รุ่นใหม่‘พปชร.’ขอเป็นผู้เล่น หวังเปลี่ยนโฉมการเมืองใหม่

จากซ้าย... “อูน” นรุตม์ สียางฟู, “เอ็ม” รัฐชยุตม์ รุ่งจารุพันธ์, “อุ๋ม” ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์, “ตี๋” ภก.คมสัณห์ ฐนะโชติพันธุ์ และ “เสริม” ไกรเสริม โตทับเที่ยงในฐานะกลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พูคคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการทำงานทางการเมืองร่วมกับพรรค พปชร.ผ่าน “มติชน”

แม้การย้ายเข้ามาร่วม “พรรคพลังประชารัฐ” (พปชร.) ของ “กลุ่มสามมิตร” รวมถึงการประกาศของ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค ที่บอกว่าจะดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตอยู่ในบัญชีนายกฯ จะทำให้จุดโฟกัสของพรรค พปชร.ไปอยู่ที่ “บิ๊กตู่” 4 รัฐมนตรี และนักการเมืองเขี้ยวลากดินภายในพรรค แต่ต้องไม่ลืมว่า พรรครวงผึ้งเคยเปิดตัวทีมคนรุ่นใหม่ไปตั้งแต่วันที่มีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2561

ไม่ว่าการเปิดตัวครั้งนั้นจะเกิดขึ้นเพราะพรรคต้องการให้โอกาสคนรุ่นใหม่จริงๆ หรือเพราะไม่อยากตกกระแส หรือเพราะจะเอาไว้ลบเสียงวิจารณ์เมื่อถูกถามถึงการพึ่งพานักการเมืองเก่าๆ

แต่สิ่งสำคัญที่ประชาชน ในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ควรได้รับจากพื้นที่สื่อ คือ การได้รู้จักความคิดของนักการเมืองที่อาจจะเป็นผู้แทนของเขาในอนาคตว่าจะพาบ้านเมืองไปในทิศทางใด ในการขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ ที่หวังจะสร้างการเมืองใหม่ได้จริงหรือไม่

“มติชน” มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนคนรุ่นใหม่ จำนวน 5 คนจากพรรค พปชร. ประกอบด้วย “อูน” นายนรุตม์ สียางฟู, “เอ็ม” นายรัฐชยุตม์ รุ่งจารุพันธ์, “อุ๋ม” ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์, “ตี๋” ภก.คมสัณห์ ฐนะโชติพันธุ์ และ “เสริม” นายไกรเสริม โตทับเที่ยง

Advertisement

โดย “ธนิกานต์” เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรค พปชร. เริ่มต้นแนะนำกลุ่มว่า ทุกคนเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ 80-90 เปอร์เซ็นต์ เป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวมาก่อน มีอุดมการณ์ร่วมกัน อยากใช้ความรู้ความสามารถพัฒนาประเทศ

“จนกระทั่งมีพรรค พปชร.และพี่บี (พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และกรรมการบริหารพรรค พปชร.) ติดต่อมาว่า สนใจไหม มีโอกาสนะ ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นพรรคอะไร แต่เมื่อมีคนให้โอกาส จึงรวมตัวกันและเริ่มทำเวิร์กช็อป”

เมื่อถูกถามว่าการเป็นคนมีฐานะ จะทำให้เข้าใจความเดือดร้อนของคนรากหญ้า และจะเข้าไปอยู่ในใจของคนรากหญ้าได้หรือไม่ อย่างไร “เสริม” ออกตัวขอตอบคำถามนี้ โดยอธิบายว่า “ธุรกิจที่พวกผมทำอยู่ก็ไปเกี่ยวข้องกับคนหลากหลายกลุ่ม เช่น ถ้าเป็นเภสัชกรก็ต้องเกี่ยวข้องกับคนไข้ ทำธุรกิจอาหารก็ต้องเกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ดังนั้น ขอให้มองแยกประเด็นว่าการทำธุรกิจคือการใช้ความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการให้งานสำเร็จลุล่วง เช่นเดียวกันกับการเข้ามาทำงานการเมือง ที่ต้องตั้งโจทย์ก่อนว่า ทำอย่างไรคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่จะดีขึ้น ทำอย่างไรให้คนเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้มากขึ้น

Advertisement

ในฐานะที่ทุกคนทำธุรกิจมา เป็นคนรุ่นใหม่ หน้าใหม่ แต่ไม่ใช่ไม่มีประสบการณ์ ไม่ได้มีแต่ไฟ ไม่ใช่จบมาใหม่ๆ มีอุดมการณ์แรงกล้าสูงใหญ่ แต่ไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับชีวิต พวกเราล้มลุกคลุกคลาน ประสบความสำเร็จ เคยผิดพลาดก็เรียนรู้กับมัน เมื่อเข้ามาทำการเมือง จึงมีเป้าหมายอยากสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับประชาชน ต้องการสร้างให้สังคมไทยมีทิศทางในการเดินหน้าที่ดีขึ้นกว่าเดิม ความเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ไม่ใช่ปัญหา”

ขณะที่ “อุ๋ม” เพิ่มเติมว่า ไม่ได้มองเรื่องรวยหรือจน แต่มองว่าประเทศไทยในภาพกว้างจะมี 3 เจเนอเรชั่น คือ 1.รุ่นพ่อแม่ที่มีประสบการณ์ในการสร้างธุรกิจ 2.รุ่นพวกตนเอง มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และอายุเฉลี่ยของทุกคนอยู่ที่ 30 กว่าปี และ 3.รุ่นเด็กๆ ที่กำลังเรียนอยู่ ซึ่งมีความสนใจเทคโนโลยี ดังนั้น หน้าที่ของพวกตนคือทำอย่างไรจึงจะเชื่อมทั้ง 3 เจเนอเรชั่นให้เดินไปพร้อมๆ กันได้

ส่วนเหตุผลทำไมถึงต้องเลือกพรรค พปชร. “ตี๋” ดีกรีเภสัชกร จุฬาฯ เล่าว่า เริ่มธุรกิจมาด้วยตัวเอง เวลาเข้าไปสัมผัสลูกค้า หรือใครก็แล้วแต่ คิดว่าพอจะสัมผัสคนรากหญ้าหรือคนไข้ได้ จึงไม่อยากให้นำความมีฐานะหรือไม่มีฐานะมาปิดกั้น แต่ขอให้มองมุมกลับว่าพวกตนมีความพร้อมที่จะเสียสละ เข้ามาทำงานการเมือง

“พวกเราพร้อมมาก และคิดว่าทุกคนมองตรงกัน คือต้องการทำการเมืองใหม่ พวกเรามีความคิดความอ่านระดับหนึ่ง ไม่ได้บอกว่าตัวเองเก่ง แต่พรรคการเมืองอื่น เป็นพรรคเก่าแก่บ้าง หรือพรรคที่มีอุดมการณ์ตรงหรือไม่ตรงกับสิ่งที่เราคิดบ้าง ผมเชื่อว่าพรรค พปชร.เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่จริงๆ เรามีประสบการณ์ด้านการทำงาน การบริหารจัดการ และพรรคให้โอกาสเต็มที่ ไม่ใช่การฟังจากผู้ใหญ่มาว่าต้องทำอะไร ไม่ใช่ประเภทเอาชื่อมาลงสมัครแล้วรอคำสั่ง ถ้าเป็นแบบนั้น ผมอยู่บ้านดีกว่า ไม่คุ้มหรอก ถ้ารู้สึกว่าถูกครอบงำ หรือพรรคมีเจ้าของที่จะชี้ว่าต้องทำอะไร”

ขณะที่ “อูน” เสริมว่า พรรคนี้ไม่มีเจ้าของ ทุกคนเข้ามาด้วยความตั้งใจ เข้ามาเพราะมีโอกาสในการทำงานจริง และสามารถแบ่งปันสิ่งที่คิดกับคนที่ได้สัมผัส ไม่ว่าจะเป็นคนรากหญ้า หรือคนระดับใดก็ตาม

เมื่อถามต่อว่า คิดว่าอะไรคืออุปสรรคหรือความผิดพลาดที่ทำให้คนรากหญ้าในประเทศไทยไม่สามารถเลื่อนฐานะของตัวเองได้ “เสริม” สะท้อนความคิดว่า ถ้าจะพูดถึงช่องว่างทางสังคมในปัจจุบัน คงต้องพูดเรื่องการศึกษา การเข้าถึงการศึกษาที่แตกต่าง ทำให้โอกาสของคนนั้นแตกต่างกัน แต่ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนไม่มีโอกาสหรือไม่มีความสามารถ นอกจากนี้การบริหารประเทศที่ต่อเนื่องบ้าง ไม่ต่อเนื่องบ้าง นโยบายหลายอย่างถูกปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ทำให้เรื่องพื้นฐานเหล่านี้ไม่ต่อเนื่อง จึงสั่งสมและสร้างช่องว่างให้ห่างขึ้นเรื่อยๆ

แต่ “การเมืองใหม่” จะเกิดขึ้นได้จริงหรือ หากประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนเดิม คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งพรรค พปชร.มีท่าทีว่าจะสนับสนุน

“ตี๋” ตอบคำถามนี้ว่า คิดว่าคงมีหลายเหตุผล และขอแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ ประเด็นนายกฯและประเด็นที่ว่าถ้าประชาชนให้โอกาสพวกตน จะเป็นการจุดประกายว่ามีความต้องการนักการเมืองหรือกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาสู่สภา หรือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารประเทศ แต่ถ้าทีมคนรุ่นใหม่ไม่ว่าของพรรคใด ไม่ได้รับโอกาส การเมืองก็จะเป็นรูปแบบเดิม

“ส่วนเรื่องที่นายกฯจะกลับมาหรือไม่นั้น ผมเชื่อว่าอยู่ที่มติว่าประชาชนจะเลือกหรือไม่ ผมเชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ ได้คืนอำนาจให้กับประชาชนผ่านการเลือกตั้งแล้ว ถ้าประชาชนรู้สึกพอใจหรือยังได้ความนิยมอยู่ ผมเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้กลับมา แต่ ณ ตอนนี้ ผมไม่รู้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว ใครจะเป็นเบอร์ 1, 2 หรือ 3”

ขณะที่ “เสริม” อธิบายต่อว่า “วันนี้เข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง เป็นระบอบประชาธิปไตยที่คืนอำนาจให้ประชาชน ผู้นำถ้ามีศักยภาพและมีเรื่องที่คนยอมรับ ก็ไม่เสียหาย ผมคงไม่ได้บอกว่าใคร และมติจะเป็นอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าบริบทต่างๆ จะเป็นตัวกำหนด และคงไม่สามารถบอกว่า ก็เพราะแบบนี้ เราถึงได้ผู้นำแบบเดิม ผมว่ามันไม่แฟร์ ต้องมองว่ามีหลายปัจจัยที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น”

สำหรับประเด็นที่ว่าหากพรรค พปชร.มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ จะส่งผลบวกอย่างไรบ้างในการลงพื้นที่หาเสียง “เอ็ม” ระบุว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลทำมีประโยชน์อยู่ก็หลายอย่าง แต่อาจจะประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง เช่น นโยบายที่แก้ปัญหาปากท้องของประชาชนอย่างการให้คนจนหรือคนมีรายได้น้อยใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อนำไปซื้อของและแบ่งเบาภาระเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ

ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์ว่า “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” คือนโยบายที่มีลักษณะประชานิยม “เอ็ม” แสดงความเห็นว่า เป็นสวัสดิการของรัฐมากกว่า ไม่เชิงเป็นประชานิยม เพราะไม่ได้แจกเงินเพื่อให้ไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย แต่มีเป้าประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชน

แต่สิ่งหนึ่งที่พรรค พปชร.มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นคือการสืบทอดอำนาจ ในฐานะคนรุ่นใหม่จะชี้แจงอย่างไร

“อูน” ตอบคำถามนี้ว่า “ผมไม่ค่อยเข้าใจว่าสืบทอดอำนาจในแง่นี้คืออะไร ความหมายของบางท่านคือการให้ทหารมีอำนาจต่อ ตั้งแต่ผมเข้ามาร่วมทำงานกับพรรค ยังไม่เคยเห็นทหารสักคนเลย คนรุ่นใหม่ก็เพิ่งมาเห็นหน้ากันที่พรรค มาทำงาน แชร์ไอเดียกันเพื่อเสนอผู้ใหญ่นำไปเป็นนโยบาย จึงไม่มองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ”

ด้าน “เอ็ม” บอกว่า ตอนนี้บ้านเมืองเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งอย่างจริงจัง ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการตัดสินใจของประชาชนจะเป็นแนวทางไหน จะไปบอกว่ารัฐบาลเดิมเข้ามาสืบทอดอำนาจ คงเร็วไปที่จะตัดสิน

ขณะที่ “ตี๋” เสริมว่า “คำว่าสืบทอดอำนาจ หรือคำอะไรก็แล้วแต่ เป็นความพยายามทำให้กลายเป็น 2 ขั้ว ไม่ว่าผมจะไปอยู่พรรคไหนก็รู้สึกเบื่อ ก่อนหน้านี้เป็นกีฬาสี คราวนี้มาแบ่งเป็น 2 ฝั่งอีกแล้ว ผมเชื่อว่ามันเป็นวาทกรรมอย่างหนึ่ง ตอนที่ได้รับการติดต่อ ผมก็คิดว่าการเมืองจะเป็นอย่างเดิมไหม จะเป็นกีฬาสีอีกไหม ถ้าเข้าไป จะไปยังไง พอรู้จุดยืนของพรรค จึงทำให้กล้าก้าวออกมา เพราะถ้าอยู่บ้านก็ไม่เจ็บตัว ไม่ต้องเจอคนมานั่งถามหรือจี้ประเด็น ไม่อยากให้ทุกคนเอาวาทกรรมหรือสิ่งเหล่านี้มาแบ่งแยก ผมเชื่อว่าตอนนี้ทุกคนพยายามทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า พวกเราพยายามจะกลางที่สุด อยู่ที่ว่าคุณจะเลือกนักการเมืองหน้าใหม่ที่นามสกุลเก่า หรือนักการเมืองหน้าใหม่ที่เป็นคนใหม่จริงๆ และไม่จำเป็นต้องเป็นพรรค พปชร.ด้วย”

ขณะที่ “อุ๋ม” บอกว่า “ส่วนตัวก็เบื่อเหมือนกัน ก่อนเข้ามาทำงานที่พรรค ได้ดูการเมืองและอยากเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่ก็ได้นั่งบ่นกันอยู่ที่บ้าน ทั้งๆ ที่มันควรจะทำได้ดีมากกว่านี้ จึงมาคุยกันว่าแทนที่จะเป็นนักวิจารณ์อยู่ที่บ้าน ในเมื่อมีโอกาสมาเป็น player (ผู้เล่น) ไหม ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร แต่ก็ได้ทำแล้ว ประสบการณ์ทางการเมืองพวกเราไม่มี ดังนั้น ในพรรคจึงต้องมีนักการเมืองที่มีประสบการณ์ เข้ามาผสมผสานการทำงานร่วมกัน”

แต่การมี ส.ว. 250 คนที่แต่งตั้งโดย คสช. และมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้จะทำให้ผลการเลือกตั้งสะท้อนอำนาจของประชาชนได้จริงหรือ

“เสริม” ตอบคำถามนี้ทันควันว่า “พรรค พปชร.เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เช่นเดียวกับทุกพรรค รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างไร พรรค พปชร.ก็ทำตามกติกา เหมือนกับทุกพรรค ผมตอบในฐานะตัวแทน เป็นพรรคการเมือง ก็ต้องบอกว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้พูดเลยว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ หรือหากท่านจะยอมรับ ก็มองว่ามีอะไรเสียหาย ผมว่าอย่าปนเปกัน เอาให้ชัดเลย ไม่เช่นนั้นพูดแล้วจะเหมารวมหมด ผมว่า ส.ว.ก็มีศักดิ์มีศรี ยืนยันอีกครั้งว่า กติกาคือกติกา เราเดินตามกติกา ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าแนวทางของใครที่ประชาชนเห็นด้วย แนวทางใดที่ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะทำให้ประเทศสงบสุขและเดินหน้าได้”

แล้วคิดอย่างไรกับประโยคของแกนนำคนหนึ่งในพรรคพลังประชารัฐที่ว่า “รัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์เพื่อพวกเรา”

“เสริม” ตอบคำถามนี้ว่า “ก็เป็นคำพูด ถ้าถามผมก็ไม่พูดแบบนั้น มันจะเอื้ออย่างไร ถ้าเอื้อก็ไม่ต้องเลือกตั้ง” ส่วน “อูน” กล่าวว่า “ถ้าเอื้อ พวกผมก็คงไม่เหนื่อยหรอก ทุกวันนี้รวมตัวกัน จบงานก็ตี 1 ตี 2 มันเหนื่อย แต่ทุกคนก็ทำด้วยความตั้งใจ”

มาถึงช่วงขายของ เมื่อให้แต่ละคนพูดถึงจุดแข็งของพรรค พปชร.ที่จะนำไปบอกกับพี่น้องประชาชน

“ตี๋” ตอบว่า จุดแข็งคงเป็นความสด ใหม่ แต่พอมีประสบการณ์จากการทำงาน ประเทศคือบ้านหลังใหญ่ ถ้ามีคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจจะเข้าไปบริหาร เชื่อมั่นว่าประเทศจะได้อะไรที่ใหม่ขึ้น ทันโลก และได้เห็นรูปแบบใหม่ แต่คงไม่กล้าฟันธงว่าของใหม่จะเป็นของดีเสมอไป

ส่วน “เอ็ม” ปิดท้ายว่า จุดแข็งของพวกเขา คือ “การเป็นใครก็ไม่รู้ จะมีกี่พรรคที่ให้โอกาสคนอย่างพวกผมเข้ามาทำงาน เสนอไอเดียกับผู้ใหญ่ได้เลย ไม่ต้องผ่านหลายขั้นตอน ไม่ต้องผ่านผู้อาวุโส ไม่ต้องผ่าน ส.ส.เก่า รัฐมนตรีเก่าๆ ที่อยู่ในพรรคมากมาย ลงพื้นที่ คิดอะไร เสนอตรงกับผู้ใหญ่ในพรรคได้เลย และผู้บริหารก็รับฟัง เอาไปปรับใช้ทันที”

ส่วนคนรุ่นใหม่ของพรรค พปชร.จะไปขับเคลื่อน เปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองสู่รูปแบบใหม่ได้หรือไม่ ฉันทามติของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง คือ ตัวตัดสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image