ย้อนตำนาน 44ปี รัฐสภาอู่ทองใน นับถอยหลังสู่สัปปายะสภาสถาน

อาคารรัฐสภา ถนนอู่ทอง กำลังกลายเป็นอดีตสิ้นสุดประจำการ มีกำหนดต้องย้ายไปยังสถานที่แห่งใหม่ “สัปปายะสภาสถาน” บริเวณแยกเกียกกาย ในช่วงสิ้นปีนี้

แต่เนื่องด้วยสถานที่ประชุมแห่งใหม่จะแล้วเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน ปี 2562 ทำให้ต้องหาสถานที่รองรับในช่วง 6 เดือน อันเป็นช่องว่างก่อนที่จะย้ายเข้าไปยังที่ใหม่ได้

รัฐสภาถือเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ 1 ใน 3 อำนาจอันเป็นเสาหลักประชาธิปไตยของไทย

ประกอบไปด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทำหน้าที่ในการพิจารณาออกกฎหมาย ควบคุมตรวจสอบผ่านการบริหารงานของฝ่ายบริหาร ผ่านการยื่นญัตติ ตั้งกระทู้ถาม และเปิดอภิปราย และรวมไปถึงการให้ความเห็นชอบในภารกิจสำคัญของประเทศ

Advertisement

อาคารรัฐสภาจึงเป็นเสมือนสถานที่ทำงานของสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติที่อยู่คู่กับการเมืองไทยในการปกครองของระบอบประชาธิปไตยมาตลอด 85 ปีที่ผ่านมา

สำหรับอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน ถือเป็นสถานที่ประชุมของสมาชิกรัฐสภา แห่งที่ 2 ต่อจากพระที่นั่งอนันตสมาคม

สาเหตุที่ต้องย้ายมายังสถานที่แห่งนี้ เพราะสถานที่เดิมคับแคบเกินกว่าจะใช้เป็นสถานที่ประชุมสภาได้ เนื่องจากจำนวนสมาชิกรัฐสภาเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของจำนวนประชากร และจำต้องมีที่ทำการของข้าราชการฝ่ายรัฐสภาด้วย

Advertisement

รัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ขอพระราชทานที่ดินด้านหลังพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเดิมเป็นของหน่วยรถถัง กรมตำรวจ เพื่อจัดสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ก่อนจะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2512 อนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการก่อสร้าง วงเงิน 78,112,628 บาท

เริ่มก่อสร้างในปี 2513 และเสร็จในปี 2517 หรืออีก 4ปีถัดมา

ตัวอาคารถูกออกแบบโดย นายพล จุลเสวก นายช่างสถาปนิกเอกของกรมโยธาธิการ โดยได้รับแรงบันดาลใจในการวาดแบบจากอาคารรัฐสภาบราซิล มีบริษัทพระนครก่อสร้างเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง

ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง คืออาคารห้องประชุมรัฐสภา และสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา อาคารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสโมสรรัฐสภา

ต่อมา ภายหลังมีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมอีกจำนวน 3 หลัง คืออาคารที่ทำการรัฐสภา และห้องประชุมกรรมาธิการ อาคารจอดรถ และอาคารกองรักษาการณ์ และฝ่ายอาคารสถานที่ ตามลำดับ

สภาหินอ่อนแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่ประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรก วันที่ 19 กันยายน ปี 2517 สมัยรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนแรก ที่ได้นั่งทำหน้าที่บนบัลลังก์หินอ่อน

ภายหลังจากเปิดใช้ประชุมครั้งแรกไม่กี่เดือน รัฐสภาแห่งนี้ได้ถูกใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรก ระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม ปี 2517 เมื่อ นายสมัคร สุนทรเวช ในฐานะสมาชิก สนช.นำคณะ 65 คน อาทิ นายอมร จันทรสมบูรณ์ นายนพพร บุณยฤทธิ์ นายเสน่ห์ จามริก นายพงส์ และ นายเภา สารสิน เข้าชื่อยื่นญัตติขอเปิดอภิปราย นายสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับนโยบายการเงินของชาติ (การพิมพ์ธนบัตร) การเปิดประมูลโรงเหล้าของรัฐบาล สัญญา ธรรมศักดิ์

แม้ที่สุดที่ประชุมจะลงมติไว้วางใจให้นายสมหมายทำหน้าที่ต่อ แต่นับเป็นการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยเลยก็ว่าได้

เพราะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐบาลชั่วคราวภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี 2516 อีกทั้งยังเป็นการอภิปรายในครั้งที่ 6 ที่ทิ้งช่วงจากครั้งที่ 5 ในสมัยรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเสนอโดย นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระหว่างวันที่ 19-27 พฤษภาคม พ.ศ.2490 หรือห่างกันนานถึง 27 ปี

อาคารรัฐสภาแห่งนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมากับการเมืองไทยสมัยใหม่ยาวนานกว่า 44 ปี ผ่านทั้งสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน สมาชิกรัฐสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารภายหลังจากการยึดอำนาจ

เป็นสถานที่ว่าราชการที่มีทั้งแก้ไขปัญหาบ้านเมือง และต้นเหตุวิกฤตทางการเมือง

ไม่ว่าการลงมติเห็นชอบรัฐธรรมนูญ 2540 ฉบับที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ไปจนถึงการลงมติผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม “เหมาเข่ง-สุดซอย” กระทั่งเป็นชนวนแห่งการชุมนุมต่อต้านบนท้องถนน และนำมาสู่การยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ในเวลาต่อมา

เป็นสถานที่ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีทุกคน แม้กระทั่ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีที่มาจากการรัฐประหาร

และที่สำคัญ ยังเป็นสถานที่อันทรงเกียรติในขั้นตอนกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ของประชาชนชาวไทยสืบไปด้วย 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image