ปฏิทินเลือกตั้ง‘กกต.’ ‘กาบัตร’24ก.พ.62 ไม่เกิน4ทุ่ม-รู้ตัวนายกฯ

หมายเหตุ – นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ภายหลังหารือร่วมกับแม่น้ำ 5 สายใน
วันที่ 7 ธันวาคม ที่สโมสรทหารบกที่ผ่านมา และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้วันนี้ (11 ธันวาคม 2561)

 

สําหรับปฏิทินไทม์ไลน์การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การเลือกตั้ง ประกาศออกมาในวันที่ 2 มกราคม 2562 ภายในวันที่ 4 มกราคม 2562 กกต.จะประกาศกำหนดให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นวันเลือกตั้ง และวันที่ 14-18 มกราคม 2562 เป็นวันสมัคร
รับเลือกตั้ง ส.ส. และกำหนดวันลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในและนอกราชอาณาจักรพร้อมกัน คือตั้งแต่วันที่ 10-24 มกราคม 2562 และการใช้สิทธินอกราชอาณาจักรให้สถานทูตและสถานกงสุลเป็นผู้กำหนด แต่วันสุดท้ายจะเป็นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 เนื่องจากต้องนำบัตรกลับมานับพร้อมกับบัตรลงคะแนนล่วงหน้าในประเทศในหน่วยเลือกตั้งที่กำหนดขึ้น โดยจะนับหลังปิดการลงคะแนนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

ส่วนการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งนั้น ทางสำนักงานเตรียมไว้ 2 รูปแบบ คือ บัตรที่มีความพร้อมสมบูรณ์ ทั้งหมายเลข ชื่อ และโลโก้พรรค และบัตรที่มีเพียงหมายเลขผู้สมัครอย่างเดียว จะรวบรวมข้อดี ข้อเสีย เสนอต่อ กกต.ภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นจะนำรูปแบบที่ กกต.เลือกและการกำหนดระบบรักษาความปลอดภัยของบัตรใส่ในทีโออาร์เพื่อหาผู้รับจ้างจัดพิมพ์ หาก กกต.เลือกรูปแบบบัตรสมบูรณ์ หลังปิดรับสมัคร สำนักงานจะสรุปข้อมูลผู้สมัครทั้ง 350 เขต ส่งไปยังผู้จัดพิมพ์ บัตรแต่ละเขตจะมีจำนวนผู้สมัครแตกต่างกัน โดยประมาณไว้ว่าในจังหวัดที่มีผู้สมัครมากที่สุดอาจมีถึง 60 หมายเลข และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการปลอมแปลงจะพิมพ์ที่ส่วนกลางทั้งหมด โดยโรงพิมพ์ที่มีศักยภาพสามารถพิมพ์บัตร 52 ล้านฉบับ การจัดพิมพ์ผู้จัดพิมพ์จะเริ่มพิมพ์ในวันที่ 20 มกราคม 2562 คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 2 วันจะส่งบัตรล็อตแรกไปยังสถานทูตและสถานกงสุล จะรอการปิดยอดลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในวันที่ 24 มกราคม 2562 คาดว่าการนำส่งบัตรจะแล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 26 มกราคม 2562 และเตรียมที่จะหารือกับกระทรวงการต่างประเทศในการตั้งประเทศเซ็นเตอร์ เพื่อนำส่งบัตรสำรองให้กับผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิที่อาจไม่ได้รับบัตรในรอบแรก

Advertisement

การจัดส่งบัตรไปยัง 350 เขต ก็ไม่ต้องห่วงเรามีระบบจีพีเอสติดตาม จะแสดงสถานะปัจจุบันว่าการขนส่งอยู่ที่ใด และเรามีเลขที่ลำดับของกล่องบัตรคอยควบคุม ไม่ต้องเป็นห่วง เรื่องบัตรมีปัญหาทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบสองขาหรือแถวเดียว กกต.ต้องพิจารณาตัดสินใจ ที่ผ่านมามีการร้องถึงขั้นช่องกาบัตรของพรรคอยู่ใกล้กับช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด จริงๆ แล้ว เรามองข้ามประชาชน ประชาชนไม่ได้เป็นอย่างที่วิจารณ์ เขารู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะเลือกใคร จะลงคะแนนให้ใคร โดยเฉพาะผลสำรวจที่พบว่าประชาชนในชนบทตื่นตัวมากกว่าคนในชุมชนเมือง อยากให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายไปถามประชาชน เพราะสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากคือใกล้เลือกตั้งแล้ว แต่ยังไม่อ่านข้อกฎหมายให้ละเอียด

เมื่อเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 กกต.จะทำหนังสือแจ้งไปยังเจ้าบ้าน โดยมีรายละเอียดของรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะมีข้อมูลผู้สมัครในเขตที่ผู้สิทธิเลือกตั้งจะใช้สิทธิ และจัดทำแอพพลิเคชั่นฉลาดเลือก ผู้มีสิทธิกรอกหมายเลขประจำตัว 13 หลัก ก็จะทราบข้อมูลพรรคการเมือง นโยบาย และผู้มีสิทธิ ตามที่ผู้มีสิทธิมีสิทธิอยู่ และในวันเลือกตั้ง ในหน่วยเลือกตั้งจะติดรายชื่อผู้สมัคร หมายเลข โลโก้พรรค และชื่อพรรคไว้ในคูหา เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลครบถ้วนในวินาทีสุดท้าย มั่นใจได้ว่ากาถูกตัว ถูกพรรค และลดข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ส่วนเรื่องของการรายงานผล มีการจัดทำแอพพลิเคชั่นรายงานผล ประธานกรรมการประจำหน่วยจะรายงานผลคะแนน 95% หลังปิดลงคะแนนในเวลา 17.00 น. คาดว่าไม่เกิน 22.00 น. สำนักงานสามารถสรุปผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการได้ หากคำนวณเป็นก็จะรู้ทันทีว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี

Advertisement

การที่ผู้สมัครแต่ละพรรคในแต่ละเขตจะไม่ได้เบอร์เดียวกัน กกต.ไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) การเลือกตั้ง ในทางปฏิบัติหากพรรคการเมืองอยากให้ผู้สมัครของพรรคใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ ก็คุยกันได้ กฎหมายก็เปิดช่องให้ตกลงกันได้ ทำได้ไม่ยาก วันที่ 19 ธันวาคม กกต.เชิญประชุมเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งก็คุยตกลงกัน ถ้าตกลงกันได้ วันสมัครก็ไปแจ้งว่าจะขอใช้เบอร์พรรคตกลงกันที่กรุงเทพฯ แต่ปัญหาจะอยู่ที่พรรคซึ่งไม่ได้ส่งครบทั้ง 350 เขต หมายเลขบนบัตรจะเป็นฟันหลอทันที จะเกิดคำถามย้อนกลับมาที่สำนักงาน กกต.ว่าบริหารจัดการอย่างไร เวลาคนตั้งคำถามง่าย แต่ไม่ได้หาคำตอบเอาไว้ให้ด้วย องคาพยพทั้งหมดไม่ได้เบ็ดเสร็จที่ กกต. ทาง กกต.ไม่ปิดกั้น

พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ใช้บังคับแล้ว ในวงงานของ กกต.ถือว่าเริ่มทำงานแล้ว แต่ขณะนี้ยังมีคำสั่ง คสช.บังคับใช้อยู่ พรรคการเมืองจึงยังทำอะไรไม่ได้ ในการประชุมแม่น้ำ 5 สาย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ภายในเดือนธันวาคม 2561 จะยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง 9 ฉบับ แต่ไม่รู้ว่าเมื่อใด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว การที่พรรคจะทำอะไรที่มีผลให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม กฎหมายให้เอาข้อเท็จจริงนั้นไปบวกกับการเลือกตั้งในอนาคตที่จะมีขึ้นหลังมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง และสามารถนำไปพิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต จึงไม่ใช่ว่าเมื่อยังไม่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งแล้วพรรคการเมืองจะทำอะไรก็ได้ ที่กฎหมายกำหนดว่าให้การหาเสียงนับแต่มี พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง เป็นเรื่องหาเสียงที่ต้องนำมาคำนวณค่าใช้จ่าย ผลของการหารือร่วมกับพรรคการเมืองในวันที่ 19 ธันวาคม จะเป็นตัวกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงว่าควรเป็นเท่าไร

เราจะพูดได้ 100% เมื่อมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งแล้ว เพราะ กกต.มีอำนาจประกาศกำหนดวันเลือกตั้งหลังมี พ.ร.ฎ. ประธาน กกต.ก็ปรารถนาให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ไม่อยากให้เลื่อนอีกแล้ว จากการหารือรัฐบาลก็กำหนดให้มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งในวันที่ 2 มกราคม 2562
แต่ขยับได้ถึงวันที่ 4 มกราคม 2562 แต่ถ้าถามถึงปัจจัยที่จะเป็นเหตุให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป ยังไม่สามารถตอบได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image