สถานีคิดเลขที่12 : เหลื่อมล้ำการเมือง : โดย จำลอง ดอกปิก

ไม่ได้ออกตัว-แก้ตัวแทน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เกิดขึ้น ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน ข้อเท็จจริงคือมิได้เพิ่งปรากฏขึ้นในรัฐบาลนี้

แต่ประเด็นที่มีการหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์

รัฐบาลทุกชุด รวมถึงบิ๊กตู่ มีนโยบายลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ แต่ยิ่งแก้ ดูเหมือนความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น จากการให้ยาผิดซอง ไม่ถูกโรค ไปจนถึงไม่กระตือรือร้นมุ่งแก้อย่างจริงจัง แต่แค่สร้างภาพช่วยคนจน ผู้ยากไร้คนส่วนใหญ่ของประเทศ

Advertisement

เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำ ไม่ทัดเทียม ช่องว่าง ความแตกต่างถ่างกว้างระหว่างบุคคล ชุมชน และสังคม

ส่วนใหญ่เราพูดถึงมิติเศรษฐกิจ เนื่องจาก ชัดเจน จับต้องได้มากที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลอ้างอิง แบงก์ชาติ คนที่มีเงินในบัญชีเกิน 10 ล้านบาทมีแค่ 100,000 บัญชี แต่มีวงเงินรวมกันเท่ากับร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งของเงินในบัญชีทั้งหมดประมาณ 90 ล้านบัญชี ขณะที่คนมีเงินในบัญชีไม่เกิน 50,000 บาท มีประมาณ 70 ล้านบัญชี คนจำนวนมากมีเงินในบัญชีเฉลี่ย 4,000-5,000 บาทเท่านั้น

Advertisement

อีกตัวเลขแบ่งชนชั้นรวย-จนคือข้อมูลถือครองที่ดิน คนไทยเพียงหยิบมือ 20% ถือครองที่ดินรวมกันกว่าร้อยละ 80 ของที่ดินทั้งหมด ผู้ที่มีที่ดินมากที่สุด ถือครอง 600,000 ไร่

อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำ มิได้มีแค่เรื่องเศรษฐกิจ หากแต่ยังมีเรื่องอื่น ที่เป็นปัญหาต้องแก้ไข

เพื่อลดช่องว่าง ไม่ให้ห่างลิบสุดขั้ว อย่างคนมีที่ดิน แลนด์ลอร์ด
ก็มีเหลือล้น 600,000 ไร่ แต่คนจน ไม่มีแม้แต่ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินของตัวเอง

ศ.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า นอกจากเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง

สังคมไทยยังเผชิญปัญหา ความไม่เท่าเทียมกัน ด้านอื่นๆ อาทิ โอกาสเข้าถึงสวัสดิการการรักษาพยาบาล สัดส่วนระหว่างแพทย์ในชนบทกับในเมืองต่างกัน ด้านการศึกษาก็มีปัญหาโอกาสในการเข้าถึงเช่นกัน

อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์สรุปทำนองว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐหลายประการที่ใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหา แนวทางที่ถูกต้อง ประเทศไทยต้องถูกเปลี่ยนด้วยการกระจายอำนาจเท่านั้น (ไม่ใช่รวบอำนาจอย่างปัจจุบัน) โครงสร้างแบบเดิมไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม ดำรงคงอยู่คู่สังคมไทยมานาน

ทุกรัฐบาลมีนโยบายแก้ไข แต่ก็ย่ำเท้าอยู่กับที่ไปไม่ถึงไหน

เนื่องจากเป็นปัญหาหมักหมมมานาน แก้ยาก และต้องใช้เวลา

การยอมรับว่าเป็นปัญหาใหญ่ก็เป็นปัญหา

ไม่มีรัฐบาลชุดไหนแอ่นอกรับว่า ระดับมันรุนแรง ถ่างกว้างยิ่งขึ้น เอาแต่ถกเถียง มุ่งชนะคะคานกันว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกหรือไม่

รัฐก็โฆษณาชวนเชื่ออย่างเดียวว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกันมากนักกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

ทั้งที่เอาแค่มิติที่นิยมใช้วัดกัน อย่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ต้องนำไปเปรียบเทียบกับประเทศใด แต่รู้อยู่แก่ใจ ข้อมูลที่มีอยู่ชัดยิ่งกว่าชัด ว่าประเทศเผชิญปัญหาการกระจายรายได้ กระจายความร่ำรวยแค่ไหน

โจทย์ก็เห็นๆ รวยกระจุก-จนกระจายเบาะๆ ก็ 11-12 ล้านคน
เพิ่มขึ้นจากเดิมเห็นๆ

แต่เมื่อไม่ยอมรับข้อมูลต่างๆ ที่แบหราว่าเป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาก็ไม่ถูกจัดลำดับเป็นความสำคัญเร่งด่วน วาระแห่งชาติที่ต้องจัดนโยบายพิเศษแก้ไข

ทุกอย่างมันถึงได้วนอยู่อย่างนี้ แก้-ลดช่องว่างไม่ได้สักที

แต่อย่าเพิ่งไปหวังของใหญ่ยาก ที่ต้องใช้สติปัญญาแก้ไข อย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข

เพราะถ้าแก้ปัญหาง่ายๆ อย่างความเหลื่อมล้ำ ความเท่าเทียมทางการเมือง เรื่องพื้นฐานที่จะนำพาประเทศก้าวเดินต่อไปไม่ได้

เรื่องอื่นอย่าได้คิดหวัง

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image