ลึกแต่ไม่ลับ “บรรหาร” กับ “สะพานติณสูลานนท์” ที่สงขลา

ลึกแต่ไม่ลับ "บรรหาร" กับ "สะพานติณสูลานนท์" ที่สงขลา

ลึกแต่ไม่ลับ “บรรหาร” กับ “สะพานติณสูลานนท์” ที่สงขลา

ปิดตำนาน “คนการเมือง” ไปอีกราย กับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ “มังกรสุพรรณ” ที่ชื่อ “บรรหาร ศิลปอาชา” นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศไทย เมื่อเช้ามืดของวันที่ 23 เมษายน ได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างกะทันหัน ที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ จากภาวะหอบหืดกำเริบ สิริอายุได้ 83 ปี 8 เดือน

“นายบรรหาร” หรือชื่อเดิมคือ “เต็กเซียง” เกิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2475 จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนในจังหวัดสุพรรณบุรี แล้วเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อที่โรงเรียนวัฒนศิลป์วิทยาลัย แต่เรียนไม่ทันจบต้องออกไปช่วยพี่ๆ ทำงาน เพราะฐานะทางบ้านยากจน

“ต้นชีวิต” ผกผันจากเดิมที่เคยฝันว่าจะเป็นเจ้าของร้านตัดสูท แต่จับพลัดจับผลูเข้าสู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง รวมทั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายคลอรีนให้กับการประปาส่วนภูมิภาค จนมีฐานะร่ำรวย

“คุณบรรหาร” เล่าว่า ก่อนจะลืมตาอ้าปากได้ เคยเดินขายโอเลี้ยงตามสถานที่ราชการต่างๆ มาก่อน

Advertisement

สมรสกับ “คุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา” มีบุตร-ธิดา รวม 3 คน คือ “น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา-น.ส.ภัคณีรัศ ศิลปอาชา และ “วราวุธ ศิลปอาชา”

ถนนสายการเมืองโรยกุหลาบ มาจาก “บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ” นักการเมืองชื่อดังแห่งจังหวัดสุพรรณบุรี เห็นหน่วยก้าน ชักชวนสู่เวทีการเมือง ประเดิมด้วย “สภาสนามม้า” ในตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นสมาชิกวุฒิสภาปี พ.ศ.2518

จากนั้น ในปี พ.ศ.2519 เป็นนักการเมืองเต็มตัว ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สุพรรณบุรี สมัยแรก ในสังกัดพรรคชาติไทยมาตลอด 11 สมัย

ไต่เพดานบินในพรรคชาติไทยทีละสเต็ป เป็นกรรมการบริหารพรรค รองเลขาธิการพรรค เลขาธิการพรรค ในปี พ.ศ.2537 ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี “กระทรวงเกรดเอ” มาเกือบหมด ประกอบด้วย สมัย “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” เป็นนายกรัฐมนตรี “คุณบรรหาร” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าาการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยรัฐบาล “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ”

กลับถิ่นเก่าเป็นรัฐมนตรีคมนาคมอีกครั้ง สมัยรัฐบาล “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” เมื่อ พ.ศ.2535

วันที่ 19 พฤษภาคม 2538 มีพระราชกฤษฎีกายุบสภา และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ พรรคชาติไทย ชนะเลือกตั้ง ขณะนั้น “นายบรรหาร” ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค จึงก้าวกระโดดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2538 – พฤศจิกายน 2539

“คุณบรรหาร” มีฉายาสารพัด “มังกรสุพรรณ-หลงจู๊-เติ้งเสี่ยวหาร” เป็นจอมยุทธ์คนหนึ่ง

อีกด้านหนึ่ง ของ “บรรหาร” คือนักพัฒนา ใครที่เดินทางไปจังหวัดสุพรรณบุรี ย่อมเข้าใจถ่องแท้ดี ถนนหนทางกว้างขวาง 2 ข้างทางตกแต่งด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ดูสวยงาม และที่สำคัญสะอาดสะอ้านอร่ามตาไปหมด ยกระดับ “สุพรรณฯ” เมืองเล็กๆ เมืองผ่าน ไม่มีแหล่งท่องเที่ยว ให้เจริญรุ่งเรือง น้องๆ กรุงเทพฯ และผงาดขึ้นมาเป็นเมืองท่องเที่ยว

การเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง มีความชำนาญเรื่องถนนหนทาง ทางหลวงทั่วประเทศหลายสาย เกิดจากฝีมือของคนชื่อ “บรรหาร”

ช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ครั้งแรก “คุณบรรหาร” มีความเคารพนับถือ “พล.อ.เปรม” ในฐานะนายกฯ ที่ตัวเองร่วมสมัย แม้ “ป๋า” จะก้าวลงจากหลังเสือแล้ว วางมือในอ่างทองคำแล้ว แต่ “บรรหาร” ก็ยังเทียวเข้าเทียวออกบ้านสี่เสาฯ ในช่วงที่ตัวเองดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ตลอด เสมอต้นเสมอปลาย

“บรรหาร” ไม่เพียงพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอยู่ที่เดียว ช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีความเคารพผูกพันกับ “ป๋าเปรม” ที่บ้านเกิดต้นตระกูล จากจังหวัดสงขลา

ดังที่ทราบกันดีว่า สงขลาเหมือนจังหวัดอกแตก ถูกผ่าซีก ปล่อยเกาะ อำเภอระโนด อำเภอสะทิงพระ และสิงหนคร

จะไปมาหากันทุลักทุเล ต้องข้ามฝั่งด้วยเรือแพขนานยนต์ ขึ้นที่ฝั่งหัวเขาแดง ไปขึ้นที่ตัวเมือง ฝั่งแหลมสมิหรา รถราติดกันยาวเหยียด ทั้งๆ ที่ว่า ในขณะนั้นยวดยานพาหนะยังใช้กันน้อย

“ป๋าเปรม” นายกฯ คนที่ 16 เคยปรารภอยากจะสร้างสะพานเชื่อมทะเล 2 ฝั่ง กาลต่อมา “คนสงขลา” และพระในนามของสภาตำบล และสภาท้องถิ่นทุกแห่งในจังหวัด หยิบแนวคิดที่จะสร้างสะพานเชื่อมของ “พล.อ.เปรม” มาขยายผล

จึงเป็นที่ไปที่มาของ “สะพานติณสูลานนท์” สะพานคอนกรีตที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เชื่อมเกาะยอกับผืนดินใหญ่ฝั่งอำเภอเมือง และอำเภอสิงหนคร โครงการแล้วเสร็จในปี 2527

แต่ต่อมา มีการสร้างรูปเหมือน “ป๋าเปรม” เป็นเชิงสัญลักษณ์ของปูชนียบุคคลแห่งความซื่อสัตย์สุจริต และยึดมั่นในการกระทำความดี พร้อมสวนป๋าเปรม เชิงสะพาน หมู่ที่ 2 ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และสร้างอาคารอเนกประสงค์ และการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์รองรับ

เพื่อเป็นองค์ประกอบให้ “สะพานติณ” หรือ “สะพานติณสูลานนท์” สมบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง การก่อสร้างในส่วนต่างๆ เหล่านี้ ลงมือดำเนินการเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 “นายบรรหาร ศิลปอาชา” ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์

“คุณบรรหาร” เคยบอกว่า หลังจากต่อยอดส่วนต่างๆ ให้ “สะพานติณ” สมบูรณ์แบบแล้ว ตัวเองเคยมีแนวคิดจะสร้างอุโมงค์ลอดเกาะช่วงหัวเขาแดง กับเมืองสงขลา เพื่ออำนวยความสะดวก การเดินทางของคนสองฝั่งทะเล รวมถึงนครศรีธรรมราชด้วย

ถึงขั้นแอบไปดูงานการสร้างอุโมงค์ที่เกาะฮ่องกง เพื่อนำมาจำลองเป็นแบบอย่าง

แต่ถูก “คนพื้นที่” ต่อต้านก็เลยพับโครงการอุโมงค์ลอดทะเลระหว่างหัวเขาแดงกับเมืองสงขลา

ไม่เช่นนั้นป่านนี้คงจะไม่ทุรกันดาร รถติดรอขึ้นแพขนานยนต์อยู่แบบเดิมๆ

ที่ยกเรื่องราวของ “สะพานติณสูลานนท์” มากล่าวอ้าง เพื่อบ่งบอกว่า “คุณบรรหาร” ไม่เพียงแต่พัฒนาแค่จังหวัดสุพรรณบุรี ให้เจริญก้าวหน้าเพียงแห่งเดียว ที่ภาคอื่นๆ จังหวัดอื่นๆ ก็ไม่ได้เลือกปฏิบัติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image