สถานีคิดเลขที่12 : น้ำตาแผ่นดิน : โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) นำสิ่งที่ได้จากการเดิน “คารวะแผ่นดิน”

ในพื้นที่ กทม. ภาคใต้ และภาคกลางบางส่วน

มาบอกกล่าวสาธารณะ

ด้วยชี้ว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจ กำลังรุมเร้าอย่างหนัก

Advertisement

โดยต่างจังหวัดนั้น

นายสุเทพใช้คำว่า “สาหัส”

หากไม่แก้ปัญหาจะทำให้เศรษฐกิจฟุบ

Advertisement

แล้ว “ใครไม่แก้ปัญหา”

–นั้นต้องย้อนกลับไปถาม “รัฐบาลของเรา” ที่นายสุเทพสนิทสนม เพราะบริหารประเทศ มา 4-5 ปี

พร้อมยังมีคำถามอีกว่า นายสุเทพมีเป้าประสงค์อะไรสำหรับการฟ้องต่อสังคมในกรณีนี้

หลายคนอาจมองว่านี่เป็น “ปฏิบัติการ” อีกครั้งในการเรียกร้องความสนใจจาก “คนกันเอง (ของนาย
สุเทพ)”

ด้วยทราบกันดี ตอนนี้ รปช.หายไปจาก “เกม” แห่งการชิงอำนาจอย่างน่าสังเกต

ขณะที่ ทีมเศรษฐกิจ 4 กุมาร ที่น่าจะมีส่วนรับผิดชอบกลับ โดดเด่นและโตวันโตคืนในพลังประชารัฐ (พปชร.)

ตรงกันข้ามกับที่ รปช.ที่ประกาศหนุนและยืนเคียงข้างผู้มีอำนาจมาตั้งแต่ต้น ส่อที่จะหลุดวงจรมากขึ้นทุกที

นายสุเทพจึงอาจจะข้องใจว่าทำไมอุ้มชูเฉพาะ พปชร.

รปช.ต่างหากที่ลงไปสัมผัสความจริง ควรจะได้รับการเอาใจใส่

คนจำนวนหนึ่งจึงประเมิน “เป้า” ที่นายสุเทพออกโรงครั้งนี้ ก็เพื่อมิให้ รปช. “ตกขบวนแห่งอำนาจ”

“เราได้ร่วมรัฐบาลแน่” ยังน่าจะเป็นเป้าหมายสูงสุดที่ดำรงอยู่ และควรจะได้รับเอาใจใส่จาก
ฝั่งฟากผู้มีอำนาจต่อไป

วิเคราะห์เช่นนั้นก็ดูมีเค้า

แต่อาจจะประเมินนายสุเทพในทางร้ายไปหน่อยไหม

เพราะว่าที่จริง สิ่งที่นายสุเทพนำเสียงแห่งแผ่นดิน มารายงานต่อสังคม ใครจะปฏิเสธว่าไม่จริง

คำว่า “สาหัส” พอจะสัมผัสได้

ยิ่งเมื่อไปอ้างอิงกับกับรายงานเศรษฐกิจที่เป็น “วิชาการ”

นับตั้งแต่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยว่า ในปี 2561

ครัวเรือนไทยมีหนี้เฉลี่ย 316,623 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.8%

เป็นสัดส่วนหนี้ในระบบ 64.7% และหนี้นอกระบบ 35.3%

ปัจจัยที่ทำให้ปริมาณหนี้สินเพิ่มขึ้นฃมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ราคาสินค้าเกษตรหลายตัวอยู่ในระดับต่ำ, ค่าครองชีพสูง

ซึ่งก็สอดคล้องกับ ข้อมูล “คารวะแผ่นดิน” ชนิดเป็นเนื้อเดียวกัน

ขณะที่ นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โพสต์ผ่าน
เฟซบุ๊กเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ

ปรากฏว่าไทยถูกจัดอันดับ 1 ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก

ตามข้อมูลของ CS Global Wealth Report 2018 ที่ออกมาเมื่อเดือนตุลาคม

ปรากฏว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้ว (2016) คนไทย 1% มีทรัพย์สินรวม 58.0% ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ

มาปีนี้ (2018) คนไทย 1% มีเพิ่มเป็น 66.9% รวยขึ้นมหาศาล

ขณะที่คนไทยที่จนสุด 10% มีทรัพย์สิน 0% (จริงๆ)

ถ้านับ 50% (25 ล้านคน) ก็ยังมีทรัพย์สินแค่ 1.7%

และถ้าเอา 70% (35 ล้านคน) ก็เพิ่มทรัพย์สินไปเป็นแค่ 5%

“ไอ้ 1% มันเอาไปหมด …สะท้อนว่า คนครึ่งประเทศ เป็นพวก “หาเช้ากินค่ำ” หรือไม่ก็ “เดือนชนเดือน” ไม่มีเหลือเก็บเหลือออม”

นายบรรยง พงษ์พานิช ระบุ

ปรากฏว่า มีการตอบโต้จากฝ่ายรัฐบาลหลายฝ่าย

โดยเฉพาะสภาพัฒน์ อ้างว่าเป็นตัวเลขเก่า และใช้การเปรียบเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วตัวเลขจึงบิดเบือน

สถานการณ์เหลื่อมล้ำจึงไม่ได้สูงสุดในโลก ตัวเลขธนาคารโลกก็ไม่ได้ชี้เช่นนั้นและชี้ความเหลื่อมล้ำของไทยดีขึ้น

แต่ในท่ามกลางการตอบโต้นั้น

ไม่มีใครปฏิเสธว่าไทยไม่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ และยังอยู่ในระดับสูง

จำเป็นต้องแก้ไข

นั่นแหละคือสิ่งที่น่าวิตกและ “สาหัส” ไม่ต่างจากคำพูดของนายสุเทพ เท่าไหร่หรอก

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image