ย้อนอดีต มองอนาคต จับชีพจร‘ภูมิใจไทย’ทําไมเนื้อหอม

อุณหภูมิการเมืองเริ่มสูงขึ้น เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์การเลือกตั้งที่จะอุบัติขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ทำให้ทุกพรรคการเมืองเริ่มมีความคึกคักกันเป็นพิเศษ และพรรคภูมิใจไทยก็เป็นพรรคหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

พรรคภูมิใจไทย ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2551 ก่อนที่พรรคพลังประชาชน จะถูกยุบเพียงไม่ถึง 1 เดือน ท่ามกลางสถานการณ์อันตึงเครียดในขณะนั้น

เพราะก่อนหน้านั้น ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ นายสมัคร สุนทรเวช หรือ “ลุงหมัก” นายกรัฐมนตรี ต้องพ้นจากเก้าอี้ เพราะรายการ “ชิมไปบ่นไป”

โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ห้ามนายกฯมีตำแหน่งใดๆ ในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด หากมีการกระทำตามมาตรานี้ จะทำให้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7)

Advertisement

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังได้ตีความคำว่า “ลูกจ้าง” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เป็นเหตุให้ต้องพ้นจากเก้าอี้

ซึ่งในขณะนั้น “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ของ นายเนวิน ชิดชอบ ได้สนับสนุนให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่มี “ดีลลับในยามดึก” สายตรงจากนายใหญ่ สั่งเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี เป็น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทำให้ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ตกขบวน ยกมือหนุนลุงหมักนั่งนายกฯ ต้องพ่ายแพ้ในสภา

จนเป็นตำนานของนายสมชาย ที่เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่เคยได้เข้าทำเนียบเลยแม้แต่วันเดียว เพราะมีผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯยึดทำเนียบรัฐบาลเอาไว้

Advertisement

กระทั่งพรรคพลังประชาชนถูกยุบพรรคไปพร้อมกับพรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย ทำให้นายสมชายต้องพ้นจากตำแหน่ง พร้อมทั้งถูกตัดสิทธิทางการเมือง พร้อมเพื่อนอีก 108 คน

ต่อมาจึงมีการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ชู นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ ส.ส. “กลุ่มเพื่อนเนวิน” 23 คน ย้ายไปรวมกับ “กลุ่มมัชฌิมา” ของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่เหลือ ส.ส.อยู่ 9 คน ทำให้พรรคภูมิใจไทย มี ส.ส. 32 คน ได้ร่วมรัฐบาลกับนายอภิสิทธิ์

และในการเปิดตัวพรรคอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 เป็นที่มาของวลีเด็ด “มันจบแล้วครับนาย” ของนายเนวิน ที่ได้พูดถึง นายทักษิณ ชินวัตร ผู้สั่งเปลี่ยนตัว “ลุงหมัก” จนต้องตรอมใจ

ในครั้งนั้น พรรคภูมิใจไทยได้โควต้ารัฐมนตรีอย่างสมน้ำสมเนื้อ หลังจากหักกับนายใหญ่ ประกอบด้วย ส่วนของ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ

“กลุ่มมัชฌิมา” นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อถึงคราวยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในปี 2554 พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส.34 ที่นั่ง แต่ในครั้งนั้น “กลุ่มมัชฌิมา” เป็นงูเห่าอีกครั้ง และย้ายกลับไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคภูมิใจไทยได้เป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไม่สามารถทำ ส.ส.ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้
70-80 คน

และในระหว่างที่มีการรัฐประหาร ปี 2557 ทำให้บรรดาอดีต ส.ส.ต่างหดหายย้ายพรรคไปสังกัดพรรคอื่น

จนระฆังเลือกตั้งดังขึ้น!! ปี่-กลองจึงเริ่มบรรเลงทันที ความหวือหวาของพรรคภูมิใจไทย ปรากฏเด่นชัดตั้งแต่มีการปรับโครงสร้างพรรคใหม่ เมื่อมีการเปิดตัว นายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต ส.ส.อุทัยธานี นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร อดีต ส.ส.อยุธยา จากพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ตัดสินใจย้ายพรรค และมารับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อีกทั้ง นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ อดีต ส.ส.พิจิตร พรรคชาติไทยพัฒนา ได้นำทีมพิจิตรเข้ามาร่วมสังกัดและยังมี นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ส.ส.ชัยภูมิ

และยังมี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ที่เป็นนิวบลัด จากพรรคชาติไทยพัฒนา ตัดสินใจย้ายค่ายมาสังกัดภูมิใจไทย ตามด้วย 2 พี่น้อง ตระกูลปริศนานันทกุล แห่งอ่างทอง ทั้ง นายภราดร และ นายกรวีร์ ตัดสินใจย้าย

หลังจากเกิดศึกภายในขึ้นในพรรคชาติไทยพัฒนา

นอกจากนี้ ยังมี นายสมควร โอบอ้อม อดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคประชาธิปัตย์ นำกลุ่มนักการเมืองปากน้ำโพ เข้ามาร่วมสังกัดเช่นกัน ตามด้วย นายประมวล เอมเปีย, นายมานิตย์ ภาวสุทธิ์ 2 อดีต ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์

และคนของพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย พล.ร.อ.สุรพล จันทน์แดง อดีต ส.ส.ชลบุรี นายพหล วรปัญญา อดีต ส.ส.ลพบุรี นายดิสทัต คำประกอบ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ นายสุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล อดีต ส.ส.อยุธยา นายประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ อดีต ส.ส.ชัยภูมิ และนายพลพีร์ สุวรรณฉวี อดีต ส.ส.นครราชสีมา

หลายคงอดสงสัยไม่ได้ว่าพรรคภูมิใจไทยมีดีอะไร ทำไมอดีต ส.ส.จึงได้ไหลมาเทมา เพราะแต่ละคนล้วนมีคะแนนในมือเป็นของตัวเอง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคระบุว่า ทุกวันนี้พรรคภูมิใจไทยถือเป็นพรรคที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม เทคโนโลยี และคิดนอกกรอบ แตกต่างจากพรรคการเมืองในอดีต มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาดำเนินการในด้านต่างๆ และมีการวางกรอบนโยบาย โดยใช้วิธีแก้ไขปัญหาด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีอยู่จริงในโลก และการบริหารจัดการ ที่ยึดประชาชนเป็นหลักสำคัญที่สุด และทำนโยบายที่ทำได้จริง และทำได้ทันที เพราะทางพรรคได้ดำเนินการยกร่างกฎหมาย และร่างระเบียบ วิธีการ ไว้เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งยังมีแคมเปญ ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน จึงถือเป็นนโยบายที่จับต้องได้

ไม่เพียงแต่นโยบายที่จับต้องได้ ตัวนายเนวินที่เปรียบเสมือนครูใหญ่ของพรรคและนายอนุทินยังมีคอนเน็กชั่น มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล อย่างที่เห็นได้ชัดจากการนำคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยือนบุรีรัมย์ เมืองหลวงของภูมิใจไทย ที่จัดงานต้อนรับนายกฯอย่างใหญ่โตแบบที่ไม่มีใครทำมาก่อน

ไม่เพียงคอนเน็กชั่นกับรัฐบาลปัจจุบัน นายอนุทินยังสามารถยกหูหาสายตรงแดนไกล รวมถึงพรรคต่างๆ ได้อย่างเป็นมิตร และพยายามที่จะไม่สร้างศัตรูให้กับพรรค

วันนี้บุรีรัมย์จึงไม่ได้เป็นแค่เมืองหลวงของพรรคภูมิใจไทย เพราะจากการย้ายพรรคของอดีต ส.ส.จากพรรคอื่นๆ ทำให้เห็นว่า พรรคภูมิใจไทยจะขยายฐานเสียงจากอีสานใต้ไปยังทั่วประเทศได้

อย่างที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค ระบุว่า “ประเทศไทยคือเมืองหลวงของพรรคภูมิใจไทย”

นับถอยหลังถึงวันเลือกตั้งแล้วมาดูกันว่าไผเป็นไผ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image