จากเส้นทาง‘มายา’ สู่สนาม‘การเมือง’

เมื่อศิลปินดารา นักร้อง นักแสดง นางแบบ เข้าสู่สนามการเมือง ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ มีศิลปินที่หันสู่นักการเมืองป้ายแดง อาทิ อดีตนักร้อง “ฟิล์ม” รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ ร่วมสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังท้องถิ่นไทย (พทถท.) โดยระบุว่าต้องการเป็นจิตอาสาส่งต่อพลังให้คนรุ่นใหม่ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะลงสมัคร ส.ส.หรือไม่

และล่าสุดดารารุ่นใหญ่ นักแสดงรุ่นใหญ่ ประกอบด้วย สุริยา ชินพันธุ์, ดามพ์ ดัสกร และ โกวิท วัฒนกุล เข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อชาติ (พช.) โดยถูกวางตัวเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขตตามภูมิลำเนา
ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2553 ดามพ์ เคยเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก่อนย้ายไปสังกัดพรรคความหวังใหม่ในปี 2554 และลงสมัคร ส.ส.เขต 9 กทม. แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

ส่วน สุริยา และ โกวิท ไม่เลยลงสนามการเมืองมาก่อน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม มาดูกันว่าที่ผ่านมาในอดีต มีศิลปินดารา นักร้อง นักแสดงคนไหนบ้าง ที่เคยผ่านสนามการเมืองมาแล้ว

ลีลาวดี วัชโรบล เป็นที่รู้จักของคนไทยจากการเข้าประกวดนางสาวไทย ปี 2528 และได้ตำแหน่งขวัญใจช่างภาพสื่อมวลชน โดยมีผลงานละครหลายเรื่อง ในปี 2549 ลงสมัคร ส.ส.กทม. เขต 12 พรรคประชากรไทย เป็นครั้งแรก แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาปี 2550 ลงสมัคร ส.ส.กทม. เขต 1 หมายเลข 13 พรรคพลังประชาชน ไม่ได้รับการเลือกตั้งอีกเช่นกัน กระทั่งปี 2554 ส.ส.กทม. เขต 5 พรรคเพื่อไทย ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นที สุทินเผือก หรือ “กรุง ศรีวิไล” นักแสดงรุ่นใหญ่ ตัดเข้าสู่สนามการเมืองโดยการขึ้นเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวงของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) และลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2550 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ บ้านเกิด ในนามพรรคพลังประชาชน โดยได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่ในปี 2551 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ใบเหลือง

ในปี 2553 กรุง ศรีวิไล ย้ายไปร่วมสังกัดพรรคภูมิใจไทย และในการเลือกตั้งในปี 2554 ภายใต้สังกัดพรรคภูมิใจไทย กรุง ศรีวิไล พ่ายแพ้ให้กับผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

ล่าสุด กรุง ศรีวิไล ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยเพื่อย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่ พระเอกตลอดกาล “อาแอ๊ด” สมบัติ เมทะนี ลงสมัครเลือกตั้ง ส.ว.ปี 2549 และได้รับเลือก ส.ว. แต่ก่อนที่จะได้เข้าตำแหน่งมีรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ต่อมา คมช.แต่งตั้งให้เป็นสมาชิก สนช. พ.ศ.2549 ตัวแทนฝ่าย สื่อสารมวลชน นักเขียน ศิลปินต่อมาเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาราชแต่ไม่ได้รับเลือกตั้งจึงได้วางมือทางการเมือง

พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ นักแสดงละครจักรๆ วงศ์ๆ ขวัญใจแม่ยก ได้รับฉายานาม “เสด็จพี่” ลงสนามการเมืองครั้งแรกในปี 2550 ใจถึงลงจ.พังงา ในนามพรรคพลังประชาชน แต่ไม่สามารถต่อสู่กับเจ้าของพื้นที่แดนใต้อย่างพรรคประชาธิปัตย์ได้ แต่ในปี 2551 ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่โฆษกกระทรวงวัฒนธรรม ตามด้วย ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และโฆษกพรรคเพื่อไทย ต่อมาในปี 2554 ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 41

กระทั่งปี 2558 ศาลฎีกาพิพากษาให้เขาต้องโทษจำคุก 1 ปี จากกรณีหมิ่นประมาท นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่รอลงอาญา และเขาได้รับการพักโทษ ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2559 ตามหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ รวมระยะเวลาที่ต้องโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 9 เดือน 16 วัน

จณิสตา จรูญสมิทธิ์ (ลิ่วเฉลิมวงศ์) หรือที่เรียกติดปากกันว่า “แบม” นางแบบ-พิธีกร-พรีเซ็นเตอร์ชื่อดัง เข้าสังกัดพรรคชาติไทยตั้งแต่ปี 2544 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นโฆษกพรรค แถมยังพ่วงด้วยตำแหน่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต่อมาปี 2545 เป็นโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และในปี 2546 ขึ้นเป็นรองเลขาธิการพรรคชาติไทย ในการเลือกตั้งปี 2548 ได้เป็น ส.ส.กทม. เขต 14 แต่ในการเลือกตั้งปี 2550 ในพื้นที่ กทม.เขต 5 ไม่ได้รับเลือก จากนั้นในปี พ.ศ.2551 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทย

ดนุพร ปุณณกันต์ หรือ “บรู๊ค” อดีตพระเอกชื่อดัง ลงเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2548 เป็นผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 7 พรรคไทยรักไทย แต่พ่ายแพ้ให้กับ กร จาติกวณิช จากพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาปี 2549 ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.กทม. เขต 6 สังกัดพรรคไทยรักไทย และในปี 2550 ส.ส.กทม.เขต 7 อีกครั้งในนามพรรคพลังประชาชน จากนั้นในการเลือกตั้งปี 2551 ได้รับเลือกเป็น ส.ส.กทม.สมัยที่ 3 เขต 7 ภายใต้สังกัดพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2554 เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 62 พรรคเพื่อไทย

หาญส์ หิมะทองคำ หรือ ภักดีหาญส์ หิมะทองคำ นายแบบและนักแสดง ผันตัวเข้าสู่เวทีการเมืองสนามเล็กและได้รับเลือกเป็น ส.ก.เขตวังทองหลาง ในปี 2545 ภายใต้สังกัดพรรคไทยรักไทย ในปี 2550 ลงสมัคร ส.ส.กทม. เขต 6 ในนามพรรคพลังประชาชน แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง และลงสนาม กทม.เขต 15 อีกครั้งในปี 2554 ในสังกัดพรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้งเช่นเดิม โดยปัจจุบันย้ายไปสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา

มนต์สิทธิ์ คำสร้อย นักร้องลูกทุ่งลูกคอ 9 ชั้น เคยลงสมัคร ส.ส.เขต 2 ของ จ.มุกดาหาร ในนามพรรคชาติไทยพัฒนา ในปี 2554 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

น้ากล้วย เชิญยิ้ม หรือ นายฐานุพงศ์ ศักดิ์ธนาวัฒน์ ดาราตลกชื่อดัง เคยลงสมัคร ส.ส.เขต 3 ของ จ.อุตรดิตถ์ ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2554 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ปัจจุบันย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย

“อี้” แทนคุณ จิตต์อิสระ อดีตนักแสดง ลงสนามครั้งแรกในปี 2554 เขตดอนเมือง ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยแพ้ให้กับ นายการุณ โหสกุล จากพรรคเพื่อไทย ต่อมาได้เป็นโฆษกประจำตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภาและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นในปี พ.ศ.2556 ได้ลงสมัคร ส.ส.เขตดอนเมือง สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ อีกครั้ง โดยเป็นการเลือกตั้งซ่อม โดยครั้งนี้ แทนคุณ เอาชนะคู่แข่ง ยุรนันท์ ภมรมนตรี จากสังกัดพรรคเพื่อไทย ได้เป็น ส.ส.เขตดอนเมือง จากพรรคประชาธิปัตย์ คนแรกในรอบ 37 ปี

“แซม” ยุรนันท์ ภมรมนตรี อดีตพระเอกชื่อดัง เริ่มเล่นการเมืองด้วยการเข้าสังกัดพรรคไทยรักไทยใน พ.ศ.2548 เขตห้วยขวาง แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง และต่อมาลงเลือกตั้งซ่อมสู้กับแทนคุณ ที่เขตดอนเมืองปี 2556 ก็พ่ายแพ้อีกครั้ง ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ) ในปี พ.ศ.2556

“กี้ร์” อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง อดีตนักร้องชื่อดัง เริ่มเข้าส่สนามการเมืองช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 โดยร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร หลังจากนั้นเมื่อปี 2538
อริสมันต์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก เขตบางกอกน้อย กทม. ในนามพรรคพลังธรรม และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยแรก
ปี 2539 ต่อมาในปี 2541 สมาชิกพรรคพลังธรรมหลายคน รวมทั้งอริสมันต์ด้วย ย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักไทย และในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2548 อริสมันต์ก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 56 ของพรรคไทยรักไทย

ต่อมาปี 2550 อริสมันต์ลงสมัคร ส.ส.กทม. เขต 12 (บางพลัด บางกอกน้อย ตลิ่งชันทวีวัฒนา) สังกัดพรรคพลังประชาชน แต่ไม่ได้รับเลือก จากนั้นเข้าร่วมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อขับไล่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

สุนารี ราชสีมา นักร้องลูกทุ่งชื่อดังแห่งเมืองย่าโม่ เคยลงสมัคร ส.ส.นครราชสีมา พรรครวมชาติ
พัฒนา ในปี 2554 แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าถูกตัดสิทธิเนื่องจากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งก่อน จึงไม่ได้ลงรับสมัคร

“ก้อย” พรพิมล ธรรมสาร อดีตนักร้องชื่อดัง เพลงฮิตตลอดกาล “สายเกินไป” ลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 2 จ.ปทุมธานี ในนามพรรคพลังประชาชน ปี 2550
ต่อมาย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งปี 2554 พรพิมลได้ลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ใน จ.ปทุมธานี เขตเลือกตั้งที่ 4 อีกสมัย

สุรชัย สมบัติเจริญ ศิลปินลูกทุ่งชื่อดัง ปี 2550 สุรชัย สมบัติเจริญ ลงสมัครรับเลือกตั้ง
ในนามพรรคมัชฌิมาธิปไตย ในเขต 9 กทม. แต่สอบตก ล่าสุดกลับมาอีกครั้งในฐานะโฆษกพรรค
พลังไทสร้างชาติ

สดใส รุ่งโพธิ์ทอง ปี 2549 ลงสมัครเป็น ส.ว.ที่ จ.ปทุมธานี และได้รับเลือกตั้งแต่พ้นจากการถูกรัฐประหาร ปี 2550 ลงเลือกตั้งอีกครั้งที่ จ.ปทุมธานี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และสอบตก จากนั้นปี 2554 ลงเลือกตั้งอีกครั้งสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนาและสอบตกเช่นเดิม ปัจจุบันสมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติพัฒนา

นาถยา แดงบุหงา ลงสู่สนามการเมืองปี 2548 สมัครเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ เขตสะพานสูง แต่ก็ต้องสอบตกในสนามแรก ปี พ.ศ.2550 ลงรับเลือกตั้งสังกัดพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง ในเขตเลือกตั้งที่ 7 บางกะปิ สะพานสูง มีนบุรี ลาดกระบัง จนได้รับเลือกตั้งสมัยแรก ปี 2554 ได้ลงสมัคร ส.ส.กทม.เขต 21 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์อีกหนึ่งสมัย

รณ ฤทธิชัย หรือ รณฤทธิชัย คานเขต ปี 2538 ลงสมัคร ส.ส.ยโสธร พรรคชาติไทย ได้เป็น ส.ส. ต่อมาย้ายเข้าร่วมงานกับพรรคความหวังใหม่ และพรรคไทยรักไทย ในสังกัดกลุ่มริมน้ำ ก่อนที่จะย้ายมาอยู่กับพรรคเพื่อแผ่นดิน และร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคภูมิใจไทย ปี 2553

ปัจจุบันสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image