ที่เห็นและเป็นไป : หรือ‘กุนซือ’หลงทาง

หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในหมวกหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่

“ความไม่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งตามกำหนดที่เคยว่ากันไว้” ก็กระหึ่ม

ในแวดวงผู้ติดตามการเมืองใกล้ชิดไม่มีใครเชื่อว่า “ประเทศไทยจะเลือกตั้งได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ตามที่ประกาศกันเป็นมั่นเป็นเหมาะไว้”

แม้ว่าผู้มีอำนาจจะยืนยันเสียงแข็งว่า ไม่มีความคิดให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก หากจะมีเหตุให้เลื่อนย่อมเป็นเรื่อง “การตัดสินใจของ กกต.” ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล

Advertisement

แต่กลับมีคนน้อยมากที่คิดเช่นนั้น ส่วนใหญ่เชื่อว่า หาก “เลื่อนเลือกตั้งออกไป” ย่อมเป็นความประสงค์ของ
ผู้มีอำนาจ แม้ กกต.จะเป็นผู้ออกคำสั่งที่เป็นทางการ แต่ย่อมเป็นคำสั่งที่ออกตามความต้องการของผู้มีอำนาจ

ไม่มีใครที่จะคิดว่า ใครจะเลื่อนเลือกตั้งได้ นอกจาก “คสช.”

และตรงนี้เองเป็นประเด็นที่ชวนให้หยิบมาคิด

Advertisement

ที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ก็คือ เพราะเป้าหมายของ “ผู้มีอำนาจ” คือได้กลับมาเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้ง แต่ที่ทุกหน่วยงานเรื่องการข่าวลงพื้นที่เช็กกระแส ข้อมูลที่รายงานกันมา ไม่ทำให้เกิดความมั่นใจได้เลยว่า “พรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ” จะทำงานประสบความสำเร็จ ในระดับที่ได้ ส.ส.มารวมกับ ส.ว.แล้วเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้โดยไม่มีปัญหาในการบริหารหลังจากนั้น

และความมั่นใจไม่ได้นี่เองที่ถูกมองว่าเป็นเหตุว่าจะ “ยังไม่มีการเลือกตั้ง”

มีความจำเป็นต้องยืดเวลาออกไป จนกว่าจะเชื่อมั่นได้ว่า “จะสามารถสืบทอดอำนาจได้หลังเลือกตั้ง”

“เลื่อนเลือกตั้ง” จึงเป็นวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่สามารถป้องกันการไม่บรรลุเป้าหมายได้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นมุมมองในวิธีที่จะรักษาอำนาจไว้โดยไม่เลือกวิธี แต่ที่สุดแล้วมีความเป็นไปได้สูงที่จะนำความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงมาให้

หนึ่ง การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ “ความไว้เนื้อเชื่อใจในตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะยิ่งลดลง ขยายความรู้สึก ความคิดว่า “เชื่อถือไม่ได้” ให้กว้างขวางออกไปอีก อย่างมีเหตุผลรองรับ

และเมื่อ “การกลับมาเป็นผู้นำหลังเลือกตั้ง” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้เกิดภาพของ “ผู้นำที่เชื่อถือได้” ในความรู้สึกของประชาชน

คนทื่คิด “เลื่อนเลือกตั้ง” ซึ่งจะทำลาย “ภาพที่จำเป็นของผู้นำ” จึงน่าจะคิดไม่ครบ เอาแต่ผลเฉพาะหน้า มองไม่เห็นว่าทำลายปัจจัยที่จะสร้างผลดีระยะยาว

สอง ในผลเฉพาะหน้านั้นเอง “ผู้นำที่ถูกกุนซือทำให้เชื่อถือไม่ได้” ย่อมเป็นการเสี่ยงอย่างยิ่งในการอยู่ในอำนาจต่อไป

เศรษฐกิจประเทศ ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกในห้วงยามปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องที่จะบริหารให้เกิดผลระดับประคับประคองให้ประชาชนไม่เดือดร้อนกับเรื่องปากท้องมากจนเกินไปได้ง่ายๆ

“ผู้นำที่ประชาชนศรัทธา” เป็นปัจจัยที่มีความจำเป็นสูงยิ่งสำหรับความสำเร็จ

การกระทำให้เกิด “ความสิ้นศรัทธาในผู้นำ” จะทำลายหนทางประคับประคองการบริหารจัดการที่ยากเย็นอยู่แล้ว ให้ย่ำแย่ลงไปอีก

ดังนั้น แม้จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ “ความไม่พร้อมสำหรับชัยชนะในการเลือกตั้งได้”

แต่แรงดันจากปัจจัยจำเป็นของการบริหารรัฐบาลที่ไม่อำนวยให้เพราะ “ความไม่น่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับผู้นำ” จะส่งให้เกิดแรงปฏิกิริยาในความรู้สึกของประชาชน

“ยื้อการเลือกตั้งออกไป” ด้วยความคิดว่า “เพื่อมีเวลาสร้างความพร้อมสำหรับชัยชนะมากขึ้น”
โอกาสที่จะกลับกลายเป็น “ยิ่งยื้อยิ่งพ่ายแพ้” มีความเป็นไปได้สูงยิ่ง

ด้วยยิ่งนับวัน “ความน่าเชื่อถือในตัวผู้นำยิ่งหมดไป”

จะเอาอะไรมาชนะ

และเชื่อหรือว่า “การอยู่ในอำนาจโดยไม่มีการเลือกตั้ง” หรือแค่ “บอกว่าจะเลือก แล้วเลื่อนออกไปเรื่อยๆ”

จะเป็นวิธีที่รักษาอำนาจไว้ได้

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image