นักวิชาการเผย 3 อจ.-นักกิจกรรม แสดงออกบนหลักวิชาการได้ ไม่ได้ต้าน-ค้านรบ.

SONY DSC
วันที่ 4 พฤษภาคม  นายชำนาญ  จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระและอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยกรณีมณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ เชิญน.ส.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ (มช.) นางรจเรข วัฒนพานิช เจ้าของร้านหนังสือ Book Re:public  นายสุรพงษ์ ศรีพรม อาจารย์โรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง อ.พบพระ จ.ตาก เข้าชี้แจงและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทางราชการ  กรณีเคลื่อนไหวชุมชนที่ข่วงท่าแพ ก่อนได้รับการปล่อยตัว ว่า ทางทหาร กับ น.ส.ปิ่นแก้ว นางรจเรข และนายสุรพงษ์ ไม่ได้ทำบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู ห้ามเคลื่อนไหวทางวิชาการ และการแสดงออกความคิดเห็นที่อยู่บนพื้นฐานหลักวิชาการ ไม่เกี่ยวข้องการเมือง สามารถทำได้  แม้ว่ามีการพูดคุยทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายแล้ว
“ความเป็นจริงการเคลื่อนไหวชุมชน แสดงออกความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวข้องการเมืองทั้งสิ้น ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่ต้องใช้หลักวิชาการอ้างอิง เพื่อสะท้อนมุมมอง และหาคำตอบให้สังคม เพราะอาจารย์ หรือนักวิชาการ กินภาษีเงินเดือนประชาชน ต้องแสดงบทบาท ให้แสงสว่าง ความรู้แก่สาธารณชน แต่ไม่จำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน หรือคัดค้านรัฐบาล และผู้มีอำนาจ แต่ให้มีกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม เพื่อพัฒนาสังคม การเมือง และผู้บริหารประเทศไปในทางที่ดีขึ้น ถ้าไม่แสดงออก หรือความคิดเห็น ก็ไม่ใช่นักวิชาการที่แท้จริง” นายชำนาญ กล่าว
ด้านนายอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์  มช. กล่าวว่า การพูดคุยระหว่างทหารกับนักวิชาการ เป็นไปด้วยดี เท่าที่ฟังจาก 3 อาจารย์ และได้พูดคุยกับ พล.ต.โกศล ประทุมชาติ  ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ ได้สร้างความเข้าใจกันระดับหนึ่ง ซึ่งต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ตัวเอง ซึ่งการเคลื่อนไหวของอาจารย์ และนักวิชาการ เป็นความปราถนาดีต่อประเทศ เพื่อสะท้อนมุมมองทางวิชาการเท่านั้น ดังนั้นการเคลื่อนไหวของ น.ส.ปิ่นแก้ว นางรจเรข และนายสุรพงษ์ ยังสามารถทำต่อไปได้ ภายใต้หลักวิชาการและข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือน เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคม และภาพลักษณ์ที่ดีต่อนานาประเทศ
กรณีทหารขอให้ยกเลิกเคลื่อนไหวชุมนุมที่เกี่ยวข้องการเมือง และให้ไปเคลื่อนไหวช่วงเลือกตั้ง ถ้าฝ่าฝืนอาจถูกจับกุมและดำเนินคดีนั้น ควรเปิดพื้นที่ให้เคลื่อนไหวและแสดงออกมากกว่าปิดกั้น เพราะไม่ได้ต่อต้านหรือคัดค้านรัฐบาล หลังพูดคุยและทำความเข้าใจกับทหารแล้ว มีความชัดเจนมากขึ้น และเห็นกันได้ จึงไม่อยากให้เกิดความคลุมเครือ ที่ส่งผลกระทบทั้งสองฝ่าย
ด้านนายสุรพงษ์ กล่าวว่า การพูดคุยกับทหาร ไม่มีการเซ็น หรือลงลายมือชื่อในเอกสารใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการพูดคุยกันเฉยๆ ซึ่งทหารขอความร่วมมือ ไม่ให้ทำกิจกรรมการเมือง หากทำกิจกรรมต้องขออนุญาตทหารก่อน หากฝ่าฝืนและไม่ให้ความร่วมมืออาจถูกจับกุมและดำเนินคดีนั้น ส่วนตัวเห็นว่า น่าเป็นห่วง เพราะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพจึงไม่อยากให้ใช้มาตรการรุนแรง ที่ส่งผลกระทบต่อใครทั้งสิ้น น่าพูดคุยและทำความเข้าใจ โดยยึดหลักพบกันครึ่งทางดีกว่า น่าเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image