กกต.แจงซ้ำคอมเมนต์’รธน.’ อะไร’ทำได้-ทำไม่ได้’

หมายเหตุ – นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บรรยายในกิจกรรมราชดำเนินสนทนา เรื่อง “ประชามติ อะไรทำได้-อะไรทำไม่ได้” ที่ห้องอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม

สมชัย ศรีสุทธิยากร

กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

” การจัดเวทีอภิปราย กกต.จะไม่มีการเซ็นเซอร์ด้วย ผู้จัดจะเชิญบุคคลใดมาร่วมก็ได้”

Advertisement

หลักการออกประกาศ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามตินั้น กกต.ยืนอยู่บนหลักการสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นสำคัญตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย เป็นหลักการพื้นฐานที่ กกต.คำนึงถึงว่าสิทธิและเสรีภาพสำคัญที่สุด

อะไรก็ตามที่เป็นเสรีภาพส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการพูด เขียน โพสต์ การติดต่อผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่ทำได้ เพียงแต่ว่าต้องไม่ขัดกับหลักกฎหมายที่กำหนดไว้ คือ 1.ไม่นำความเท็จมาขยายต่อ 2.ไม่ใช้ถ้อยคำที่ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ควรใช้ภาษาสุภาพ และ 3.ไม่แสดงความคิดเห็นปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองหรือสังคม

ส่วนวิธีการที่นำไปสู่การออกประกาศคือ กกต.พยายามคิดถึงรูปธรรมที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ว่าควรมีสิ่งใดบ้าง เช่น การติดป้ายหน้าบ้านทำได้หรือไม่ การสวมเสื้อที่มีข้อความ “เยส” หรือ “โน” ทำได้หรือไม่ นักวิชาการสัมภาษณ์ผ่านสื่อและจัดการอภิปรายทำได้หรือไม่ ประเด็นเหล่านี้ กกต.ถกเถียงกันมาก

Advertisement

เมื่อเรานำเอารูปธรรมทุกรูปธรรมมาถกกันจนนำไปสู่การออกประกาศ ซึ่งต้องเขียนด้วยภาษาทางกฎหมายที่กระชับและครอบคลุม จึงกลายมาเป็นรูปธรรมที่ทำได้ 6 ข้อ และทำไม่ได้ 8 ข้อ

ส่วนคำถามที่ว่าเพราะเหตุใด กกต.ไม่เขียนให้ละเอียดเพราะสิ่งที่ออกมานี้มันยังคลุมเครืออยู่ ขอชี้แจงว่าการเขียนละเอียดให้ครอบคลุมทุกพฤติกรรมร้อยชนิดพันอย่างทำไม่ได้ กกต.ไม่สามารถนำรายละเอียดยิบย่อยใส่ลงไปในประกาศได้

ยืนยันว่าสิทธิและเสรีภาพของทุกคนยังคงมีอยู่ ตราบใดที่ไม่โกหก ก้าวร้าว ปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง

ที่บอกว่าประกาศ กกต.ฉบับนี้จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน คำตอบคือไม่ใช่ เพราะประชาชนสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ กกต.ต้องการเปิดเวทีให้กว้าง ถ้ากลุ่มการเมืองต้องการจัดเวทีอภิปรายไม่สามารถทำได้ เพราะจะขัดต่อประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หากอยากจัดก็ให้ไปหาเจ้าภาพตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น สถาบันการศึกษา สื่อมวลชนหรือหน่วยงานราชการ ทั้งนี้ การจัดเวทีอภิปราย กกต.จะไม่มีการเซ็นเซอร์ด้วย ผู้จัดจะเชิญบุคคลใดมาร่วมก็ได้

สำหรับข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกมาโพสต์เฟซบุ๊กขยายความว่าสิ่งใดทำได้และทำไม่ได้ ขอชี้แจงว่าสิ่งที่โพสต์ออกมาตรงกับ 8 ข้อทำไม่ได้ เพียงแต่แยกการโพสต์กับแชร์ออกจากกัน เพราะภาษากฎหมายเขียนอย่างไรก็อ่านไม่รู้เรื่อง

ยกตัวอย่างคำว่า “ห้ามนำเข้าและส่งต่อข้อมูล” คืออะไร นำเข้าคือการโพสต์ ส่วนส่งต่อคือการแชร์ จึงมาเขียนขยายความเพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจง่าย เป็นการนำเอาเรื่องที่ทำไม่ได้ 8 ข้อมาขยายต่อเท่านั้นเอง

ส่วนการกดไลค์ข้อความต่างๆ จะผิดหรือไม่ ต้องบอกว่าเราไม่อ่อนไหวขนาดนั้นว่ากดไลค์แล้วผิด เพราะการสื่อสารที่เราใช้ในปัจจุบัน เห็นอะไรมาก็กดไลค์ไปก่อน เราอ่อนไหวเรื่องการแชร์ข้อความอันเป็นเท็จ แชร์ข้อความที่หยาบคาย ปลุกระดมมากกว่า

ดังนั้น อย่าไปใส่ใจคนกดไลค์ อย่าซีเรียส ไม่ได้เอาจริงเอาจัง เพียงแต่ว่าก่อนไลค์สิ่งใดนั้นควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนว่าข้อความนั้นเป็นเท็จหรือไม่ หยาบคายหรือปลุกระดมชักชวนให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองหรือไม่ การแชร์ขอให้พิจารณาให้ดี เพราะจะกลายเป็นการร่วมปลุกระดมไปด้วยได้

ส่วนการใส่เสื้อที่มีข้อความ “เยส” หรือ “โน” แบบบุคคลสามารถใส่ได้ ไม่เป็นปัญหา แต่เมื่อใดที่นัดใส่พร้อมๆ กันมาเดินแถวราชประสงค์ หรือเดินในมหาวิทยาลัย หรือแสดงตัวเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวาย ถึงไม่ผิดกฎหมายประชามติก็ผิดกฎหมายความมั่นคงได้ ดังนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเจตนา

อย่างไรก็ตาม กกต.ต้องการให้การทำประชามติครั้งนี้เป็นที่ยอมรับของประชาชน ทั้งกระบวนการและยอมรับถึงผลที่เกิดขึ้น คือ หลังจากผลออกมาจบเป็นจบ ชนะเป็นชนะ แพ้เป็นแพ้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image