ระดมสมองแกนนำเพื่อไทย รวมพลังสู้ศึกเลือกตั้ง’62

หมายเหตุ – แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุลอดีตประธานรัฐสภา นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางที่จะใช้สู้ศึกเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

โภคิน พลกุล

ไม่ว่าเราจะไปที่ไหน สิ่งที่พี่น้องประชาชนบอกกับเราเสมอคือ เขามีปัญหาในเรื่องของการทำมาหากิน ปัญหาใหญ่มาจากการทุจริตคอร์รัปชั่น ต้นทุนที่มหาศาลและความล่าช้าในการดำเนินการต่างๆ ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาลบอกไว้ด้วยซ้ำว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหาทั้งหมด พล.อ.ประยุทธ์ก็บอกว่าเราต้องกิโยตินกฎหมายที่มีเป็นแสนฉบับ แต่ผลมันออกตรงข้าม คือยิ่งมีกฎหมายเพิ่มขึ้น เลยไม่เข้าใจว่าท่านต้องการลดกฎหมาย ลดภาระ หรือเพิ่มภาระกันแน่ ผมพยายามหาคำตอบของปัญหาความล้มเหลวในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าความเหลื่อมล้ำ ประชาธิปไตย รัฐราชการ ความยุติธรรม 2 มาตรา สิ่งเหล่านี้เกิดจากอะไรกันแน่ แล้วถ้าไม่ให้มีประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ต่อให้เราแก้ปัญหาจิปาถะมากมายก็แก้ไม่หมด

วันนี้ท่านคิดวนที่อำนาจนิยม ถ้าเราแก้ปัญหานี้ไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่านก็จะได้เห็นการยึดอำนาจต่อไป ซึ่งผู้ที่เข้ามายึดอำนาจโกงทุกอย่าง โกงตั้งแต่อำนาจอธิปไตย แต่คนโกงกลับบอกว่าการโกงของฉันถูกต้อง แต่การโกงของคนอื่นคือความผิด เราต้องสู้ หรือชนกับสิ่งเหล่านี้ให้ชนะ เพราะคุณโกงอำนาจ คุณเอาเปรียบ และคุณสร้างวาทกรรม พรรคมองว่าทางแก้คือเราต้องสร้างรัฐประชาชน เพราะทุกวันนี้คุณสันนิษฐานว่าประชาชนจะต้องมาขออนุญาต อยู่ใต้การควบคุมของฉัน แต่หากเราตั้งสันนิษฐานใหม่ว่าประชาชนสุจริตและอยากสร้างบ้านเมืองเหมือนกัน กฎหมายรออนุมัติ เช่น จะทำร้านเสริมสวย ทำร้านอาหาร ฯลฯ ไม่ได้สร้างบรรยากาศให้คนทำมาหากิน แต่เป็นระบบรัฐราชการที่ต้องมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อแลกความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งต้องเปลี่ยนใหม่ ราชการมีหน้าที่แนะนำ ช่วยเหลือให้คนที่มาขอความช่วยเหลือทำเรื่องนั้นให้สำเร็จ เราต้องเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งหลายมาผลักดันด้วย หากเราทำให้ระบบยากยิ่งเป็นการผูกขาด และยิ่งเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างถึงที่สุด เพราะใครที่เข้าถึงอำนาจได้ หรือเข้าถึงเงินจำนวนมหาศาลได้คนนั้นวิน

Advertisement

ภูมิธรรม เวชยชัย

การเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญมาก เพราะไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองที่มาแย่งชิงอำนาจกัน แต่เป็นการเลือกตั้งที่จะกำหนดทิศทางของประเทศ เป็นการเลือกตั้งที่จะนำไปสู่หนทางที่ประเทศจะมีทางออก หรือจะเจอกับทางที่ตีบตันไปอีก 10-20 ปี เป็นเรื่องที่คนในสังคมต้องคิด หากปล่อยไปแบบนี้จะเป็นปัญหาที่ย้อนกลับมาสู่วิชาชีพที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ผมคิดว่าตั้งแต่ที่เขาได้ยึดอำนาจมา เขาได้ใช้ความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ในฐานะผู้ยึดอำนาจเข้ามากลบเกลื่อน เปลี่ยนแปลงบริบทในสังคมไทยทุกๆ เรื่อง รวมไปถึงการลิดรอนอำนาจของประชาชนและสื่อมวลชน พรรคการเมือง สถาบันทางการเมือง และกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และใช้กระบวนการทางกฎหมายภายใต้กลไกการปกครองนี้เข้ามาเปลี่ยนแปลงกติกาทั้งหมด การเขียนรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือการเขียนกติกาทั้งหมดที่กำลังดำเนินการอยู่เป็นการมัดมือมัดเท้าคนในสังคมทั้งหมด สิ่งที่เป็นเรื่องสุดท้ายขณะนี้คือการใช้กระบวนการเข้าสู่อำนาจเพื่อสร้างความชอบธรรมโดยอาศัยภาพประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนเกือบได้ใช้วิจารณญาณในการที่จะตัดสินอะไรได้ค่อนข้างยาก เหมือนรูปแบบของประชามติโมเดลที่ผ่านมา โดยสุดท้ายแล้วจะเป็นการทำฝ่ายเดียว พูดฝ่ายเดียว โดยอำนาจของมาตรา 44 และอำนาจขององค์กรอิสระที่เข้ามาควบคุมกติกาจะทำให้สถาบันการเมืองขับเคลื่อนได้ยากอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น การที่ทหารเดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีเพื่อดำเนินการเพื่อยุบพรรคการเมือง นี่คือกระบวนการที่แยบยลมาก วันนี้หากทางเดินออกไปบนถนนท่านอาจจะไม่แน่ใจว่าเบอร์ผู้สมัครของพรรคที่ท่านนิยมคืออะไร หันไปซ้ายมืออาจจะเจอจตุจักรเบอร์ 8 หันขวามาอาจจะเป็นบางซื่อเบอร์ 12 เลยไปอีกนิดอาจจะเจอนนทบุรีเบอร์ 24 วิ่งไป 350 เขต อาจจะ 350 เบอร์ สับสนไปหมด บวกกับการแบ่งเขตที่อัปลักษณ์

Advertisement

และแย่ที่สุด เราเรียนรัฐศาสตร์มา คนบอกว่าที่อื่นอาจจะมีวิธีแบบนี้แต่ในไทยไม่มีหรอก ไม่ต้องไปสนใจ วันนี้ก็ได้ฝ่ายที่รับผิดชอบที่ไม่ได้ละอายใจต่อบทบาทที่ตัวเองมีอยู่ วันนี้หนักขึ้นไปอีกคือคุณเป็นรัฐบาลที่รักษาการช่วงใกล้การเลือกตั้ง สิ่งที่ทำไม่ได้คือการโยกย้ายข้าราชการและการใช้งบประมาณ แต่วันนี้คุณทำได้หมด ทำได้โดยไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ผิดหรือถูก ครั้งหน้าจึงเป็นการเลือกอนาคตว่าอยากจะอยู่แบบนี้ต่อไป หรืออยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ พวกเราอยากจะพูดนโยบายแต่เรามีข้อจำกัด ไม่ใช่เราไม่ขยับ เราพยายามขยับแต่เพียงแค่แถลงข่าวก็โดนแจ้งข้อหามาตรา 116 แล้ว เราพยายามคิดว่าเราจะสู้อย่างไร ก็คิดว่าจะพึ่งอำนาจประชาชน แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนที่จะสะท้อนหรือแสดงปัญหาออกมาให้ได้มากที่สุด

กิตติรัตน์ ณ ระนอง

ระบอบเผด็จการทำให้เกิดปัญหาการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ ขยายก็ช้า กระจายก็ไม่ดี การส่งออกก็ควรต้องทำได้ดีกว่านี้ หากประเทศคู่ค้ายอมเจรจาเขตเสรีทางการค้าหรือเอฟทีเอกับเรา ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวนอกจากจะไม่ทำอะไรแล้ว เวลามีอำนาจก็พูดจาใหญ่โต ไม่คิดให้รอบคอบ ทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรง จำนวนนักท่องเที่ยวประเทศสำคัญหายไป การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ เวลาที่ราคาผลผลิตการเกษตรหลักตก เมื่อยังไม่มีกลิ่นอายการเลือกตั้งโชยมา ก็บอกให้กลไกตลาดทำงานหรือปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม เกิดวาทกรรมขายไปดาวอังคาร ทั้งที่การอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรเป็นสิ่งที่ทั่วโลกทำกัน แต่ไม่ใส่ใจ กลับจัดสรรงบประมาณไปทำงานด้านความมั่นคง ส่วนค่าจ้างค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯได้ทำไว้ก็ไม่ใส่ใจ ผ่านมา 4 ปีถึงปรับค่าแรงขั้นต่ำ ขึ้นน้อยมาก บางจังหวัดน้อยมากจนน่าตกใจ ทำให้เกิดภาวะจนกระจาย ไม่เกิดกำลังซื้อ

ส่วนการลดความเหลื่อมล้ำนั้น ท่าทีของหัวหน้ารัฐบาลหรือทีมเศรษฐกิจจะโอบอุ้มรายใหญ่นั้น โดยมีนักวิชาการออกมาสนับสนุน เช่น ในประเทศเกาหลีใต้ ทั้งนี้ บางประเทศจะเน้นหนักธุรกิจนั้นๆ ให้เข้มแข็ง ขยายตัวเองจนสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ แต่รายใหญ่บ้านเรากลับไปกินธุรกิจรายเล็กรายย่อย ดังนั้นการถูกเฉลยว่าเรามีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 1 ก็ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร ทางแก้ที่ขณะนี้ยังไม่ใช่นโยบายของพรรค คือรายได้ของคนในภาคเกษตรกรรมต้องดีขึ้นจากราคาพืชหลัก จะดีขึ้นจากการมีพืชเสริมที่ต้องค้นคว้ามาใหม่ก็ต้องทำ ดังนั้นพืชหลักๆ ต้องมีราคาที่ดีขึ้นตามสมควรด้วยกลไกและวิธีทำงานมากกว่าการแจกเงินไปโปะ ข้อดีคือใช้เงินน้อยกว่าและกลไกตลาดต้องเข้ามาแข่งขันเพื่อให้ราคาผลผลิตดีขึ้น การแปรรูปผลผลิตเป็นพลังงานหรือเรื่องแพคเกจจิ้ง เหล่านี้ต้องทำอย่างจริงจัง เรื่องการส่งออก เมื่อเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ประชาธิปไตยก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เมื่อโลกเปลี่ยนนวัตกรรมและเทคโนโลยีต้องเข้ามาช่วยให้เกิดการลดต้นทุน

ส่วนเรื่องการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งนั้น ได้เคยเปรยกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เห็นตรงกันว่า ช่วงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) 2 ล้านล้านฯ ตกไป ก็ยังรู้สึกสบายใจร่วมกับท่านว่า นั่นก็คือแผนแม่บทการคมนาคมขนส่ง หนีไปไม่พ้นหรอก เราติดตามช่วงหลายปีพบว่ามีการดำเนินการตามรอยโครงการต่างๆ นั้นเป็นหลัก เสียดายที่ความเข้าใจลึกซึ้งในแผนนั้นยังไม่มี เพราะการดำเนินการต้องจัดลำดับเวลาการลงทุน มีจุดเชื่อมโยงสอดประสาน มีศูนย์โลจิสติกส์ที่จะรับสินค้าและส่งต่อ มีการลงทุนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน คนคาดหวังว่าเรื่องเดิมที่วางแผนจะทำและควรจะเสร็จไปมาก แต่ยังไม่คืบหน้าก็ควรเร่งมือ ทำให้เกิดความเชื่อมโยงตามหลักการจริงๆ การคนนาคมที่ดีช่วยลดความเหลื่อมล้ำไกลกับใกล้ จนกับรวย

นพดล ปัทมะ

ผมขอโอกาสเข้ามาทำงานด้านการศึกษา เพราะเห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นวาระสำคัญ การศึกษาเหมือนคลำช้าง แต่มีการคิดที่ตกผลึกพอสมควร เรื่องใหญ่ๆ คือคุณภาพ ประสิทธิภาพการใช้เงิน ความเหลื่อมล้ำ เราให้ความสำคัญตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย ตัวอย่างหนึ่งคือการเปิดโอกาสให้เด็กชนบทได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ แม้จะเปิดนโยบายไม่ได้มาก แต่เราจะเน้นให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพและความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องใหญ่ ผู้รับรางวัลโนเบลหลายคนบอกว่าการลงทุนการศึกษาก่อนวัยเรียนหรือ Early Years ได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจถึง 7 เท่า เด็ก 0-6 ขวบถ้าลงทุนกับพวกเขาให้มากขึ้น อนาคตจะช่วยให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เราจะดูแลการศึกษาทุกระดับชั้น เราต้องเตรียมคนไทยให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ไม่เน้นการป้อนความรู้ แต่เน้นการสร้างสมรรถนะทั้งการเขียน การอ่าน การโน้มน้าวผู้อื่นในเรื่องที่ตัวเองเชื่อได้ ดังนั้นแนวทางการศึกษาของพรรคคือต้องคิดเป็น ภาษาอังกฤษต้องได้ เน้นการสื่อสาร ที่สำคัญต้องมีคุณธรรม เราจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างรวดเร็ว เพื่อกระจายโอกาสให้กับคนไทย ลดความเหลื่อมล้ำให้เร็วที่สุด

ชัยเกษม นิติสิริ

เรามีกฎหมายออกมามากมาย แต่กฎหมายที่ออกมาหลังการปฏิวัติจะดูเหมือนว่าเป็นไปตามกระบวนการออกกฎหมายที่ถูกต้องเพราะผ่าน สนช.และกฎหมายที่ออกมาตามคำสั่งตามมาตรา 44 ซึ่งเป็นการออกกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ทั้งนี้ ในต่างประเทศเขียนกฎหมายบรรทัดเดียวแต่ต้องมีคำอธิบายด้วยว่าเขียนออกมาเพื่ออะไร อย่างไร การตีความของศาลในการใช้จะจำกัดดุลพินิจลงไป ไม่ใช่การตีความโดยอ้างดุลพินิจซึ่งจะสร้างความเสียหาย ดังนั้นการออกกฎหมายทุกมาตราต้องมีหมายเหตุว่าเพราะอะไร เพราะจะเกี่ยวข้องกับการตีความและดุลพินิจในการใช้ ซึ่งการใช้กฎหมายของเรานั้น หากมีกรอบการใช้ก็จะมีอะไรที่ควบคุมได้ แต่ที่ใช้กฎหมายกันจนประชาชนบ่นกันมาก คือการใช้กฎหมายของกระบวนการยุติธรรมมันเบี่ยงไป เบนมา เพราะไม่มีหลักที่ควรจะเป็น เช่น การสอบสวนอยู่ในมือพนักงานสอบสวน เมื่อสำนวนเสร็จก็ส่งให้อัยการ อัยการสั่งสอบเพิ่มเติม ซึ่งไม่ได้ดูแลตั้งแต่ต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image