2องค์กรสิทธิ์โลก จี้ ไทย ต้องไม่ส่งนักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านไปกัมพูชา

ภาพจาก www.hrw.org

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีเจ้าหน้าที่ไทย จับกุม นักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชาที่ลี้ภัยหนีออกจากประเทศ และเตรียมส่งกลับคืนให้กัมพูชา ดำเนินคดีนั้น ล่าสุดมีองค์กรสิทธิ์ระดับโลกอย่าง Human Rights Watch และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ออกแถลงการณ์คัดค้าน

โดย Human Rights Watch สำนักงานใหญ่นครนิวยอร์ก ออกแถลงการณ์เรื่อง ประเทศไทย: ต้องไม่ส่งกลับฝ่ายค้านของกัมพูชา นักกิจกรรมเสี่ยงจะถูกฟ้องคดีและถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในกัมพูชา ระบุว่า

รัฐบาลไทยไม่ควรบังคับส่งกลับรัฐ รอท โมนี (Rath Rott Mony) นักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านไปกัมพูชา มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือว่า โมนีอาจถูกฟ้องคดีด้วยเหตุผลทางการเมือง ถูกควบคุมตัวอย่างมิชอบ และถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายในกัมพูชา

“ประเทศไทยไม่ควรเอาใจกัมพูชา ด้วยการบังคับส่งกลับนักเคลื่อนไหวที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ และที่ผ่านมาได้เปิดโปงความล้มเหลวของตำรวจ ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาการปฏิบัติมิชอบและการค้าประเวณีเด็กได้” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “ทางการไทยควรปล่อยตัวรัฐรอทโมนีโดยทันที และอนุญาตให้เขาร้องขอความคุ้มครองจากหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ”

Advertisement

ทางการไทยจับกุมตัวโมนี อายุ 47 ปี ประธานสหพันธ์สหภาพแรงงานก่อสร้างแห่งกัมพูชา (CCTUF) ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 ตามคำร้องขออย่างเป็นทางการจากรัฐบาลกัมพูชา เชื่อว่าตำรวจกัมพูชาไม่พอใจกับการมีส่วนร่วมของเขาในการจัดทำภาพยนตร์สารคดีของสำนักข่าว RT ที่ชื่อ “My Mother Sold Me” (“แม่ขายหนู”) ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงยากจนที่ถูกขายเพื่อค้าประเวณี ทางการกัมพูชากล่าวหาว่า ผู้จัดทำสารคดีจ่ายเงินจ้างเด็กผู้หญิงและแม่ให้มาโกหกเพื่อถ่ายทำหนัง ซึ่งทำลายชื่อเสียงของประเทศกัมพูชา

ที่ผ่านมาทางการไทยมักร่วมมือกับรัฐบาลกัมพูชาในการคุกคาม จับกุม และบังคับส่งกลับฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลที่ลี้ภัยมา รวมทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน นักสิทธิมนุษยชนและผู้สื่อข่าว ซึ่งหลบหนีมายังประเทศไทยเพื่อหลีกเลี่ยงการฟ้องคดีของรัฐบาลกัมพูชาภายใต้นายกรัฐมนตรีฮุนเซน เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทางการไทยต้องไม่ทำให้โมนีเกิดอันตราย ซึ่งจะเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

ตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องประกันว่า บุคคลจะไม่ถูกบังคับส่งกลับไปยังดินแดนใด ซึ่งมีความเสี่ยงว่า บุคคลนั้นจะตกเป็นเหยื่อการประหัตประหาร การทรมาน หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่น ๆ ข้อ 3 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ห้ามไม่ให้ “ขับไล่ ส่งกลับ (ผลักดันกลับออกไป) หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า บุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน”

Advertisement

วันเดียวกัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ได้เรียกร้องทางการไทย ให้ปล่อยตัวรัฐ ร็อท โมนี จากสถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลูที่กรุงเทพฯ โดยทันที และต้องไม่เนรเทศเขากลับไปกัมพูชา

โดยแอมเนสตี้  ระบุว่า ทางการไทยได้ควบคุมตัวนักกิจกรรมด้านสหภาพแรงงานเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 ที่กรุงเทพฯ หลังได้รับคำร้องขออย่างเป็นทางการจากกัมพูชา เพื่อให้ส่งตัวเขากลับประเทศ

การส่งตัวรัฐ ร็อท โมนีกลับไปกัมพูชา เท่ากับประเทศไทยละเมิดหลักการพื้นฐานว่าด้วยการไม่ส่งกลับ ซึ่งเป็นหลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ห้ามส่งตัวบุคคลไปยังประเทศหรือเขตอำนาจศาลใด ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าเขาจะตกเป็นเหยื่อการประหัตประหาร หากรัฐ ร็อท โมนีถูกตัวกลับไป มีความเสี่ยงว่า เขาจะถูกคุมขังโดยพลการ หรือที่เลวร้ายกว่านั้น อาจจะถูกทรมานหรือปฏิบัติอย่างโหดร้าย

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามคำร้องขอที่มิชอบ เพื่อให้ส่งตัวบุคคลกลับไปให้รัฐบาลต่างประเทศ อย่างเช่น กรณีของแซม โสกา นักกิจกรรมด้านแรงงานซึ่งมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย แต่ก็ยังถูกทางการไทยบังคับส่งกลับไปกัมพูชาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ต่อมาเธอถูกตัดสินคดีอย่างไม่เป็นธรรม และเป็นการไต่สวนลับหลังในข้อหา “ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน” และ “ยุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติ” อันเป็นผลมาจากการขว้างรองเท้าแตะสองครั้งใส่ป้ายข้างถนน ซึ่งเป็นป้ายหาเสียงของพรรครัฐบาลในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อปี 2560 และเธอถูกคุมขังโดยทันทีเมื่อเดินทางกลับกัมพูชา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image