาศเขตเลือกตั้งหากเป็นรูปแบบใหม่ หรือ รูปแบบที่ 4 ที่ไม่อิง 3 รูปแบบแรกเลย หมายถึง การแบ่งเขตดังกล่าว มิได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เป็นการทำผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 27(3) ที่ระบุให้ การดำเนินการแบ่งเขต กกต.ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นประกอบ” นายสมชัย กล่าวและว่า นอกจากนี้การลงมติใดๆของกกต. ต้องมีกรรมการฯ เข้าประชุมครบทั้ง 5 คน เนื่องจากองค์ประชุมคือ 5 ใน 7 เมื่อมีกรรมการในปัจจุบันเพียง 5 คน จึงหมายความว่า การพิจารณาเกี่ยวกับเขตเลือกตั้งทั้ง 350 เขต ทุกเขตต้องมีกรรมการครบทั้ง 5 คน จะขาดคนหนึ่งคนใดไม่ได้ ซึ่งหากไม่ครบย่อมหมายถึงการพิจารณาในเขตดังกล่าวเป็นมติที่ไม่สมบูรณ์ และมีรายงานการประชุมที่พร้อมสำหรับการถูกตรวจสอบว่าไม่มีการมาแก้ไขให้แตกต่างภายหลัง ซึ่งการให้ความเห็นดังกล่าว เพื่อให้ไม่มีสิ่งใดผิดพลาดในการทำงาน และไม่ทำให้เกิดของเสียในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image