อจ.วิพากษ์ กกต. บทบาทคุมประชามติรธน.

โคทม อารียา, พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย, ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

หมายเหตุ – นักวิชาการแสดงความคิดเห็นถึงบทบาทหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในการทำหน้าที่จัดการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

 

โคทม อารียา

อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

Advertisement

กกต.มีหน้าที่เช่นเดียวกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่จะให้การจัดประชามติเป็นไปโดยเรียบร้อย การลงประชามติ กฎหมายเขียนไว้ว่าห้ามไม่ให้ผู้ใดก่อความวุ่นวายที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการลงคะแนนเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ ตัวกฎหมาย กกต.เป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่จะต้องทำให้ราบรื่นสำเร็จภารกิจให้มีการออกเสียงประชามติโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

ประเด็นที่มี กกต.ไปแจ้งความเอาผิดประชาชนตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ทาง กกต.ก็ท้วงติงแล้วว่าไม่ควรทำ ถ้าจะทำก็เป็นในฐานะบุคคลไม่ใช่ในฐานะ กกต. มองในแง่ดีก็เป็นสิทธิของบุคคล แต่ถ้าคำนึงว่าเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งด้วยก็โปรดพิจารณาถึงความเหมาะสม

การจะแจ้งความใคร หลักคิดนั้นต้องอ่านกฎหมายว่าเมื่อทำอย่างนี้ๆ ให้ถือว่าเป็นการก่อความวุ่นวาย เจตนาคือไม่ต้องการให้ก่อความวุ่นวาย ถ้าเป็นการแสดงความเห็นตามมาตรา 7 โดยสุจริตใจ สามารถกระทำได้ ต้องอ่านประกอบกัน หากไม่ได้ก่อความวุ่นวายอะไร ยังไม่ได้ทำอะไร เพียงแต่แสดงความคิดเห็น ซึ่งเสรีภาพแสดงความเห็นนั้น เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับความเห็นนั้น แต่ถ้าความเห็นนั้นไม่ได้สร้างความวุ่นวายอะไรก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่ว่าความเห็นต้องเหมือนกันหมดจึงจะไม่วุ่นวาย ความเห็นต่างกันต้องถือว่าไม่วุ่นวาย เมื่อเห็นต่างแล้วไม่วุ่นวายเป็นการแสดงออกด้วยความสุจริตใจ ก็เข้ากับมาตรา 7 สามารถแสดงออกได้

Advertisement

ส่วนมาตรา 61 วรรค 2 ที่บอกให้ถือเหมือนเป็นความวุ่นวาย ก็ใช้คำพูดที่น่ากังวลสำหรับคนทั่วไป สมมุติว่าผมใช้วาจาหยาบคาย ผิดมรรค 8 ว่าด้วยสัมมาวาจา หรือผมใช้ข้อความที่ไม่เป็นจริงก็ผิดศีลข้อ 4 มุสาวาทา แต่ไม่ใช่ก่อความวุ่นวายหรือเจตนาก่อความวุ่นวายก็ได้ ต้องไปดูเจตนาว่าเขาก่อความวุ่นวายหรือเปล่า

บางคนบอกว่าวาจาอย่างนี้ใช้ได้ อีกคนบอกว่าหยาบ บางคนเผลอใช้สำนวนที่อาจมีคำหยาบหลุดไปบ้าง แต่ไม่ใช่การด่ากัน อาจหลุดวลีหนึ่ง ต้องดูกัน ประคับประคองกันในกระบวนการ ถ้าอยากจะลดความตึงเครียดก็อย่าเอามาตรา 61 ขึ้นมาเป็นประเด็นมากนัก ปล่อยให้เป็นไปโดยธรรมชาติเหมือนการใช้สิทธิ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้ง หรือการลงประชามติครั้งที่แล้วปี 2550 พอมีเสรีภาพอยู่ คราวนี้อย่าให้เสรีภาพลดน้อยลงไป

ข้อห้าม 8 ข้อที่ กกต.ออกมา ก็เอาข้อความในกฎหมายมาพูดย้ำซ้ำเตือน ชัดเจนเท่าที่เขียนในกฎหมาย เมื่อกฎหมายบอกว่าอย่าพูดหยาบคาย กกต.บอกว่าอย่าพูดหยาบคาย ไม่มีตัวอย่างเปรียบเทียบว่าหยาบคายอย่างไร ทางที่ดีเอาไว้ในกรณีที่เป็นการก่อความวุ่นวายก็แล้วกัน ต้องดูตรงนั้น ยกตัวอย่างถ้าในวงประชุมถ้าผมพูดรุนแรงไปหน่อยต้องติดคุกด้วยนะ เมื่อมาขู่กันแบบนี้จะสร้างบรรยากาศแห่งการแสดงออกคงไม่ได้

การเอาผิดในข้อความเป็นเท็จที่ผิดไปจากความจริง เวลาจะพูดถึงความเท็จนั้นต้องพูดถึงข้อเท็จจริงว่ามองตรงกันหรือเปล่า เช่นเขาบอกว่าไม่ชอบรัฐธรรมนูญเพราะนายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง อันนี้ผิดข้อเท็จจริง เขาไม่ได้บอกว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง อย่างนี้ไปแจ้งเขาได้แต่เขาไม่ได้เจตนา ต้องเตือนกันไป ไม่ใช่เอามาตรา 61 มาใช้ในลักษณะดาบอาญาสิทธิ์ที่จะไล่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของใคร

เรื่องสองมาตรฐานนั้น ถ้ามีแล้วจะเที่ยงธรรมได้อย่างไร กกต.ต้องยึดภารกิจให้ชัด ดูว่าเที่ยงธรรมไหม ไม่ได้มีสองมาตรฐานใช่ไหม แต่ไม่ใช่บอกว่าไม่มีสองมาตรฐานแล้วยิ่งเข้ม รัฐต้องใช้หลักการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงประชามติด้วย เป็นโอกาสที่ประชาชนจะเรียนรู้ บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญดี แล้วดีอย่างไร นี่เป็นการพัฒนาประชาธิปไตยไปในตัว แต่ถ้าบอกว่าจะลงประชามติแล้วทุกคนกลัวหมดเลย แล้วจะเป็นไปถามเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความบริสุทธิ์เรียบร้อยต่างๆ ที่ว่าไว้ได้อย่างไร ผิดวัตถุประสงค์ไปหมด

 

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จะสังเกตได้ว่าตัวของ กกต.จะมุ่งเน้นไปที่มาตรา 61 ของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ ที่บอกว่าการกระทำใดไม่สามารถกระทำได้ เช่นการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ส่งผลทำให้คนไปลงหรือไม่ไปลงประชามติ หรือ การยั่วยุ ปลุกปั่น ซึ่งนัยยะทางกฎหมายคำเหล่านี้ค่อนข้างมีความคลุมเครือว่าจะตีความอย่างไรว่า การกระทำในลักษณะนี้เข้าข่ายการบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือ ยั่วยุปลุกปั่นอย่างไร ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์การโต้เถียงขึ้นในสังคม

ซึ่งได้เกิดขึ้นในหลายภาคส่วนไม่ใช่เฉพาะประชาชนเท่านั้น แต่รวมไปถึงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กระทั่ง กกต.จึงต้องมานำเสนอกฎเหล็ก 8 ข้อ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตัวบทกฎหมายมีความคลุมเครือ ทาง กกต.จึงพยายามอธิบายให้มีรายละเอียด มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถึงแม้จะมีกฎเหล็กออกมาก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่ ทั้ง สนช.และ สปท. ยังบอกว่ามีความคลุมเครืออยู่ดี

หากถามในเชิงหลักกฎหมายแล้วเรายึดมาตรา 61 พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ เพียงอย่างเดียวไม่ได้ คือมาตรา 61 เป็นเรื่องของการห้ามการกระทำ แต่ทั้งนี้ต้องไปดูที่มาตรา 7 ใน พ.ร.บ.เดียวกันด้วย โดยมาตรา 7 มีรายละเอียดว่าการใดๆ ก็แล้วแต่ที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญโดยสุจริตก็สามารถที่จะให้ความคิดเห็นได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

ดังนั้น การจะตีความมาตรา 61 จะเป็นการตีความโดยอาศัยมาตราเดียวไม่ได้ แต่ต้องเป็นการตีความที่ไม่ขัดกับมาตรา 7 อันเป็นบทบัญญัติทั่วไป

ที่ผ่านมาไม่ได้พูดถึงสิ่งที่ประชาชนทำได้ พูดแต่สิ่งที่ประชาชนทำไม่ได้คือมาตรา 61 อย่างเดียว ทำให้ขาดหายไปในมิติที่สำคัญ ซึ่งต้องเข้าใจว่าการทำประชามติครั้งนี้คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าไปสร้างกฎกติกา ในระดับกฎหมายแม่ อย่าง รัฐธรรมนูญ

ดังนั้น โดยหลักจะต้องพูดก่อนว่าอะไรที่ประชาชนสามารถทำได้ซึ่งนั่นก็คือ มาตรา 7 ที่สะท้อนให้เห็นว่าการแสดงความคิดความเห็นโดยสุจริตในร่างรัฐธรรมนูญและเผยแพร่ไม่มีความผิดตามกฎหมาย

หลายฝ่ายอาจถามว่าจะตีความคำว่า สุจริต ไม่สุจริต อย่างไร ส่วนตัวมองว่ารายละเอียดของสิ่งที่สามารถกระทำได้นั้นจะต้องไปดูที่พันธกรณีระหว่างประเทศ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในมาตรา 4 แห่ง รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ได้บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามพันธกรณีที่ประเทศไทยไปลงนามเป็นภาคีเอาไว้ การลงประชามติก็อยู่ในพันธกรณีระหว่างประเทศนี้ด้วย

ตอนนี้มีอย่างน้อย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องและประเทศไทยได้ลงนามเอาไว้ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ทั้งสองฉบับมีเนื้อหาสาระที่รับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการทำประชามติ ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมในการทำประชามติที่กติการะหว่างประเทศหมายถึงคือ การมีส่วนร่วมที่เป็นประชาธิปไตยที่สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนจะต้องมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับตัวร่างรัฐธรรมนูญได้

ดังนั้น การที่จะอ้างมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ สามารถที่จะอ้างได้ แต่หากอ้างแล้วไปขัดกับพันธกรณีระหว่างประเทศทั้งสองฉบับจะไม่สามารถที่จะอ้างเพื่อห้ามการกระทำของประชาชนได้ เพราะหากอ้างแล้วไปขัดกับพันธกรณีระหว่างประเทศจะถือว่าไปขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ในมาตรา 4

สรุปคือหาก กกต.จะบังคับการกระทำต่างๆ สิ่งที่จะต้องดูนอกจากมาตรา 61 พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ แล้วจะต้องดู มาตรา 7 ใน พ.ร.บ.เดียวกันด้วย ที่สำคัญคือจะต้องยึดตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ในมาตรา 4 ที่ไปเชื่อมโยงกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย

 

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

การแจ้งความประชาชน ฐานผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ ผมคิดว่าไม่ควรจะเป็นหน้าที่ของ กกต. เพราะบทบาทขององค์กรที่ทำเกี่ยวกับประชามติ ควรมีหน้าที่เป็นศูนย์กลางอำนวยความสะดวกให้การทำประชามติเป็นไปอย่างเรียบร้อย มี 2 ความหมาย คือ 1.ทำให้การลงประชามติ มีการลงความเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางเกิดขึ้น เป็นความหมายในเชิงหลักการทำประชามติทั่วไป ซึ่ง กกต.ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความหมายนี้

2.การทำให้กระบวนการของกฎหมายเกิดครบตามที่เขียนไว้ โดยไม่คำนึงว่ากระบวนการตามกฎหมาย ตอบโจทย์ใหญ่เรื่องการทำประชามติ เป็นการระดมความเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางหรือเปล่า

จริงๆ แล้วการทำประชามติ คือ การที่ประชาชนคนทั่วไปส่วนใหญ่ในสังคมมีความเห็นอย่างไร เป็นเป้าหมายของการทำประชามติ ส่วนเรื่องทางกฎหมาย เป็นการร่างกฎหมายเพื่อตอบโจทย์ให้การทำประชามติตรงตามเป้าหมายให้ได้

แต่ตอนนี้บทบาทของ กกต. ให้ความสำคัญกับกฎหมายมากกว่า โดยไม่ได้ดูว่ากฎหมายขัดแย้งกับโจทย์ใหญ่

ดังนั้น การดำเนินคดีกับประชาชนไม่ควรเป็นเรื่องของ กกต. ถ้าจะมีคดีต้องเป็นเรื่องที่เป็นทางการมากๆ ต้องเข้าที่ประชุม เพราะฉะนั้นประเด็นการดำเนินคดีคือเป็นเรื่องของ กกต. หรือเปล่า ต่อให้เป็นเรื่องของ กกต. แต่เป็นเรื่องที่ทำได้แบบที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ทำหรือเปล่า คือ กกต. คนไหนเห็นว่ามีปัญหาก็ไปแจ้งความได้เลยไม่ต้องผ่านการประชุม

มองว่าการทำแบบนี้มันเสี่ยงที่ทำให้กฎหมายประชามติสร้างความขัดแย้งทางการเมืองและทำให้เกิดการกลั่นแกล้งของกลุ่มต่างๆ อย่างกว้างขวาง เพราะการแจ้งความดำเนินคดีกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในการกระทำต่างๆ ที่จะกระทบต่อเสรีภาพประชาชนต้องทำอย่างมีข้อจำกัด ไม่ใช่ใครอยากแจ้งความใครก็แจ้ง ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นภาระของประชาชนที่อยากแสดงออก แล้วถูกใครก็ได้ในประเทศแจ้งความ กลายเป็นว่าเขาจะมีหน้าที่พิสูจน์กับตำรวจ พิสูจน์กับพนักงานสอบสวน และศาลว่าเขาไม่ผิด เป็นการตีความทางกฎหมายที่อาจจะกลายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพ ดังนั้น กรณีของนายสมชัย คิดว่าไม่ควรทำ

ผมคิดว่า กกต.มีความเสี่ยงต่อการตีความของกฎหมายประชามติแบบให้ตัวเองมีอำนาจมาก แล้วกฎหมายประชามติมีปัญหาอยู่แล้วว่าทิศทางทั้งหมดมุ่งควบคุมการแสดงออกของประชาชนแล้วกกต.ตีความกฎหมายไปในทางควบคุมการแสดงออกของประชาชนมากขึ้นไปอีก แล้วเรื่อง 6 ข้อทำได้ 8 ข้อทำไม่ได้ กลายเป็น 10 ข้อทำไม่ได้ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือการตีความที่ กกต.ขยายอำนาจตัวเองมากขึ้นจากกฎหมายเดิม ขยายไปถึงขั้นว่า กกต.ในฐานะปัจเจกบุคคลแจ้งความได้เป็นการตีความที่ทำให้ กกต. แต่ละคนมีอำนาจให้คุณให้โทษและดำเนินคดีกับประชาชนได้อย่างชัดเจน

โดยพื้นฐานแล้วการตีความกฎหมายแบบนี้ไม่สามารถทำได้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าองค์กรไหนที่มีอำนาจตามกฎหมายก็ตีความให้ตัวเองมีอำนาจดำเนินคดีกับประชาชนได้อย่างเสรี สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะไม่มีหลักประกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image