ทรรศนะ บทสรุป “ร่าง” รัฐธรรมนูญ กระแส “สังคม”

ยิ่งใกล้ถึงวันที่ 29 มกราคม “ความแจ่มชัด” ของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็เริ่มวางแบ ณ เบื้องหน้า “ประชาชน”

“บทสรุป” ของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นั้น “ช่างเถิด”

เพราะถึง นายจตุพร พรหมพันธุ์ จะแสดงและเสนอ “ความเห็น” ออกมาอย่างไร ก็เสมอเป็นเพียง 1 ความเห็นในท้องมหาสมุทรอันกว้างไพศาลของ “ประชาชน”

ไม่จำเป็นต้องใช้ “ความฉุนเฉียว” เข้าตอบโต้สำแดง “ปฏิกิริยา”

Advertisement

ไม่จำเป็นต้องลงความเห็นรุนแรงถึงขนาดระบุลงไปว่าเป็น “ความเข้าใจผิด” หรือเป็น “ความคิด” ที่ “อคติ” เกินไป

กระทั่ง บางท่านอยากให้มีการ “ทิ่ม” ไปยัง “ปาก” ช่างจำนรรจา

ต้องขอย้ำอย่างหนักแน่นและจริงจังว่า ความเห็นอันมาจาก นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นเพียง 1 ในท่ามกลางสิ่งที่เรียกว่า “มวลมหาประชาชน”

Advertisement

ปัจจัยชี้ขาดจึงมิได้อยู่ที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์

ปัจจัยชี้ขาดอย่างแท้จริง 1 อยู่ที่บทสรุป อยู่ที่ความเห็นว่าดำเนินไปอย่างไร หนักแน่น ถูกต้องหรือไม่ และคำตอบอันเป็นปัจจัยสำคัญมากยิ่งกว่า 1 คือ ประชาชนเห็นอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่

หาก “เห็นด้วย” ก็จะกลายเป็น “ประชามติ”

ประเมินจากท่าทีและท่วงทำนองของ คสช.ประสานกับของรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นไปในแบบที่ชาวบ้านเรียกว่า

กล้าๆ กลัวๆ

นั่นก็คือ ความกล้าที่ปรากฏมิได้ดำเนินไปอย่างองอาจ สง่างาม นั่นก็คือ เป็นความกล้าที่แฝงความกลัวเอาไว้ด้วย

1 ไม่ยอมให้พรรคการเมือง “ประชุม”

ทั้งๆ ที่ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ต่างแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ไม่วกวน

ว่าต้องการประชุมเพื่อหาบทสรุปของ “รัฐธรรมนูญ”

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งก่อให้เกิดภาวะละล้าละลัง กล้าๆ กลัวๆ นั่นก็คือ เกรงว่าจะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ

ทำให้ “ศักดิ์ศรี” ของ “รัฐธรรมนูญ” เสื่อม

ในความเป็นจริง สถานะแห่งรัฐธรรมนูญ สูงส่งอย่างยิ่ง อย่างที่เรียนกันตั้งแต่ประถม ระดับมัธยม และอุดมศึกษา ตำราหน้าที่พลเมืองเขียนไว้อย่างเด่นชัดว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ในเมื่อเป็นกฎหมายสูงสุดต้องผ่านการตรวจสอบ

หากเป็น “ของดี” จริงก็เป็นดั่ง “จันทน์หอม” นั่นคือ ยิ่งทุบ ยิ่งหอม

ยิ่งกว่านั้น ขอถามเถิดว่าถึงจะพยายามใช้ “กฎหมาย” ใช้ “อำนาจพิเศษ” ต่อให้เป็นมาตรา 44 ด้วยซ้ำไปจะสามารถห้ามการเคลื่อนไหวได้หรือ

อย่าลืมบทเรียนจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

ตอนนั้นอยู่ในยุค “คมช.” อำนาจก็คับประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “คสช.” ทั้งยังมีกฎอัยการศึกค้ำคออยู่

แล้วหยุดยั้งกระบวนการ “คัดค้าน” และ “ต่อต้าน” ได้หรือ

เช่นเดียวกับภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 พรรคการเมืองถูกคำสั่งห้ามประชุมพรรค ห้ามเคลื่อนไหว

ถามว่าพรรคเพื่อไทยเคลื่อนหรือไม่ ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์เคลื่อนหรือไม่

ตอบได้เลยว่า แถลงการณ์ที่ออกมาเป็นห้วงๆ ของพรรคเพื่อไทยดำเนินการกันอย่างไรภายใต้คำสั่งห้ามประชุมพรรค

ตอบได้เลยว่า การประกาศ “ตัดเชือก” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ทำได้อย่างไร

เพียงแต่ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น “มติพรรค” เพียงแต่ไม่สามารถจัดทำรายงานการประชุมและนำเสนอต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเท่านั้นเอง

พลันที่ “ร่าง” รัฐธรรมนูญปรากฏตัวในวันที่ 29 มกราคม

ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะสกัดขัดขวาง ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะปิดปาก ปิดใจ

ตอนนี้ คสช.และรัฐบาล ตลอดจนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอาจหวั่นไหวต่อ นายจตุพร พรหมพันธุ์

แต่เชื่อได้เลยว่าเดือนกุมภาพันธ์จะเป็นเดือนแห่งการเคลื่อนไหวและแสดงความเห็นต่อ “ร่าง” รัฐธรรมนูญอย่างคึกคัก และทวีความหนักแน่นมากเป็นลำดับจนกว่าจะถึงเดือนกรกฎาคม

“แนวโน้ม” ของ “ประชามติ” จะเป็นอย่างไร ก็พอจะมองเห็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image