สถานีคิดเลขที่12 : สัญญาณ‘รั่ว’ : โดย จำลอง ดอกปิก

เรื่องเอารัดเอาเปรียบแบบไม่ผิดกฎหมาย ไปจนถึงระดับขั้นรุนแรง โกงได้เป็นโกง สังคมรังเกียจ แต่ในหมู่นักการเมือง พรรคการเมืองเขาถือว่าธรรมดา

ไม่ว่าผ่านเลือกตั้งโชกโชน หรือป้ายแดง มือใหม่หัดขับ เหมือนกัน

ต่างพยายามทุกวิถีทาง เพื่อให้ชนะ

เลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 62 เดิมพันสูง แพ้ไม่ได้

Advertisement

กติกาถูกออกแบบมาให้ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ สังคมรู้ดี และยิ่งรัฐธรรมนูญดีไซน์ ทุกคะแนนไม่ตกน้ำ แต่นำมาคำนวณเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก็ยิ่งทำให้อุณหภูมิการแข่งขันพุ่งสูง อาจเรียกได้ว่าอย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนก็ว่าได้

เนื่องจากคิดแบบเดิมที่ว่า ชนะ 1 คะแนนก็ถือว่าชนะแล้วไม่ได้

ต้องคิดใหม่ ชนะก็ต้องทำคะแนนให้สูงที่สุด ทิ้งห่างมากที่สุด อย่างน้อยพรรคใหญ่ได้ ส.ส.เขตจำนวนมาก อาจไม่ได้อานิสงส์จากแต้มสูง แต่ก็เท่ากับเป็นการกัน ไม่ให้คะแนนถูกแบ่งให้กับคู่แข่งในลำดับถัดไป ที่คะแนนนี้อาจมีความหมาย รวบรวมไปทอนเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้

Advertisement

ขณะที่ในส่วนผู้แพ้ แม้พ่ายไม่ได้เป็น ส.ส.เขต แต่เป็นไฟต์บังคับ ให้แพ้แบบให้ได้คะแนนมากที่สุดเช่นกัน

กติกามีส่วนหนุนส่ง ให้มีการแข่งขันสูง

และเมื่อสู้เดือด ชิงทุกคะแนน คนที่สู้ไม่ได้ ต้องอาศัยตัวช่วย เครื่องทุ่นแรง

ภาพใหญ่กติกาเอื้อพรรครัฐ มี 250 ส.ว.ลากตั้งเป็นนั่งร้าน

ภาพย่อย ส่วนขยาย มีการใช้ ม.44 คุ้มครองแบ่งเขตเลือกตั้ง

มีเขตเลือกตั้งที่ขีด/ผ่าใหม่จำนวนไม่น้อย ตรงตามนักการเมืองขั้วอำนาจนำพิมพ์เขียวออกโชว์ขู่คู่แข่ง บีบย้ายพรรค เส้นแบ่งเขตใหม่คดเคี้ยว ถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมืองกดดัน-ทำลายฐานเสียงคู่แข่ง

ในพื้นที่วันนี้ มีอะไรต่อมิอะไรให้พูดถึงมากมาย ที่ล้วนแล้วแต่เป็นภาพสะท้อนของความไม่ฟรี-แฟร์

แต่เรื่องต่างๆ ที่ยกตัวอย่าง ก็เสมอเป็นเพียง เรื่องของผู้เล่น-นักการเมือง บนความได้เปรียบ-เสียเปรียบ ยุคใคร-ยุคมัน

ไม่เหมือนเรื่องบัตรเลือกตั้ง

ที่ออกแบบโดย กกต. กรรมการการเลือกตั้ง องค์กรอิสระ ที่มีอำนาจหน้าที่ จัดเลือกตั้งและให้เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม

การโยนหิน พิมพ์บัตรเลือกตั้ง แบบไม่มีชื่อพรรค-โลโก้/สัญลักษณ์พรรค

น่าเคลือบแคลงสงสัยในเจตนาแฝงเป็นที่ยิ่ง

ไม่ต้องอื่นไกลเลย เอาแค่ข้อเดียว ตอบได้ไหม

กกต.รู้อยู่แล้วว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ มีบัตรใบเดียว เลือกทั้ง ส.ส.เขต และเลือกพรรคการเมือง โดยนำคะแนนไปรวมคำนวณเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

เลือก ส.ส.เขตนั้นชัดเจน มีหมายเลขผู้สมัครอยู่ในบัตร

แต่เลือกพรรคนี่สิ เมื่อไม่มีชื่อ/สัญลักษณ์ แล้วอะไรคือสิ่งบ่งชี้ถึงความเป็นพรรค ในบัตรเลือกตั้ง ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้เบอร์ผู้สมัคร

เพราะบัตรเดียว เลือกทั้งคนและพรรค

ถ้าคิดว่า ประชาชนต้องจำเอาเอง ไม่จำเป็นต้องอำนวยความสะดวก ไม่ทำอะไร เพื่อให้ผลการเลือกตั้งสะท้อนความต้องการประชาชนอย่างแท้จริงให้มากที่สุด ถ้าเช่นนั้น กกต.ทำบัตรเลือกตั้งเปล่าก็ได้อย่างนั้นหรือ ไม่ต้องมีเบอร์ ไม่ต้องมีอะไรทั้งสิ้นก็ได้ ให้จำแล้วเข้าไปเขียนเอง อย่างนั้นหรือ!?

เอาล่ะจะโดยจำนนด้วยเหตุผล หรือยังไม่ได้ตัดสินใจเป็นที่ยุติจริงๆ อะไรก็แล้วแต่

การที่ กกต.รับทบทวน นำความเห็นของฝ่ายต่างๆ มาประกอบการพิจารณาตัดสินใจว่า จะเลือกแบบที่โยนหิน หรือบัตรเลือกตั้ง ที่มีข้อมูลครบ ทั้งเบอร์ ชื่อ โลโก้พรรค หาทางออกที่ดีที่สุดเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย นับว่าดี

แต่ยังมีเรื่องติดค้าง-ติดใจ

ไม่ติดใจ ผู้เล่น ต้นสังกัด รัฐ

เพราะเรื่องคิดเอาชนะทุกวิถีทาง ไม่คำนึงถึงวิธีการ ความชอบธรรม ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่มีมาทุกยุคทุกสมัย

แต่เป็น กกต.ในฐานะกรรมการคุมกฎ กติกาแข่งขัน ต่างหาก

เพราะแค่สตาร์ตออกตัว ก็คล้ายดำรงความอิสระ อยู่ในแถวอย่างเป็นระเบียบ อย่างเป็นขบวนการ

เห็นลิ้นไก่-ไอเดียบัตรเลือกตั้งแล้ว ประหลาดใจ ในความเที่ยงธรรม

เลือกตั้งทั่วไป 24 กุมภาฯ จะคุมได้เอาอยู่ หรือหลอนยิ่งกว่าปี 2500

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image