‘อภิสิทธิ์’ ยันนโยบาย ‘เด็กเข้มแข็ง’ ไม่ได้คิดเล่นๆ มีข้อมูลวิชาการ-องค์กรระหว่างประเทศสนับสนุน

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 16 ธันวาคม ที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนโยบาย “เด็กเข้มแข็ง”ด้านการศึกษาของพรรคที่ถูกวิจารณ์ว่า มีการให้เงินเด็กแรกเกิดคนละ 5 พันบาทในเดือนแรก นอกจากนั้นจะได้รับเดือนละ 1 พันบาทจนเด็กอายุครบ 8 ปีว่า การให้เงินดังกล่าวยังเป็นจำนวนที่น้อยกว่าข้อมูลจากฝ่ายวิชาการและองค์กรระหว่างประเทศสนับสนุน อย่างไรก็ตาม การลงทุนเรื่องดังกล่าวจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับประเทศ เพราะนี่คือฐานรากที่สำคัญที่สุดสำหรับอนาคตของประเทศไทย

“เราไม่ได้คิดนโยบายขึ้นมาเล่นๆ เพราะการทำนโยบายเรื่องนี้ผ่านการปรึกษากับสถาบันวิจัยที่ไม่ใช่คนของพรรค และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านการพัฒนา ได้พยายามนำเสนอมาหลายครั้ง ขณะที่เรื่องของงบประมาณสำหรับนโยบายนี้พรรค ปชป.จะต้องมีคำอธิบายว่าจะสามารถหางบประมาณมาจากที่ไหน ซึ่งตอนนี้เราเตรียมตัวเลขดังกล่าวไว้หมดแล้ว” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เงินดังกล่าวอาจไม่ถูกผู้ปกครองของเด็กนำไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ได้ใช้เป็นค่าอาหารสำหรับเด็กแรกเกิด นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เราคงไม่สามารถไปควบคุมได้ทั้งหมด แต่ถามว่าอย่างนั้นแล้วทำไมตอนรัฐบาลชุดปัจจุบันทำนโยบายให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ตนก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร ยืนยันว่า นโยบายนี้ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ไม่มีเรื่องที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์และความพอใจ หรือจังหวะการหาเสียงแต่นี่เป็นนโยบายที่ผ่านการศึกษามาโดยสถาบันวิจัยและคนที่ทำงานด้านการพัฒนาในประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สำคัญ และที่จริงแล้วตัวเลขจำนวนเงินในนโยบายนี้ บางคนยังติงว่าน้อยเกินไป เพราะเฉลี่ยเป็นค่าอาหารแค่วันละ 30 บาท

เมื่อถามว่า แสดงว่าพรรค ปชป.ต้องการนำเสนอนโยบายสังคมสวัสดิการใช่หรือไม่ หัวหน้า ปชป.กล่าวว่า สังคมสวัสดิการเป็นแนวทางที่เราผลักดันอยู่แล้ว สิ่งที่พรรค ปชป.ต้องการยืนยันคือ คนไทยทุกคนต้องมีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา เรื่องรายได้ และเรื่องคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชนในด้านต่างๆ เราต้องการให้คนไทยมีความมั่นใจในหลักประกันตรงนี้ ไม่มีเรื่องแนวทางแบบประชานิยมอย่างแน่นอน เพราะประชานิยมต้องเป็นนโยบายที่ไม่มีเหตุมีผลให้รัฐต้องมายุ่งเกี่ยว ขอยกตัวอย่าง เช่น นโยบายรถคันแรก เป็นเรื่องที่หาคำตอบในทางวิชาการไม่ได้เลยว่าทำไมต้องเอาเงินภาษีไปสนับสนุนคนที่จะซื้อรถคันแรก อีกทั้งนโยบายที่เป็นประชานิยมไม่มีความยั่งยืน แต่นโยบายที่เราทำมีความเป็นระบบ และต้องมีคำตอบในเรื่องตัวเลขงบประมาณ ขณะเดียวกันนี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ทำนองเดียวกับเรื่องของผู้สูงอายุและกลุ่มอื่นๆ ในสังคม ที่ต้องได้รับสิทธิ์ในสังคม เราจึงบอกว่าต้องเป็นการได้รับถ้วนหน้า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image