‘สุวิทย์ เมษินทรีย์’ชี้ภารกิจ พปชร. เชื่อมต่อปัจจุบัน-อนาคต

สุวิทย์ เมษินทรีย์

⦁กำหนดบทบาทของตัวเองอย่างไร ระหว่างการเป็นรัฐมนตรี และเป็นผู้ประกาศตัวว่าเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
บทบาทตัวเองเวลานี้คือ ต้องทำงานหนักกว่าเดิม 2 เท่า คือ 1.ภารกิจที่อยู่ในหน้าที่ของ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เวลานี้งานหลายๆ อย่าง ผมเคลียร์ไปเกือบจะหมดแล้ว แต่ที่ยังเป็นห่วงก็คือ เรื่องที่ท่านนายกฯมอบหมายให้ดูเรื่องกระทรวงใหม่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงใหม่จึงเป็นความจำเป็นของประเทศไทยในวันนี้ เพราะประเทศที่มีความก้าวหน้าต่างมีการจัดระบบการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรมให้มีขีดความสามารถหลัก ซึ่งต้องประกอบด้วย 1.การเชื่อมปัจจุบันกับอนาคต (Future Setting) ที่เป็นความสามารถในการคาดการณ์อนาคต (Foresight) มีการวิเคราะห์และทำความเข้าใจเชิงลึกถึงแนวโน้มและปัจจัยแรงผลักดันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และสามารถออกแบบนโยบายและกลไกการบริหารจัดการที่ปฏิบัติได้ในปัจจุบันและเชื่อมโยงไปในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการทดลองและทดสอบใน “Sandbox” หรือการกำหนดขอบเขตในการทดลองและทดสอบโดยไม่มีตัวแปรอื่นเข้ามากระทบ ทั้งเชิงกฎ กติกา และเชิงเทคนิค รวมถึงการสร้าง Big Science ในกระทรวงใหม่นี้ เช่น เทคโนโลยีฟิวชั่น เทคโนโลยีซินโครตรอน เทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์ เทคโนโลยีด้านอวกาศ เป็นต้น

2.การเปลี่ยนกระบวนทัศน์และโมเดลขับเคลื่อนประเทศ (Game Changing) เป็นการคิดนอกกรอบการปฏิบัติในรูปแบบเดิมๆ เพื่อให้ก้าวข้ามกับดักปัญหาของประเทศที่เรื้อรังมานาน โดยสามารถสร้างโมเดลใหม่ของการพัฒนาด้วยการออกแบบเงื่อนไข แรงจูงใจ กลไก วิธีการทำงาน และผู้เล่นกลุ่มใหม่ รวมถึงการบริหารจัดการงบประมาณแบบใหม่ อาทิ งบประมาณต่อเนื่องแบบหลายปี (Multi-Year Budgeting) 3.การสร้างสมรรถนะเชิงนวัตกรรมให้กับประเทศ (Innovative Capacity Building) โดยสร้างความเข้มแข็งทั้งการวิจัยพื้นฐาน ประยุกต์ และการวิจัยขั้นสูง-ขั้นแนวหน้า รวมไปถึงการใช้นวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ และสาธารณประโยชน์ ซึ่งจำเป็นต้องมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง (Talent) อย่างเพียงพอ โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพและมาตรฐาน รวมไปถึงการจัดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม เช่น กระบวนการสนับสนุนการวิจัย กฎหมาย กฎระเบียบ การสร้างตลาดสำหรับนวัตกรรม การจัดหาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น

มีกฎหมาย 5 ฉบับสำหรับกระทรวงใหม่ที่จะตั้งขึ้น คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกระทรวง คือ 1.ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวงทบวง กรม 2.ร่าง พ.ร.บ.ระบบบริหารราชการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 3.ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา 4.ร่าง พ.ร.บ.สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และ 5.ร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรม

นอกจากนี้มีร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย และนวัตกรรม พ.ศ…. และร่าง พ.ร.บ.การพิสูจน์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ พ.ศ…. แต่หลักการทั้งหมด คือ การปฏิรูป ทั้งปฏิรูปงบประมาณ ปฏิรูประบบราชการ เพราะระบบงบประมาณที่เป็นอยู่เวลานี้ ไม่ตอบโจทย์สำหรับการปฏิรูปเลย ซึ่งผมอยากให้เข้าพิจารณาในสภาพร้อมๆ กันเลย

Advertisement

⦁กระทรวงการอุดมศึกษาที่จะรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์เข้ามาจะเสร็จทันก่อนเลือกตั้งไหม
ถ้ากฎหมายเสร็จก็ทัน ซึ่งผมคิดว่าทันนะครับ แต่รูปแบบของกระทรวงใหม่ช่วงแรกๆ อาจจะอยู่ในรูปของการเอาหน่วยงานต่างๆ มาวางเรียงกัน แล้วค่อยๆ ทำงานไปก่อน ซึ่งคิดว่ากว่าจะลงตัวสมบูรณ์แบบน่าจะใช้เวลาราว 2-3 ปี

⦁คนที่จะเข้ามาเป็นปลัดกระทรวงใหม่ จะต้องแข็งแกร่งขนาดไหน เพราะต้องทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้งหมดด้วย
ผมก็ไม่รู้ว่าในอนาคตปลัดกระทรวงจะเป็นใคร แต่จะต้องเป็นคนที่เก่งรอบด้าน ทั้งวิชาการ การบริหาร การจัดการ จะว่าไปกระทรวงใหม่น่าจะเป็นกระทรวงที่มีดอกเตอร์มากที่สุดในประเทศไทย ที่จากเดิมกระทรวงที่มีดอกเตอร์มาก มี 2-3 ลำดับ คือ กระทรวงศึกษาฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นี่เอา 2 หน่วยงานมารวมกัน ถือว่ามีแต่คนเก่งๆ โดยเฉพาะคนเก่งด้านวิทยาศาสตร์ ดังนั้นผู้ที่จะมาเป็นผู้บริหารสูงสุดระดับปลัดกระทรวง ก็ต้องเก่งรอบด้าน

⦁กลับมาที่อีกบทบาทในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
ผมรับผิดชอบเรื่องงานนโยบาย แต่เวลานี้ยังไม่ปลดล็อกเรื่องการหาเสียง สิ่งที่ทำได้คือ การไปพบปะประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ผมใช้เวลาวันหยุด หากจะลงพื้นที่ก็จะใช้ช่วงเย็นวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ หรือมีการประชุมพรรคทุกวันอังคาร ก็ใช้เวลาหลัง 5 โมงเย็น
การลงพื้นที่ไปพบ ไปรับฟังปัญหา เป็นเรื่องที่ผมชอบมากก่อนหน้านี้ที่เคยทำงานวางนโยบายโอท็อป ก็ลง พื้นที่แบบนี้ เพราะจะได้รู้ว่าแต่ละพื้นที่มีปัญหาอะไร นโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินอยู่ที่ผ่านมามีอะไรขาดตกบกพร่องไปบ้าง ก็ยอมรับว่าหลายๆ พื้นที่ที่ไปรับฟังเรื่องราวมายังมีปัญหาอยู่ อย่างเช่นเรื่องการเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการของรัฐ ซึ่งเรื่องที่รับฟังมาทั้งหมด เราก็จะเอามาใส่ไว้ในส่วนของการแก้ไขที่จะเป็นนโยบายพรรคต่อไป

Advertisement

⦁ตอนพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ เสียงตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง
เสียงดีมากครับ โดยเฉพาะภาคอีสาน ได้รับการตอบรับดีมากๆ ชาวบ้านเปิดใจที่จะเข้ามาคุย มาบอกเล่า เรื่องราวปัญหาความทุกข์ ความสุข ของพวกเขาให้เราฟังมากขึ้น

⦁อยากให้อธิบายนโยบายพรรคหลักๆ ว่า เป็นแบบไหน อย่างไร
หลักๆ นโยบายของเราคือ เรื่องสร้าง เสริม ปรับ เปลี่ยน สร้าง คือ สร้างหลักประกันในสังคม คือ ต้องมีสวัสดิการแห่งรัฐมีสุขภาพถ้วนหน้า หมดหนี้ มีเงินออม และมีสังคมสีขาว ส่วนเสริม คือ การเสริมความ     เข้มแข็งฐานราก ซึ่งประกอบด้วยการเตรียมคนไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 การทำให้ชุมชนเข้มแข็ง การทำให้เกิดระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

ปรับ คือ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่ประกอบด้วยเศรษฐกิจยั่งยืน BCG เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม เศรษฐกิจแบ่งปัน และเศรษฐกิจฐานข้อมูลกับปัญญาประดิษฐ์ และสุดท้ายคือ เปลี่ยน คือ เปลี่ยนการบริหารราชการแผ่นดิน สู่รัฐบาลที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ที่ประกอบด้วยการยึดธรรมาภิบาลความเสมอภาค ความเท่าเทียม การลดงานราชการ ร่นเวลาประชาชน

⦁เมื่อปลดล็อกแล้ว ต้องเอาเรื่องเหล่านี้ไปหาเสียงกับประชาชน
ตอนนี้ยังไม่อยากใช้คำว่าหาเสียง ต้องไปอธิบายให้ประชาชนฟังว่าเราจะทำเรื่องแบบนี้ และโดยศักยภาพของเรา เราทำได้ และประเทศชาติของเรามีความจำเป็นต้องทำไม่ทำไม่ได้ เพราะเรื่องทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของทุกคน ทุกชนชั้น มันไม่เฉพาะความเป็นรัฐสวัสดิการที่จะดูแลแต่คนระดับล่างเท่านั้น ยอมรับว่าการไปอธิบายเรื่องเหล่านี้ให้คนเข้าใจว่าเราทำได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

⦁ถือว่าพรรคพลังประชารัฐได้เปรียบพรรคอื่นใช่ไหม
ไม่จริงเลย พรรคค่อนข้างจะเสียเปรียบพรรคอื่นด้วยซ้ำไป เพราะสมาชิกในพรรคเองต้องทำงานหนักกว่าพรรคอื่น 2 เท่า อย่างผมเองในเวลาราชการก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ จะมีเวลาลงพื้นที่พบปะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ เท่านั้น

⦁จุดขายของพรรคพลังประชารัฐคืออะไร
เรามีความหลากหลาย ทั้งประสบการณ์ การทำงานของผู้หลักผู้ใหญ่ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมงาน    ได้เห็นความคิดที่มีความหลากหลาย เป็นทั้งจุดขายและจุดแข็งของเรา

⦁มองอนาคตการเมืองประเทศไทยอย่างไร
นายกรัฐมนตรีคนต่อจากนี้จะต้องเป็นคนที่มีความอดทนมากๆ อย่างท่านนายกฯตอนนี้ก็ถือว่าเป็นคนที่อดทนมากๆ ด้วยเช่นกัน คิดดูเอาว่า ในแต่ละวัน แต่ละชั่วโมงนั้น ท่านได้รับข่าวต่างๆ เยอะมาก ย้ำว่าเยอะมากๆ  ทั้งข่าวดี ข่าวไม่ดีสารพัดเรื่อง เรื่องเล็กเรื่องใหญ่ เรื่องจุกจิก แต่ท่านเป็นคนเปิดกว้างรับฟังทุกความเห็น

⦁เปิดใจเรื่องอนาคตทางการเมืองกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากแค่ไหน
ถ้าถามว่าท่านรู้สึกอย่างไรในเรื่องนี้ เท่าที่คุยกัน ท่านมองว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งผมมองว่า ท่านเหมาะที่สุดของการเป็นผู้นำในช่วงของการเปลี่ยนผ่านแบบนี้ เพราะจะทำให้การทำงานมีความต่อเนื่อง ความวุ่นวายที่เคยเกิดขึ้นจะไม่กลับมา เราอยู่เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างปัจจุบันกับอนาคตให้ได้ ตัวผมเองทำงานการเมืองมา 14 ปี ก็ตั้งใจอย่างมากที่จะอยู่ต่อไป เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อให้ได้

ชุติมา นุ่นมัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image