โหมกระแส ‘ฟรีแอนด์แฟร์’ เลือกตั้งต้องเสรีและเป็นธรรม

แม้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังไม่พูด เซย์เยส

เช่นเดียวกับ พรรคพลังประชารัฐ แม้ใครต่อใครในพรรคจะออกมาปฏิเสธความเป็นพรรคทหารกันอย่างไร

แต่ชาวบ้านเขารู้ เขาลือกันไปทั่วแล้ว

โดยเฉพาะกับเบอร์ 1 ของพรรคพลังประชารัฐว่า เมื่อเวลามาถึง จะมีใครเข้ามามีบทบาทนำสูงสุดภายในพรรค

Advertisement

แต่ทว่า ภายหลังคำสั่ง คสช.ที่ 22/2661 ปลดล็อกออกมาต้องถือว่า มีความคืบหน้าขึ้นไปอีกนิด

ระหว่างพบปะพี่น้องชาวบึงกาฬก่อนการประชุม ครม.สัญจรจะเริ่มต้นขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ พูดอีกครั้งว่า เป็นนักการเมือง

Advertisement

เป็นการพูดในวันรุ่นขึ้นหลังจากคำสั่งที่ 22/2561 มีผลด้วย

“ผมมาวันนี้ เป็นนักการเมืองเต็มตัวแล้ว ตอนนี้บอกว่า ไม่ใช่ก็ไม่ได้ เพราะผมบริหารประเทศ ถ้าเป็นนักการเมืองจะดีใจ เพราะมีคนมารับเยอะ เรียกลุงตู่ ลุงตู่ รู้ไหมว่า ผมเป็นทุกข์ แต่ผมยอม”

จากที่ “สนใจการเมือง” สู่การยอมรับเป็น “นักการเมือง” หนนี้ ถือได้ว่า เป็นไปตามสเต็ป

และที่สำคัญยังเป็นไปตามปฏิทินเดินหน้าสู่การเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกด้วย

เพราะหาก พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง ประกาศออกมาในวันที่ 2 มกราคม 2562 กกต.จะประกาศกำหนดให้ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นวันเลือกตั้ง

ก็คาดหมายกันได้เลยว่า ฤกษ์อย่างช้าที่สุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะใช้เป็นวันเปิดตัวรับเป็นเบอร์ 1 บัญชีรายชื่อนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ จะอยู่ระหว่างวันที่ 14-18 มกราคม 2562

เพราะเป็นช่วงวันเวลาที่แต่ละพรรค การเมืองจะต้องหิ้วเอกสารไปลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการ

และด้วยข้อกำหนดตามมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ระบุว่า เจ้าตัวต้องเซ็นชื่อรับรองยินยอมด้วย

นั่นก็เท่ากับว่า รายชื่อจะต้องถูกเปิดเผยสู่สาธารณชน รวมทั้งเบอร์ 1 ของพรรคพลังประชารัฐที่สังคมจับตามองด้วย

เช่นเดียวกับ อีก 4 รัฐมนตรีที่เปิดตัวลงสนามไปก่อนหน้านี้ที่เคยมีข่าวว่า จะลาออกในวันปลดล็อกต่างก็ออกมายันยืนว่า จะทำหน้าที่ในตำแหน่งต่อ

“ลาออกแน่เมื่อถึงเวลา เพราะต้องการลงมาทำงานการเมืองเต็มตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ยังมีงานที่ต้องทำอยู่ เวลานี้คล้ายกับการอยู่ในสนามรบ จึงต้องเคลียร์งานให้แล้วเสร็จก่อน” นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ 1 ใน 4 รมต.พลังประชารัฐ ระบุ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เหตุผลลึกๆ ที่ 4 รัฐมนตรีต้องอยู่ต่อไป

ก็เพราะเกรงว่า หากลาออกแล้ว จะกระทบชิ่งไปหาตัว พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็น “หอก” ที่อาจจะพุ่งเข้าใส่กระทั่งส่งผลลบต่อความนิยมของพลังประชารัฐไปด้วย

จึงต้องอยู่ต่อเพื่อช่วยกันเร่งเดินหน้าสานงานของรัฐบาล ทั้งงานด้านเศรษฐกิจ การเมือง รวมไปถึงกฎหมายต่างๆ ที่อาจจะเป็นประโยชน์ แปรเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงสำหรับ “การสืบทอดอำนาจ” ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อน

นี่จึงเป็นที่มาที่รัฐบาล คสช.ต้องเผชิญกับคำวิจารณ์อย่างหนัก

เริ่มต้นจากการจัดโปรโมชั่น “ลด แลก แจก แถม” ต่างๆ

มีการเพิ่มวงเงินในบัตรคนจน 14.5 ล้านใบขึ้นมาอีกคนละ 500 บาท เป็นการชั่วคราว มีการเพิ่มวงเงินสงเคราะห์คนชรารายละ 1,700 บาท ตามมาด้วยการอนุมัติวงเงินมหาศาล 120,000 ล้านบาท อุ้มสินค้าเกษตรที่มีราคาตกต่ำ โดยเน้นไปที่พืชผล 3 ประเภทหลัก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด

รวมไปถึงมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” โดยการส่งเสริมให้ซื้อหายางรถยนต์ หนังสือ และสินค้าโอท็อปที่นำไปหักภาษีได้เป็นมูลค่า 15,000 บาท ขยายจนไปถึงการจับจ่ายทุกประเภทวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท/รายที่จะได้รับภาษีกลับคืนในอัตราร้อยละ 5 ด้วย

ขณะที่ งานทางด้านการเมือง และกฎหมายก็ไม่น้อยหน้า

ทั้งๆ ที่การแบ่งเขตเลือกตั้งถือเป็นอำนาจของ กกต.โดยแท้ แต่ก็ยังแทรกกลางเข้ามามีส่วนด้วยการออกเป็นคำสั่งที่ 16/2561 ช่วยอีกแรง กระทั่งมีรูปแบบที่ 4 ที่ต่างจาก 3 รูปแบบที่ผ่านการฟังความเห็นจากประชาชนโผล่ขึ้นมา

เห็นชัดๆ ที่ จ.สุโขทัย ฐานที่มั่นของแกนนำพลังประชารัฐคนสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้ คสช.จะปลดล็อกคำสั่งอันเป็นอุปสรรคสำหรับการเลือกตั้งให้แล้ว แต่ก็เป็นการ “ปลดล็อกที่ไม่ล็อก” อย่างที่ใครต่อใครออกมาตั้งข้อสังเกต

เพราะคำสั่งอื่นๆ ที่มีผลทำให้การเลือกตั้งไม่เสรีและเป็นธรรมยังมีอยู่

โดยเฉพาะ คำสั่งที่ 3/2558 ที่แม้จะมีการยกเลิกการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไปแล้ว แต่ข้ออื่นๆ ยังคงอยู่ อย่างที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ ระบุ

“ประชาชน หรือหัวคะแนนคนใดไม่เข้าตา อาจโดนอำนาจเรียกรายงานตัว จับกุม ตรวจค้น ยึด อายัดทรัพย์สินได้ รวมถึงสื่อมวลชนก็ยังห้ามเสนอข่าวที่ทำให้ตีความว่ากระทบความมั่นคงของชาติ ถ้อยคำภาษากฎหมายที่กว้างเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่คนถือกฎหมายตีความเป็นผลร้ายยังอยู่เหมือนเดิม”

และที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.ยังมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ บังคับใช้ ม.44 ออกเป็นคำสั่งใหม่ได้ตลอด จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาอย่างเป็นทางการ

ดังนั้น ในเมื่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ บอกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ Design มาเพื่อพวกเรา” แล้ว บิ๊กๆ รัฐบาล จะปฏิเสธว่าไม่ได้เปรียบในเกมนี้เลยอย่างไร ก็คงเป็นเรื่องยากที่สังคมจะเชื่อ

จึงไม่แปลกที่ฟากพรรคที่ไม่เอา คสช.จะหยิบเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด เดินหน้าไปสู่การ “ฟ้องประชาชน” อย่างต่อเนื่อง

“วันนี้ประชาชนต้องรับทราบว่า การเลือกตั้งคราวนี้มีโอกาสที่จะโกงมากที่สุดในประวัติกาล โกงตั้งแต่สิทธิเสรีภาพประชาชน ใช้อำนาจและงบประมาณรัฐไปสนับสนุนพรรคหนึ่ง กว่าจะปลดล็อกให้ก็ก่อนการเลือกตั้งเพียงแค่ 70 วันเท่านั้น ถือเป็นเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ จะปล่อยให้ประชาชนแพ้ไม่ได้ ถ้าฝ่าย คสช.ชนะ ประเทศต้องอยู่กับระบอบ คสช.ไปอย่างน้อย 4-20 ปี” นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าอนาคตใหม่ ระบุ

ขณะที่ พรรคเพื่อไทยตั้ง “วอร์รูม” ชั้น 5 เป็นศูนย์บัญชาการเพื่อติดตามกลโกงการเลือกตั้ง มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นผู้อำนวยการ

นอกจากใช้ปาก ร.ต.อ.เฉลิม เป็นยุทธศาสตร์สำคัญแล้ว ยังแบ่งหน้าที่กันชัด มีสายบังคับบัญชาถึง 3 ชั้น

ระดับนโยบายที่มีผู้อาวุโสในการประเมินสถานการณ์ ระดับอำนวยการ สำหรับติดตามหาข่าว ร้องทุกข์ อำนวยความสะดวกและติดตามผลคดีทางกฎหมาย และระดับพื้นที่ มีเครือข่าย “ตาสัปปะรด-หูทิพย์” ซึ่งเป็นพี่น้องประชาชนช่วยชี้เป้าหมาย

โดยเฉพาะพฤติกรรมในการใช้กลไกของรัฐเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน นั่นเอง

“เสธ.แมว” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) 1 ในทีมวอร์รูมฯ มั่นใจว่า ถ้าป้องกันได้จะส่งผลบวกต่อพรรคการเมืองซีกประชาธิปไตยทั้งหมดในการระงับยับยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช.ได้

ไม่เพียงเฉพาะพรรคการเมืองเท่านั้น สถาบันการศึกษา กลุ่มนักกิจกรรม หรือนักสันติวิถี ต่างออกมาสร้าง “เครือข่ายกลาง” ในการเฝ้าระวังสังเกตการเลือกตั้งหนที่จะถึงนี้กันอย่างแข็งขัน

แน่นอน มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย หรือพีเน็ต เริ่มแล้วด้วยการทักท้วง กกต.ในเรื่องบัตรเลือกตั้งไร้โลโก้และชื่อพรรค

หรือล่าสุด คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เตรียมเปิดตัวเครือข่าย “We Watch” ว่าด้วยการสังเกตการเลือกตั้งโดยเฉพาะ

เช่นเดียวกับ กลุ่ม FFFE หรือเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง คนอยากเลือกตั้ง ไอลอว์ สหพันธ์นักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ตัวแทนเครือข่ายแรงงาน และสมัชชาคนจน ที่ได้เดินหน้าเรียกร้องการเลือกตั้งต้องเสรีเป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง

เพราะกว่า คสช.จะยอมให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกได้ ภายในระยะเวลายาวนานถึงเกือบ 8 ปีนับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายในปี 2554 สำหรับ กลุ่ม FFFE ถือเป็นเดิมพันครั้งใหญ่

เป็นการเดิมพันว่า จะสามารถนำพาประเทศกลับสู่สภาวะปกติตามระบอบประชาธิปไตยได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image