เบรนทอล์ก : รู้จักโครงสร้างบัตรเลือกตั้ง

กรณีกระแสข่าวการเสนอแนวคิด ให้บัตรเลือกตั้งไม่ระบุชื่อพรรคการเมือง ตราสัญลักษณ์หรือโลโก้ จะมีเพียงหมายเลขของผู้สมัครเท่านั้น ต่อมาถูกวิจารณ์อย่างหนัก ทั้งจากนักการเมืองและนักวิชาการ

ในทางวิชาการ บัตรเลือกตั้งจัดว่ามีความสำคัญในฐานะเป็นกลไกให้ผู้เลือกตั้งแสดงผลลัพธ์ อันเป็นเจตนารมณ์ของตนเอง เป็นกลไกเบื้องต้นแต่สำคัญสูงสุด เพราะเป็นข้อต่อในการตรวจสอบความรับผิดชอบ  ที่ประชาชนพึงมีต่อสมาชิกผู้แทนราษฎร หรือพรรคการเมือง โดยปกติจะสามารถแบ่งออกเป็น 4 แบบ

1.คือบัตรเลือกตั้งที่เน้นตัวบุคคลผู้สมัคร ประเภทนี้จะเน้นคุณสมบัติบุคคล การตัดสินใจเลือกผู้สมัครก็เท่ากับว่าผู้ออกเสียงได้เลือกพรรคไปในตัว ฉะนั้นสำหรับบัตรเลือกตั้งที่เน้นเรื่องนี้ ในบางประเทศจะมีรายละเอียด เช่น ภาพผู้สมัคร สัญลักษณ์ของพรรค หรืออย่างในอินเดียที่คนจำนวนมากไม่รู้หนังสือ หรือต้องสื่อสารกันด้วยภาษาถิ่นที่แตกต่างกันอย่างมาก ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งถึงกับต้องทำสัญลักษณ์ประจำตัวผู้สมัคร เช่น นาย A มีสัญลักษณ์ประจำตัวคือเสือ นางสาว B มีสัญลักษณ์คือดอกไม้ เป็นต้น ยึดหลักการว่า ต้องให้ข้อมูลกับผู้ออกเสียงให้มากที่สุดนั่นเอง

2.บัตรเลือกตั้งแบบให้จัดลำดับผู้สมัคร อันนี้จะใช้กับระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อแบบเปิด และแบบปิด กรณีแบบเปิด คนเลือกจะเลือกโดยจัดลำดับความชอบ เรียงลำดับตามใจ ส่วนกรณีแบบปิดจะเน้นเลือกพรรคการเมือง ที่อินโดนีเซียใช้บัตรเลือกตั้งแบบนี้ ในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น บัตรเลือกตั้งของอินโดนีเซียจะใหญ่มาก ทุกพรรคการเมืองจะมีรายชื่อผู้สมัครเรียงลงมาหลายคน มาเต็มทั้งโลโก้พรรค  ชื่อพรรค หน้าผู้สมัคร ชื่อผู้สมัคร

Advertisement

3.บัตรเลือกตั้งที่เน้นพรรคการเมือง อันนี้จะใช้กับระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน บัญชีรายชื่อแบบปิด เป็นบัตรที่  ผู้ออกเสียงไม่มีอิสระเลือกตัวบุคคล แต่ไปเน้นคุณสมบัติพรรค กรณีนี้บางประเทศก็อาจจะไม่ใส่ชื่อผู้สมัคร เพียงใส่ชื่อพรรคและตัวเลขก็เพียงพอ แต่บางประเทศก็ใส่ไปด้วยเพื่อเพิ่มข้อมูลแก่ผู้ออกเสียง

4.บัตรเลือกตั้งแบบผสม อันนี้จะเน้นตัวผู้สมัครและพรรคการเมืองไปพร้อมๆ กัน โดยทั่วไปจะให้บัตรเลือกตั้งมา 2 ใบ ให้ผู้ออกเสียงสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระ ทั้งการเลือกพรรคและตัวบุคคล

นี่คือโครงสร้างบัตรเลือกตั้งโดยปกติทั่วไป แต่ในส่วนรายละเอียดของบัตรก็อาจจะมีแตกต่างกันบ้าง เช่น    การใส่ช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนในกรณีของประเทศไทยเรา เป็นต้น

Advertisement

ทั้งนี้มีงานวิจัยทางวิชาการ เชื่อว่าการเปลี่ยนโครงสร้างบัตรเลือกตั้ง ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับตัวแทนได้ในชั่วข้ามคืน แต่การนั้นก็มีความเป็นไปได้สูงในระยะยาว เมื่อผ่านการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเป็นประจำสม่ำเสมอ บัตรเลือกตั้งที่มีข้อมูลผู้สมัคร และภาพประกอบการตัดสินใจ จะช่วยกระตุ้นการตรวจสอบตัวแทนโดยประชาชนให้ชัดเจนขึ้นได้

ที่จริงในปัจจุบัน หลายประเทศเปลี่ยนการใช้บัตรเลือกตั้ง เป็นอุปกรณ์เลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์บ้างแล้ว

ถามว่าที่ผ่านมา เคยมีการเลือกตั้งที่ออกแบบบัตรเลือกตั้งแล้วสร้างปัญหาหรือไม่ ก็ตอบว่า เคยมียกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐ กับการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ.2000 ในครั้งนั้น เมืองแห่งหนึ่งในมลรัฐฟลอริดา ใช้บัตรเลือกตั้งที่มีลักษณะเหมือนปีกผีเสื้อ โดยผู้ออกเสียงต้องเจาะรูตรงกลาง มีรายชื่อผู้สมัครแบ่งให้ดูอยู่ข้างซ้ายและขวา สลับเรียงกันลงมา การวางตำแหน่งดังกล่าวถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าทำให้ผู้สูงอายุสับสน คนที่จะเลือกพรรคเดโมแครต เผลอไปเจาะรูให้พรรค Reform Party ซะงั้น สุดท้ายก็ถูกยกเลิกไปในที่สุด

จะเห็นว่าเบื้องต้น หลักการทั่วไปที่ทั้งโลกเห็นตรงกันคือ บัตรเลือกตั้งที่ดีและเหมาะสม คือต้องให้ข้อมูลกับ    ผู้ออกเสียงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยรูปแบบของบัตรในแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไปสอดคล้องไปกับระบบเลือกตั้งนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image