ย้อนรอยบัตรเลือกตั้ง ก่อนไร้ ‘โลโก้-ชื่อพรรค’ ใครได้ใครเสีย

กรณีรองหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ระบุว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เสนอในที่ประชุมแม่น้ำ 5 สายและตัวแทนพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา ว่า ในการเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ. 2562 บัตรเลือกตั้งไม่ต้องมีโลโก้ หรือสัญญาลักษณ์ของพรรคการเมือง โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่าถ้าเรื่องดังกล่าว เป็นจริง และ กกต. ปฏิบัติตามข้อเสนอดังกล่าว จะถือว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นไปโดยอัปลักษณ์สุดๆ ทำลายกระบวนการเลือกตั้งที่ต้องเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมลงอย่างสิ้นเชิง ทำลายระบบพรรคการเมืองทั้งๆ ที่ยังคงมีบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองหรือปาร์ตีลิสต์อยู่ อำนาจการจัดการเลือกตั้งเป็นอำนาจโดยตรงของกกต.ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งกกต.ต้องทำหน้าที่ของตนโดยอิสระปราศจากการแทรกแซงหรือชี้นำจากบุคคลใด และต้องทำหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย

“หากเป็นข้อเสนอของหัวหน้า คสช.ซึ่งนอกจากไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งแล้วยังมีข่าวว่าจะอยู่ในแคนดิเดตที่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองหนึ่งด้วย เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งที่ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสมซึ่งมีผู้สมัครสองแบบคือแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อของพรรค โดยใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวซึ่งถือหลักการที่ว่าเมื่อเลือกผู้สมัครถือว่าเลือกพรรคด้วย ตรงนี้จึงชี้ให้เห็นว่าเมื่อพรรคส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครด้วย ก็ต้องปรากฏในบัตรเลือกตั้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รู้ว่าผู้สมัครเป็นของพรรคใด จึงต้องมีโลโก้พรรค จะไม่มีไม่ได้ นอกจากนี้ มีการออกแบบกฎหมายเลือกตั้ง โดยกำหนดให้ผู้สมัครแต่ละเขตต้องจับสลากหมายเลขผู้สมัครเพื่อใช้ในการหาเสียงและลงคะแนน จึงทำให้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครของแต่ละพรรคการเมืองในแต่ละเขตแตกต่างกัน ซึ่งต่างจากการเลือกตั้งทั่วไปหลายครั้งที่ผ่านมา ดังนั้นจึงไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่ประชาชนจะจดจำได้ว่าผู้สมัครคนนั้นคนนี้สังกัดพรรคใด มีพรรคเต็มไปหมด มีทางเดียวคือต้องมีโลโก้พรรคกำกับอยู่ในบัตรเลือกตั้งด้วย” นายชูศักดิ์ กล่าว และว่า เข้าใจว่าโลโก้พรรคยังจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อ่านหนังสือไม่ออก ดูตัวเลขไม่เป็น ช่วยสำหรับผู้ที่ชื่นชอบพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง โรดแมปการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 62 นั้นเป็นการประกาศความพร้อมของกกต.เอง อันแสดงให้เห็นว่ากกต.สามารถเตรียมการทุกอย่างสำหรับการเลือกตั้งได้ทันตามกำหนดเวลาเลือกตั้งที่ตนเองประกาศต่อสาธารณชน จะอ้างในภายหลังว่าเหตที่ไม่อาจใส่โลโก้พรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้งได้เพราะจะไม่สามารถทำได้ทันวันเลือกตั้งนั้นก็คงอ้างไม่ได้

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า ถ้าหากข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องจริงและกกต.ไปทำตามข้อเสนอเช่นนั้น ก็ต้องถือว่าท่านหมดสภาพของการเป็นองค์กรอิสระที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์เที่ยงธรรมเพราะก่อนหน้านี้ท่านก็ยอมให้หัวหน้าคสช.แทรกแซงเรื่องการแบ่งเขตจนเกิดข้อครหามาครั้งหนึ่ง มาครั้งนี้ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากหากท่านยอมทำตามอีก ก็อย่าหวังเลยว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และจะเกิดความเรียบร้อยในการเลือกตั้ง เพราะท่านเองก็ทราบแล้วว่าผู้ที่เสนอความเห็นต่อท่านเป็นใครและจะอยู่ในจุดใดสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น กกต.อย่าทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้อัปลักษณ์ และเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ใช้กฎเกณฑ์กติกาที่เห็นชัดๆว่าไม่แฟร์ มีเบื้องหลังและเห็นได้ชัดเจนว่าคือกระบวนการสืบทอดอำนาจให้สำเร็จดังที่ตั้งใจกันไว้นั่นเอง

ขณะที่ นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)  ชี้แจงว่า เดิมทีคิดว่า จะมีการใส่ชื่อและโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้ง แต่หลังจากมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แล้ว พบว่าการใส่ชื่อและโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้งอาจจะทำให้เกิดปัญหาสำหรับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ เพราะบัตรเลือกตั้งที่พิมพ์ขึ้นจะถูกใช้ในการเลือกตั้งทั้งในและต่างประเทศ โดยเราจะต้องจัดส่งบัตรเลือกตั้งออกไปให้ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรตามเขตที่ผู้นั้นมีสิทธิ จึงกังวลเรื่องการขนส่งบัตร หากเกิดปัญหาผู้ที่ลงทะเบียนไม่ได้รับบัตรเลือกตั้ง กกต.จะไม่สามารถจัดส่งบัตรเลือกตั้งสำรองให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ เพราะจะต้องส่งบัตรเลือกตั้งของเขตที่ผู้ลงทะเบียนมีสิทธิ์ ดังนั้น บัตรเลือกตั้งจึงจะเหลือแค่หมายเลขและช่องกาบัตรเท่านั้น ซึ่งเรื่องดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็เลยบอกในที่ประชุมดังกล่าวว่าพรรคการเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้”

Advertisement

ทั้งนี้ สำหรับการเลือกตั้งที่ผ่านมาบัตรเลือกตั้งส.ส. มีทั้งชื่อพรรคและโลโก้กำกับอยู่ อย่าง 3 ครั้งที่ผ่านมา ได้แก่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 (ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย) วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 และ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ล้วนมีโลโก้พรรคและชื่อพรรค

โดยการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และครั้งแรกภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐธรรมนูญกำหนดวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขตเดียวหลายคน จำนวน 400 คน และส.ส.แบบสัดส่วน 80คน

Advertisement

ส่วนวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เป็นการเลือกตั้งหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยกำหนดให้มี ส.ส. 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 375 คน

มาถึงการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าโมฆะ

ต้องจับตาว่าสุดท้ายแล้วรูปแบบบัตรเลือกตั้งที่กกต.จะนำมาใช้ในการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จะเป็นรูปแบบใด หากไร้โลโก้และชื่อพรรคจริง พรรคไหนหรือใครได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งในครั้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image