นักการเมืองนิวเจนจะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้จริงหรือไม่ : ณัชชาภัทร อมรกุล

ช่วงนี้ พรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะพรรคใหม่หรือพรรคเก่า ต่างเปิดตัวกลุ่มนิวเจนกันอย่างเอิกเกริก คึกคัก ซึ่งบางพรรคก็เปิดตัวเป็นนิวเจนกันทั้งพรรคเลย

กลุ่มนิวเจนมักจะน่าสนใจในสายตาของสื่อมวลชนเสมอ นอกจากพวกเขาจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นหนุ่มสาวที่ชวนมอง สะดุดตา เป็นที่สนใจของคนทั่วไป พวกเขาเหล่านี้ยังถูกมองว่าจะเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงการเมืองในแบบเก่า ๆ ได้

เรื่องแบบนี้มันจริงหรือไม่

ในทางสากล นักการเมืองนิวเจนอยู่ท่ามกลางสปอตไลท์ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรี Justin Trudeau ที่มาเป็นผู้นำฝ่ายบริหารของแคนาดาในวัย 43 ปี นายกรัฐมนตรีเอสโทเนีย Jüri Ratas ในวัย 39 ปี นายกรัฐมนตรี Leo Varadkar วัย 38 ปี ของไอร์แลนด์ นายกรัฐมนตรี Jacinda Ardern ในวัย 37 ปี

Advertisement

นักการเมืองนิวเจนไม่ได้เพิ่งมีมาในสมัยนี้

ในอดีต เราเห็น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ได้ปาฐกถาอันทรงพลังยิ่ง เรื่อง I have a dream ตอนที่เขาอายุ 34 ปี ด้วยความเชื่อว่า “วันหนึ่ง มนุษย์ทุกคนจะกลายเป็นพี่น้องกันได้”

ลี กวน ยู ก่อตั้งพรรค PAP ตอนเขาอายุ 31 ปี

Advertisement

เช เกบารา ทำการต่อสู้ทางการเมืองตั้งแต่วัยรุ่น และมีอายุยืนยาวเพียงแค่ 39 ปีเมื่อเขาถูกล้อมจับและสังหารโดยปราศจากกระบวนการยุติธรรมที่โบลิเวีย

เนลสัน เมนเดลา รณรงค์การต่อสู้แบบสันติวิธีตั้งแต่ตอนอายุ 38 ปี

ในประเทศไทยก็เช่นกัน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองล้วนมาจากกลุ่มนิวเจน

เช่นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475

ทั้งคณะผู้ก่อการ ไม่ว่าจะเป็น นายปรีดี พนมยงค์ และร้อยตรีทัศนัย มิตรภักดี อายุ 32 ปี นายตั้ว ลพานุกรม อายุ 34 ปี ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี และ ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ อายุ 35 ปี พระยาทรงสุรเดช อายุ 40 ปี พระยาประศาสน์พิทยายุทธ อายุ 38 ปี ส่วนที่อาวุโสหน่อย ก็คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา อายุ 45 ปี และ พระยาฤทธิอัคเนย์ อายุ 43 ปี ส่วนจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตน์ ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทการเมือง ตั้งแต่ปี 2476 ในครั้งกบฎบวรเดช เมื่ออายุเพียง 25 ปี จอมพลถนอมมีบทบาทการเมืองอย่างเด่นชัดตอนอายุ 36 ปี ในช่วงรัฐประหาร พ.ศ. 2490

เรียกได้ว่านิวเจนมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พวกเขามีพลัง เป็นแรงบันดาลใจ และหลายคนมีชีวิตอยู่ต่อมาอย่างยาวนานพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง

นิวเจนจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงมาทุกยุคทุกสมัย

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าเป็นนิวเจนแล้วจะต้องเป็นเสรีนิยม หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ขัดแย้งกับกระแสอนุรักษ์นิยมเสมอไป

เพราะเราก็อย่าลืมว่า เรามี Kim Jong Un แห่งเกาหลีเหนือ ที่เข้าสู่อำนาจในวัย 34 ปี และมี Sebastian Kurz ที่ชูกระแสชาตินิยมในประเทศออสเตรียในวัยเพียง 31 ปี

โดยทั่วไป นิวเจนมักจะเป็นที่คาดหวังว่าจะเป็นสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะนิวเจนเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดใหม่ๆ โดยพวกเขามักจะมากับข้อเสนอใหม่ ๆ หรือวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่ไม่มีกรอบทางสถาบันหรือประเพณีวัฒนธรรมเข้ามาขวางกั้น พวกเขาจึงเป็นความหวังที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่ยังมักจะถูกมองว่าทำอะไรด้วย passion มีความตั้งใจ ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง และมีแรงผลักดันที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างแรงกล้า

อย่างไรก็ตาม ผู้นำวัยหนุ่มสาวไม่ได้สะท้อนถึงความหวังในการเปลี่ยนแปลงจากขั้วอนุรักษ์นิยมไปเป็นเสรีนิยมกันทุกผู้คน มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่ยอมที่จะสังเวยอิสระทางความคิดของตนเองกับผลประโยชน์ คนหนุ่มสาวหลายคนเป็นทายาททางการเมืองของพวกอนุรักษ์นิยมและพอใจที่จะได้ส่วนแบ่งมหาศาลกับระบบที่เป็นอยู่ นิวเจนบางคนมีฐานเป็นลูกหลานนักการเมืองโดยไม่ได้มีอุดมการณ์ นิวเจนบางคนต้องมาเล่นการเมืองเพราะพ่อแม่ติดกับบางอย่างที่ออกมาเล่นการเมืองไม่ได้ นิวเจนบางคนมีดีลกับผู้มีอำนาจ …. นิวเจนแบบนี้ก็มีอยู่มากมายในสังคมการเมือง ไม่ต้องเอ่ยชื่อก็มีนิ้วไม่พอนับ

ดังนั้น เห็นว่าอายุน้อยอย่าเพิ่งคิดว่าเป็นนิวเจน อย่าไปหวังว่าเขาจะต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรกันทุกผู้คน ต้องดูคอนเน็กชั่นที่เขามีด้วย

นอกจากนี้ คนหนุ่มสาวหลายคนเป็นตัวแทนสะท้อนภาพปัญหาการนโยบาย และปัญหาทางการเมืองในแต่ละบริบท เช่น กระแสผู้อพยพและการก่อการร้ายในยุโรปช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันไปเป็นฝ่ายขวาสุดโต่งในหลายๆ ประเทศ

อีกอย่าง กระแสนิวเจนก็ไม่ได้เป็นกระแสเดียวในโลก เหล่า establishment ทั้งหลายก็ยังคงอยู่ เราเห็นนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ผู้อายุเพียง 49 ปี ถูกแทนที่ด้วยนายกรัฐมนตรีหญิง เทเรซา เมย์ ผู้มีอายุ 59 ปี และประธานาธิบดีทรัมป์ผู้มีอายุ 70 ปี มาแทนที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้ซึ่งมีอายุ 55 ปี

สิ่งสำคัญที่ส่งผลให้นิวเจนมีความสามารถที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัวของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับบริบทที่พวกเขาอยู่ด้วย นิวเจนที่อยู่ในสังคมที่ปราศจากโอกาส หรือประสบปัญหาต่าง ๆ เช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา การถูกกีดกันด้วยสาเหตุต่าง ๆ จะมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้น้อยมาก

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ความพยายามในการสร้างการเปลี่ยนแปลงของนิวเจนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับการยอมรับและการเปิดโอกาสจากสังคมข้างนอกด้วย นิวเจนจะต้องได้รับโอกาสจากสังคมที่จะได้ใช้ความรู้ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองด้วย พวกเขาจึงจะสามารถใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

ถ้าเราหวังว่านิวเจนจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลง ก็ควรหวนกลับมาดูว่า สังคมเราเปิดโอกาสให้กับนิวเจนได้แสดงศักยภาพของเขาหรือไม่ สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง สังคมที่ปิดกั้นโอกาส และสังคมที่เคร่งครัดวิถีจารีต ก็มักจะสร้างนิวเจนที่ต้องการผลิตซ้ำระบบเดิมที่ให้โอกาสแคบๆ แก่พวกตัวเองเหมือนเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image