เดินหน้าชน เตาเผาขยะ‘กทม.’..ตุๆ โดย : สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

เมื่อวันที่ 13-16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยกองกำจัดมูลฝอย สำนักสิ่งแวดล้อม ลงประกาศร่างทีโออาร์ประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วัน เพื่อผลิตไฟฟ้า ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม งบประมาณโครงการละ 6,570 ล้านบาท รวม 13,140 ล้านบาท

เป็นการประกาศผ่านเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ www.gprocurement.go.th ของกรมบัญชีกลาง เพื่อรับฟังคำวิจารณ์ร่างประกวดราคาดังกล่าว

แม้จะเปิดรับฟังความเห็นเพียงแค่ 4 วัน แต่ปรากฏว่ามีเสียงวิจารณ์กันขรมว่าส่อจะล็อกสเปกให้เอกชนบางรายหรือไม่ ซึ่งอาจจะทำให้รัฐเสียหายมากมาย

นอกจากจะกำหนดสเปกแบบละเอียดถี่ยิบแล้ว ในหลักหลักเกณฑ์การพิจารณา ที่ระบุในข้อ 10.2 การพิจารณาผู้ชนะการยื่นข้อเสนอ กทม.จะพิจารณาโดยให้คะแนนตามปัจจัยหลักและน้ำหนักที่กำหนด ดังนี้

Advertisement

(1) เกณฑ์ราคา กำหนดน้ำหนัก 10%

(2) เกณฑ์อื่น (ข้อเสนอด้านเทคนิคและการวิเคราะห์ทางการเงิน) กำหนดน้ำหนัก 90%

เป็นการให้น้ำหนักกับเกณฑ์ด้านเทคนิคมากเกินไปหรือไม่ และให้น้ำหนักกับเกณฑ์ด้านราคาน้อยไปไหม

Advertisement

นอกจากนี้ เกณฑ์การให้คะแนนรวม 1,600 คะแนน จาก 5 ด้าน ให้น้ำหนักกับด้านประสบการณ์ในการดำเนินการโรงงานเตาเผามูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานมากสุดถึง 500 คะแนน

ส่วนด้านอื่น คือรายละเอียดของการยื่นเสนอด้านเทคนิค 450 คะแนน การวิเคราะห์ทางการเงินของโครงการ 300 คะแนน แผนการดำเนินงานก่อสร้างและบริหารจัดการโรงงานเตาเผามูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงาน 200 คะแนน และระบบการรวบรวมมูลฝอยก่อนเข้าสู่ระบบการกำจัด 150 คะแนน

สำหรับการให้คะแนนด้านประสบการณ์ในการดำเนินการโรงงานเตาเผามูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงาน จะคิดคะแนนจากผลงานหลักเพียงผลงานเดียว โดยต้องเป็นเตาเผาแบบตะกรับ (Stoker Type) ที่เดินระบบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี (ผลงานไม่เกิน 10 ปี นับจากวันยื่นข้อเสนอ) เท่านั้น หากเสนอเตาเผาแบบอื่นจะไม่ได้รับคะแนน

ที่สำคัญคือต้องเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับ กทม. หากเป็นคู่สัญญากับส่วนราชการอื่น เช่น ท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

หากเป็นผลงานต่างประเทศ ก็ต้องแปลเอกสารเป็นภาษาไทยและผ่านการรับรองจากสถานทูตไทยในประเทศเจ้าของผลงาน และต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยด้วย

หลังมีการเปิดประชาพิจารณ์ผ่านเว็บไปแล้ว คาดว่าจะเปิดให้มีการยื่นซองประมูลช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ เพื่อเคาะผู้ชนะประมูลให้ทันก่อนสิ้นปี

แทบจะปิดประตูไม่ให้บริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมประมูล แม้จะมีเทคโนโลยีดีแค่ไหนก็ตาม เพราะเวลากระชั้นชิดมาก ไหนจะต้องแปลเอกสารเป็นภาษาไทย ไหนต้องวิ่งไปขอการรับรองจากสถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ อีก คงไม่ทันแน่

นอกจากนี้ เรื่องราคากลางกำจัดขยะ ว่ากันว่าอยู่ที่ 900 บาท/ตัน โดยอ้างอิงมาจากโรงงานกำจัดขยะผลิตกระแสไฟฟ้าที่หนองแขมในราคา 970 บาทต่อตัน สูงกว่าราคาจ้างเหมาเอกชนกำจัดขยะของต่างจังหวัดอย่างภูเก็ต แค่ 300 บาท/ตัน หรือที่ขอนแก่นก็เพียง 250 บาท/ตัน เท่านั้น

ไม่รู้ว่า “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯกทม.ทราบเรื่องหรือไม่ ถ้ารู้แล้วยังเดินหน้าเปิดประมูลต่อไปตามทีโออาร์นี้ คงหนีไม่พ้นที่จะต้องถูกร้องเรียนให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบแน่ และเรื่องอาจไปถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อถึงวันนั้นใครที่เกี่ยวข้องอาจต้องเข้าซังเต

หากจะดึงเรื่องกลับไปแก้ไขทีโออาร์ ปรับเกณฑ์ต่างๆ ให้เปิดกว้างและเป็นธรรมมากขึ้น จะดีกว่าไหม

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image